ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > ซูซูกิอัด 2 พันล้านบุกตลาดสู้คู่แข่ง
ซูซูกิอัด 2 พันล้านบุกตลาดสู้คู่แข่ง
ที่มา - นสพ.ผู้จัดการรายวัน วันที่ 24 เม.ย.50

นายมาโนบุ ไซโต้ ประธานและซีอีโอ บริษัท ไทยซูซูกิ-มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิในประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของซูซูกิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการบริหารธุรกิจ และการพัฒนาสินค้าสู่ตลาด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับซูซูกิในประเทศไทย

"การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซูซูกิได้ใช้งบลงทุนรองรับมากถึง 1,400 ล้านบาทในปีนี้ โดยแบ่งเป็นส่วนของการขายและตลาดประมาณ 550 ล้านบาท ที่เหลือ 850 ล้านบาท ใช้ในการปรับไลน์ผลิต และขยายกำลังการผลิตของโรงงาน นอกจากนี้ยังจะมีการลงทุนเพิ่มอีก 550 ล้านบาท สำหรับตั้งศูนย์พัฒนาและวิจัย หรืออาร์แอนดี ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มปีนี้ ไปสิ้นสุดในปี 2551"

โดยรายละเอียดของการปรับธุรกิจซูซูกิดังกล่าว ที่ได้มีการประกาศและดำเนินการไปแล้ว คือ การสร้างความแข็งแกร่งของระบบจำหน่าย ซึ่งจากเดิมจะมีเพียงเอส.พี.ซูซูกิ และบ้านซูซูกิ เป็นดิสทริบิวเตอร์ดูแลการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิในไทยทั่วประเทศ แต่ล่าสุดไทยซูซูกิฯ ที่เดิมแค่ผลิตรถจักรยานยนต์ซูซูกิ จะเข้ามาเป็นผู้จำหน่ายอีกเพิ่มอีกราย ดูแลเครือข่าย 62 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น 14 จังหวัดในภาคใต้ ที่บ้านซูซูกิดูแลอยู่

นายไซโตกล่าวว่า การเข้ามาเป็นผู้จำหน่ายของไทยซูซูกิฯ เอง ไม่ถือว่าเป็นการเข้าไปกดดันหรือบีบเอส.พี.ซูซูกิ แต่จะเข้าไปเสริมให้แบรนด์ซูซูกิมีความเข้มแข็งในพื้นที่ที่ยังอ่อนอยู่ โดยเฉพาะภาคอีสานและเหนือที่เอส.พี.ซูซูกิไม่สามารถดูแลได้ดีนัก ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของซูซูกิลดลงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีมานี้

ทั้งนี้ป้าหมายของไทยซูซูกิฯ ภายในปีนี้จะเปิดเครือข่ายจำหน่ายให้ได้ 40 แห่ง และถึงสิ้นปี 2552 ตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 130-140 แห่ง ซึ่งผลจากการเปิดรับดีลเลอร์ของไทยซูซูกิฯ ปรากฏว่ามีผู้สนใจติดต่อเข้ามามากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เสียอีก โดยขณะนี้กำลังพิจารณาดูคุณสมบัติต่างๆ อยู่ คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป น่าจะทยอยประกาศแต่งตั้งดีลเลอร์ได้อย่างเป็นทางการ

นอกจากการปรับเปลี่ยนระบบการจำหน่ายแล้ว ล่าสุดไทยซูซูกิยังได้นำระบบเทคโนโลยีล้ำสมัย มาเสริมศักยภาพการบริหารจัดการทางการเงิน มาใช้เป็นครั้งแรกในวงการอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ด้วยการร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นำระบบ SCB ePP หรือ SCB Electronic Presentment and Payment เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางชำระค่ารถจักรยานยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือการทำธุรกิจทางการเงินต่างๆ ระหว่างไทยซูซูกิฯ และดีลเลอร์ของซูซูกิ

โดยประโยชน์ของระบบดังกล่าว จะช่วยให้ดีลเลอร์สามารถตรวจสอบใบแจ้งหนี้ค่าสินค้า และชำระเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีความสะดวกสบาย และความปลอดภัยสูง พร้อมใบยืนยันการชำระเงินผ่านระบบได้ทันที รวมทั้งสามารถกำหนดวันที่ในการชำระเงินล่วงหน้าได้ และในส่วนของไทยซูซูกิฯ ก็จะสามารถรับและตรวจสอบข้อมูลการชำระเงินจากดีลเลอร์ได้ทันทีเช่นกัน ด้วยระบบการรายงานข้อมูลทางการเงินของธนาคารแบบ Real Time

นายไซโตกล่าวอีกว่า จากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมา นับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและศักยภาพ ของระบบบริหารและการจัดการธุรกิจซูซูกิในไทย ขณะที่ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ซูซูกิก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นการได้จากการลงทุนศูนย์อาร์แอนด์ดี หรือการนำเสนอรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งจะมีการเปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่องภายในปีนี้

"ซูซูกิคาดหวังว่าเมื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจตามแผน 3 ปีจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเครือข่ายการจำหน่ายของไทยซูซูกิฯ เอง การนำระบบเทคโนโลยีล้ำสมัยทางการเงิน และการพัฒนาและนำเสนอรถจักรยานต์รุ่นใหม่ๆ สู่ตลาด เชื่อว่าจะผลักดันให้รถจักรยานยนต์ซูซูกิ มีส่วนแบ่งทางการตลาดหรือแชร์เพิ่มเป็น 20% จากปัจจุบันที่มีแชร์เพียง 9-10% เท่านั้น"

สำหรับเป้าหมายการขายของซูซูกิปีนี้ แม้ตลาดทั่วไปจะตกลงเป็นอย่างมาก เห็นได้จากไตรมาสแรกของปีนี้ตกลง 24% ตามสภาวะเศรษฐกิจและความผันผวนทางการเมือง ทำให้คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมตลอดทั้งปี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านคัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 1.9 ล้านคัน แต่การปรับเปลี่ยนธุรกิจในไทยของซูซูกิ ที่จะเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จึงเชื่อมั่นว่าจะผลักดันให้ซูซูกิมียอดขายปีนี้เติบโตสวนตลาด นั่นคือมียอดขาย 2 แสนคัน เติบโตจากปีที่แล้วที่ทำได้เพียง 1.5 แสนคัน