ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > มอเตอร์ไซค์แปลงโฉม
มอเตอร์ไซค์แปลงโฉม
ที่มา - ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 ก.ย.48

ขณะที่แนวคิดของ นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะสร้างถนนให้กับบรรดาสิงห์นักซิ่งไว้บิดประลองความเร็วเริ่มจะเป็นรูปเป็นร่าง โดยมีนักธุรกิจออกมาขานรับว่าจะเป็นผู้ลงทุนสร้างสนามให้กับบรรดานักซิ่งเอง...แต่ทั้งนี้สำหรับโครงการนี้ยังคงต้องรอ

แต่กับธุรกิจนี้ Frog Fairing การแปลงโฉมมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องรอ! หากสนใจสามารถเริ่มได้ทันที และสามารถขับขี่วิ่งไปได้ตามท้องถนนได้ด้วย โดยอาจจะถูกมองหรือถูกเพ่งเล็งบ้างเล็กน้อย ในสายตาที่บ่งบอกความรู้สึกที่แตกต่างกันไป แต่ทว่าที่แน่นอนก็คือ ไม่ผิดกฎหมายและไม่รบกวนใคร

พิศิษฎ์ ลีละพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนยนต์ จำกัด บอกว่า Frog Fairing เป็นแบรนด์ที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับธุรกิจใหม่ นั่นคือ การทำลวดลายชิ้นส่วนในส่วนเปลือกหุ้มรถมอเตอร์ไซค์ ให้เป็นลวดลายต่างๆ โดยการดีไซน์ การออกแบบลวดลาย และใส่เข้าไปในขบวนการผลิตแบบแมส ซึ่งเวลานี้ พฤติกรรมชอบการตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์มีสูงมาก

"สินค้าของเราจึงพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ ที่ชอบการตกแต่ง ชอบสีสัน ที่เป็นการออกแบบลวดลายแบบเฉพาะกลุ่ม แต่ใช้เม็ดเงินในการตกแต่งไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับงานแอร์บรัช และการเพนต์แฮนด์เมด" พิศิษฎ์บอกว่า จากการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่าเด็กวัยรุ่นอายุ 15-20 ปี จะชอบการตกแต่งรถ เปลี่ยนสีเปลี่ยนลายในส่วนเปลือกนอก อาทิ หน้ากาก บังโคลน บังลมตัวหน้า ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับนักบิด

"ถ้าเป็นกลุ่มนักบิด จะชอบตกแต่งเครื่องยนต์ให้มันแรง เปลี่ยนท่อให้มีเสียงดังๆ แต่ถ้าชอบตกแต่งตัวบอดี้ พวกนี้เป็นประเภทชอบขี่โชว์ รวมกลุ่มกันไป ขี่โชว์เป็นก๊วนเป็นแก๊ง ซึ่งลักษณะนี้จะไม่ผิดกฎหมายและไม่ได้สร้างความเดือนร้อนให้ใคร"

ซึ่งที่มาของสินค้าตัวนี้ พิศิษฎ์เล่าว่า ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรเลย ตัวจุดประกายมาจากพฤติกรรมการตกแต่งรถของผู้บริโภค ที่ในระยะหลังมีการตกแต่งส่วนเปลือกมากพอสมควร เป็นรูปการ์ตูนโดเรมอนบ้าง ภาพโฆษณาสินค้าบ้าง แต่งานแบบนั้นต้นทุนมันสูง เพราะต้องใช้ฝีมือของศิลปินในการวาด การเพนต์ ต่อชุดใช้เงินประมาณ 4,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของลวดลาย เรียกงานแบบนั้นว่า เพนต์แบบแอร์บรัช ใช้ฝีมือแต่ช้า เราก็ไปพบเทคนิคอีกตัวที่เรียกว่า cubic print หรือการพรินต์แบบ 3 มิติ ซึ่งอาจจะไม่สามารถสร้างลายแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ แต่ก็มีความโดดเด่นได้ไม่แพ้กัน และที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายลดลงครึ่งต่อครึ่ง

"พอไปศึกษาเข้าจริงๆ เราพบว่ามันมีกรรมวิธีชนิดหนึ่งในขบวนการผลิตรถยนต์ ที่ผลิตคอนโซลไม้ หรือพวงมาลัยไม้ เราก็เลยเข้าไปศึกษาต่อในโรงงาน และก็พบว่าในโรงงานนั้นมีลวดลายเยอะมาก เป็นร้อยๆ ลาย เราก็เลยมองว่า ถ้าจะเอาตรงนี้มาใช้กับรถ มอเตอร์ไซค์ที่เป็นส่วนภายนอก เน้นในเรื่องของลวดลาย และสี และทำให้ทนแดดทนฝนได้ดีในระดับหนึ่ง มันก็จะสามารถที่จะมาใช้ในงานเอาต์ดอร์ได้" สุดท้ายจึงใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ก็ได้งานออกมา เป็นชิ้นส่วนของตัวรถส่วนเปลือก ประมาณ 6-8 ชิ้นต่อคัน และหมวกกันน็อก และเมื่อทดลองตลาดดู ปรากฏว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

"ช่วงแรกเรายังไม่ได้มาประกอบ ทำแยกชิ้นงานออกมา และก็ลองไปสอบถาม นักเรียน วินมอเตอร์ไซค์ ร้านค้า ปรากฏว่าเขามีความสนใจกันเยอะ ที่สำคัญในเรื่องราคาที่ทำออกมาแล้วนั้นไม่แพงมาก ตกชุดหนึ่งประมาณ 2,800-3,800 บาท ขึ้นอยู่กับตัวบอดี้ของรถว่ารถรุ่นไหนมีพื้นที่ตัวเปลือกมากกว่า สมมติถ้าเป็นรุ่นนีโอ ก็ประมาณ 2.8 พันบาท" และถ้าอยากทำเป็นลายเฉพาะไม่ชอบลายที่ออกแบบมาเป็นแมส ก็สามารถทำได้อีก แต่ต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์เป็นอย่างน้อย

พิศิษฎ์บอกว่า โอกาสของธุรกิจนี้ มองว่าไม่ใช่แฟชั่นที่หวือเป็นพักๆ แต่การทำตลาดช่วงแรกจะเน้นในตลาดกรุงเทพฯก่อน จากนั้นค่อยขยายไปต่างจังหวัด และเลือกช่องทางขายตรง เพราะมองว่าเป็นช่องทางที่สามารถเจาะเข้าไปถึงกลุ่มรักการตกแต่งรถได้ตรงมากกว่า ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ไปด้วยในตัว

เงื่อนไขการเข้ามาเป็นสมาชิกไม่ยาก เพียงลงทุนนำรถมาติด Frog Fairing ตามลวดลายที่ชอบ ในราคาสมาชิก จากนั้นก็ใช้รถตัวเองเป็นพรีเซ็นเตอร์ ถ้าใครสนใจก็มาสั่งผ่านได้ทันที โดยมีส่วนต่างรายได้ที่ได้รับประมาณ 20%

เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่นำงานออกแบบในเชิงอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในช่องทางตลาดกึ่งแมส กึ่งนิชมาร์เก็ต ในกลุ่มสินค้ารถมอเตอร์ไซค์ ...เพื่อคนรักรถ