ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > มอเตอร์ไซค์ ขายุคใหม่ของคนไทย เสี่ยงอุบัติเหตุสูง
มอเตอร์ไซค์ ขายุคใหม่ของคนไทย เสี่ยงอุบัติเหตุสูง
ที่มา - นสพ.บ้านเมือง วันที่ 7 ก.ค.50

ยุคนี้ สมัยนี้ รถจักรยานยนต์มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารถชนิดอื่นๆ เพราะความสะดวกสบายในการใช้สัญจรไปมาในขณะรถติด แม้ทุกคนจะทราบดีอยู่แล้วว่าอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงสูงแต่ก็ไม่ได้ลดความนิยมในการใช้ของคนลงไปได้เลย โดยเฉพาะในชุมชน ชนบทต่างจังหวัด บ้านไหนไม่มีเรียกได้ว่าเชยแสนเชย ยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นรถจักรยานยนต์ เปรียบเสมือนตัวช่วยสำคัญในการเข้าหาเพศตรงข้ามและการประลองความเร็ว และอีกตัวแปรที่สำคัญในการสร้างกระแสความต้องการใช้รถจักรยานยนต์ของกลุ่มวัยรุ่นนั่นก็คือการโฆษณาที่มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดนำร่อง (สอจร.) โดยการสนับสนุนของ สสส. เปิดเผยถึงการเติบโตของรถจักรยานยนต์ กับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า รถจักรยานยนต์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นพาหนะยอดนิยมของคนไทย ในปี 2536 คนไทยถือครองรถจักรยานยนต์ ในอัตราส่วน 3.9 คนต่อ 1 คัน คิดเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไต้หวันที่มีอัตราการถือครองรถจักรยานยนต์อยู่ที่อัตราส่วน 2 คน ต่อ 1 คัน และในปี 2549 ประเทศไทยมีจำนวนรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 22 ล้านคัน และยังคงมีอัตราการเพิ่มอยู่ที่ 2.20 ล้านคันต่อปี หรือจำนวนประมาณ 1.85 แสนคันต่อเดือน

แสดงให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขายุคใหม่ ได้ถูกนำมาเป็นพาหนะของครอบครัวที่ใช้เดินทางไปตลาด ส่งลูกไปโรงเรียน เป็นเครื่องหมายความทันสมัยของกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมความเร็วความแรงที่ท้าทาย เป็นทรัพย์สินของหนุ่มสาวโรงงานที่ต้องมีเพื่อแสดงฐานะทางสังคมและความสำเร็จในชีวิตการงาน เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพในกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีผู้ประกอบอาชีพนี้มากถึงจำนวนแสนกว่าคน

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย กล่าวว่า จากการศึกษาทางวิชาการพบว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่มีอัตราความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ายานพาหนะประเภทอื่นๆ อยู่มาก โดยหากเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยรถไฟ รถจักรยานยนต์จะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าถึง 100 เท่า และสูงมากกว่ารถยนต์ถึง 17 เท่า แต่อย่างไรก็ตามรถจักรยานยนต์ก็ยังเป็นพาหนะหลักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ สภาพการจราจรที่ติดขัด และระบบรถโดยสารสาธารณะที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางของคนในสังคมได้อย่างพอเพียง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ดังจะเห็นได้จากสถิติผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรร้อยละ 70-80 เป็นผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 64 เป็นผู้ที่มีอายุอยู่ระหว่าง 10-29 ปี เป็นมูลเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยมากกว่าปีละ 10,000 คน

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย กล่าวอีกว่า ด้วยความซับซ้อนของปัญหาที่ซ่อนอยู่ และด้วยเหตุผลที่ซ้อนทับกันอย่างยุ่งเหยิง การระดมสมองบุคคลที่มีความหลากหลายในสาขาวิชา และวิชาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์แตกต่างกันได้มาช่วยกันมองหาทางออก และทางแก้ปัญหาด้วยกระบวนการร่วมคิดร่วมสร้างและกำหนดแนวทาง กลไกสำคัญในการลดปัญหาอุบัติเหตุจากการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ในสังคมแบบมีส่วนร่วม จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการที่สนใจในเรื่องอุบัติเหตุจราจร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่อง การส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ

การจัดเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอเพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันหลายประการ ทั้งในเรื่องกฎหมายที่ต้องพัฒนาให้ทันปัญหา ช่องทางรถจักรยานยนต์ที่เหมาะสม การพัฒนาถนนตามลักษณะเฉพาะ การพิจารณาเรื่องการตลาดเพื่อสังคมและการส่งเสริมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมทั้งข้อเสนอระบบขนส่งสาธารณะ