ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > เลนเพื่อปลอดภัยเท่าเทียม ทั่วโลกศึกษาสร้างเลนมอเตอร์ไซค์
เลนเพื่อปลอดภัยเท่าเทียม ทั่วโลกศึกษาสร้างเลนมอเตอร์ไซค์
ที่มา - นสพ.ไทยรัฐ และข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน วันที่ 28 มี.ค.54

รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลักของประชาชนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย โดยมีมากถึง 17 ล้านคัน แต่ประเทศไทยยังไม่มีช่องทางเฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์อย่างครบทั้งระบบ ทั้งๆที่เป็นคนใช้ถนนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้จำนวนการเสียชีวิตจากการใช้รถจักรยานยนต์ ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับต้นๆในโลกในต่างประเทศ เช่น อเมริกา การสอบสวนอุบัติเหตุ ระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ คือ 1) รถคันอื่นมองไม่เห็นรถจักรยานยนต์ 2) การเฉี่ยวชนดังกล่าว มากกว่า 1 ใน 3 เกิดขึ้นบริเวณทางแยก 3) ข้อบกพร่องและอุปสรรคการมองเห็นที่จำกัดของรถจักรยานยนต์ผู้ศึกษาเสนอว่า การจัดทำเลนเฉพาะจะมีความคุ้มค่าที่สุด

ในยุโรป เมื่อปี 2009 การศึกษาที่ทำขึ้นใน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสเปน พบว่า 1) เกินครึ่งหนึ่งของการเฉี่ยวชนกันในทางตรง ระหว่างรถจักรยานยนต์และยานพาหนะอื่น เกิดขึ้น เมื่อยานพาหนะทั้งคู่ต่างขับขี่ชิดเส้นแบ่งถนน 2) ร้อยละ 90 ที่รถจักรยานยนต์จะถูกชนท้าย และร้อยละ 60 เกิดจากรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถคันอื่น 3) เมื่อเกิดการเฉี่ยวชนกันหลายคัน มักจะมีสาเหตุมาจากรถจักรยานยนต์พยายามขับขี่แทรกรถคันอื่น แล้วเบรก และเสียหลักผลศึกษานี้ มีข้อแนะนำถึงการแบ่งเลนเฉพาะเช่นกัน

ขณะที่การศึกษาในประเทศอังกฤษพบผลเช่นเดียวกัน 1) เมื่อมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ตกจากรถมักถูกรถคันอื่นชนซ้ำ 2) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดในวันทำงาน และช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น 3) รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ ขนาดใหญ่เกิดอุบัติเหตุมากกว่า

และภายหลังการทดลองให้รถจักรยานยนต์วิ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกับเส้นทางพิเศษของรถประจำทาง โดยทดลองใช้ร่วมกับจักรยานและแท็กซี่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 ถึงมิถุนายน 2010 เป็นเวลา 18 เดือน ปรากฏว่า นอกจากลดการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังทำให้รถจักรยานยนต์ เดินทางไปถึงจุดหมายเร็วขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก ทำให้ประเทศอังกฤษ เตรียมประกาศใช้ช่องทางพิเศษที่จัดไว้เฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศในปี 2012 โดยเริ่มประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ เดือนตุลาคมปี 2010

สำหรับประเทศในแถบเอเชีย ประเทศมาเลเซีย ออกแบบช่องทางเฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ไว้อย่างน่าสนใจ คือ บางพื้นที่ที่มีจำนวนช่องจราจรไม่มาก ก็อาจจะเป็นการทำสี และเครื่องหมายสัญลักษณ์ เพื่อให้เห็นว่าเป็นช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ เท่านั้น บางพื้นที่ทำเครื่องกันแยก ป้องกันไม่ให้ พาหนะอื่นเข้ามาใช้

สิ่งที่สำคัญคือ มีช่องทางกลับรถโดยเฉพาะ เนื่องจากรายงานวิจัยทั่วโลกต่างระบุตรงกันว่า โอกาสที่รถจักรยานยนต์จะถูกรถคันอื่นชนได้มากที่สุด คือ เมื่อเข้าสู่ทางร่วมหรือทางแยก!!!!

ช่องทางพิเศษสำหรับรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซียนี้ ได้รับการประเมินว่า สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด พบว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 39 และลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 83

ในส่วนของประเทศไทย เคยมีแนวคิดพัฒนาช่องทางพิเศษสำหรับรถจักรยานยนต์ในหลายเมือง เช่น สมุทรปราการ นครปฐม ตาก และลำปาง แต่การออกแบบช่องทางยังไม่สมบูรณ์ ยังขาดความเฉพาะ เมื่อเข้าสู่ทางแยก และการกลับรถยังต้องใช้เส้นทางร่วมกับรถอื่นๆ รวมทั้งช่องทางที่จัดไว้มีไม่ครบในทุกเส้นทาง

ผู้ใช้รถอื่นมักใช้ช่องทางรถจักรยานยนต์เป็นที่จอดรถยนต์ส่วนตัว ผู้ใช้รถจักรยานยนต์จึงไม่นิยมใช้ช่องทางที่จัดไว้ให้ และพบว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์ยังคงใช้ถนนปะปนกับรถอื่นๆ

ในขณะที่ถนนบางสายกลับห้ามรถจักรยานยนต์ใช้ เช่น สะพานข้ามทางแยกบางพื้นที่มีไว้สำหรับรถยนต์ทั่วไปเท่านั้น หรือบางถนนก็ห้ามรถจักรยานยนต์ใช้บางช่องทาง เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต

อย่างไรก็ตาม ช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ ในประเทศไทยยังไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะการลงทุนในเรื่องต่างๆไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่จะต้องทำสำเร็จในเวลาอันสั้น นอกจากนั้น ความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชาชนผู้ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง เนื่องจากเป็นผู้มีรายได้น้อย และไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม

กลุ่มองค์กรต่างๆควรมองถึงสิทธิ์ของผู้ ใช้ทางอย่างเท่าเทียมกัน และเรียกร้องฝ่ายรัฐบาล ให้มองเห็นความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ทุกคนทุกกลุ่มอย่างทัดเทียม