ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > ยอดขายมอเตอร์ไซด์วูบบ่งชี้กำลังซื้อลดต่ำ
ยอดขายมอเตอร์ไซด์วูบบ่งชี้กำลังซื้อลดต่ำ
ที่มา - ผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 เม.ย.50

ผู้จัดการรายวัน-ยอดขายรถจักรยานยต์ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ล่าสุดเฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนคันจากปี 2549 ที่มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 2 แสนคัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์รวมรอลุ้นไตรมาส 2 หากตัวเลขลดลงจะย้ำชัดปัญหาแรงซื้อคนไทยวิกฤติ ลุ้นคลังลดภาษีสรรพสามิตอีโคคาร์ 12 เม.ย.นี้ เอกชนจับตาไม่กะพริบย้ำหากไม่ลดหรือลดน้อยมากโอกาสเกิดริบหรี่

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ยอดขายรถจักรยานยนต์โดยรวมของประเทศได้มีการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 นับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนก.พ.นี้ โดยในช่วงปี 2549 มียอดขายเฉลี่ย 2 แสนคันต่อเดือน ล่าสุดขณะนี้เหลือยอดขายเฉลี่ย 1.5 แสนคันต่อเดือนเท่านั้นซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงแรงซื้อระดับรากแก้วลดต่ำลงมาก

“แรงซื้อรถจักรยานยนต์ของคนไทยลดต่ำลงนับตั้งแต่กลางปีที่แล้วเรื่อยมา ถือเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เพราะคนที่ซื้อรถจักรยานยนต์ถือเป็นระดับรากแก้วที่จะบอกถึงภาวะเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากเทียบวิกฤติปี 2540 ยอดรถจักรยานยนต์ก็ลดต่ำลงตั้งแต่ปลายปี 2538 แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นดังนั้นคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้สถิติยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปี 2547 มียอดขายรวมทั้งสิ้น2,026,841 คัน ปี 2548 มียอดขาย 2,112,426 คัน ปี 2549 มียอดขาย 2,054,588 คัน และล่าสุด 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดขาย 300,063 คัน สำหรับยอดขายรถยนต์ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2550 ลดลงไปเฉลี่ย 20% หรือลดไปประมาณ 2-3 หมื่นคันคงยังไม่สามารถระบุได้ว่าแรงซื้อของคนในกลุ่มนี้ลดต่ำลงด้วยหรือไม่เนื่องจากในช่วงเดือนธ.ค. 2549 ได้มีการโปรโมชั่นเพื่อทำยอดขายในการดันส่วนแบ่งการตลาดซึ่งทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมากถึง 3 หมื่นคันจึงอาจมองได้ว่ายอดขายในปลายปีที่แล้วมาดึงยอดขายที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ได้ หลังจากมีงานมอเตอร์โชว์ไปเมื่อเร็วๆ นี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.นี้ดังนั้นจึงคาดว่าไตรมาสแรกยอดขายภาพรวมยังถือเป็นปกติ

อย่างไรก็ตามหากยอดขายในช่วงไตรมาส 2 ลดลงอีกก็คงจะสามารถสรุปได้ว่าแรงซื้อในประเทศเริ่มมีปัญหาแน่นอน ซึ่งจากยอดจำหน่ายในประเทศที่ลดลงได้ส่งผลให้การจำหน่ายไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ล่าสุดไทยมีการส่งออกรถยนต์คิดเป็น 55% และขายในประเทศ 45%

แหล่งข่าวกล่าวถึงโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากลหรืออีโคคาร์ว่า ทางกระทรวงการคลังจะมีการหารือเพื่อสรุปเรื่องนี้ในวันที่ 12 เมษายนซึ่งเอกชนส่วนใหญ่กำลังเฝ้าติดตามอยู่เพื่อที่จะได้นำไปสู่การวางแผนของบริษัทต่อไป หากกรมสรรพสามิตไม่มีการลดภาษีให้กับรถอีโคคาร์โอกาสที่จะเกิดการลงทุนคงจะไม่มีแน่นอน

“ ถ้าไม่ลดภาษีเลยหรือลดให้เล็กน้อยเหลือถึง 10-15% จากเดิมที่เก็บ 30% โอกาสก็จะเกิดยากมากเพราะเอกชนคงไม่สนใจเพราะเท่ากับไม่มีแรงจูงใจใดๆ ซึ่งลำพังในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอปกติถ้าลงทุนก็สามารถขอได้อยู่แล้วไม่ได้มีอะพิเศษ”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามผลักดันแนวทางการผลิตอีโคคาร์เพื่อที่จะให้เกิดการลงทุนใหม่ในระดับ 1-2 แสนล้านบาทในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าต่อเนื่อง ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตทางคลังจะเป็นผู้ประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการชี้แจงรายละเอียดไปแล้ว โดยยอมรับว่าปัญหาเฉพาะหน้าของคลัง คือ การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าจึงทำให้คาดเดาได้ยากว่าคลังจะยอมลดภาษีสรรพสามิตหรือไม่ ซึ่งหากไม่ลดคงจะต้องมอบหมายให้สถาบันยานยนต์ไปปรับแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ทั้งหมด