ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > กสิกรไทยชี้นโยบายรัฐกระตุ้นตลาดมอ'ไซด์ปี 54 โต 11-16%
กสิกรไทยชี้นโยบายรัฐกระตุ้นตลาดมอ'ไซด์ปี 54 โต 11-16%
ที่มา - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8 ก.ย.54

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "นโยบายรัฐกระตุ้นตลาดรถจักรยานยนต์ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 11 ถึง 16" ระบุว่า ทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนแรกของปี โดยสามารถทำยอดจำหน่ายไปแล้วถึง 1,258,674 คัน หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

แม้ว่าตลาดรถจักรยานยนต์ล่าสุดในเดือนกรกฎาคมจะมียอดจำหน่ายลดลงมาที่ 178,050 คัน หรือหดตัวลงถึงร้อยละ 19.7 (MoM) จากที่ทำสถิติยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 221,818 คัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาฝนตกหนักติดต่อกัน และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ทำให้ผู้บริโภคมีการชะลอการซื้อรถจักรยานยนต์ลง ในขณะที่ฐานที่ต่ำในเดือนเดียวกันช่วงปีที่แล้ว แต่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือนกรกฎาคมนี้ยังคงแสดงทิศทางที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ13.8 (YoY) และแม้ว่าช่วงต่อจากนี้ไป ตลาดจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากทั้งผลของฤดูกาล และอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับสูงขึ้นอีก

แต่จากนโยบายของภาครัฐ ในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชนในกลุ่มรากหญ้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย นโยบายการปรับลดราคาน้ำมัน รวมถึงฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันในปีก่อน ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงต่อจากนี้ไปยังมีโอกาสจะขยายตัวได้ต่อเนื่องเกือบตลอด แม้อาจจะเป็นไปในระดับต่ำกว่าช่วงหลายๆเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงที่เหลือของปี 2554 โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

ตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงที่เหลือปี 54 เผชิญปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ตลาดรถจักรยานยนต์นับตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา มีปัจจัยบวกที่สนับสนุนหลายด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ การส่งออกที่เติบโต ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี อัตราดอกเบี้ยที่ยังเพิ่มสูงขึ้นไม่มากนัก และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของค่ายรถจักรยานยนต์ ร่วมกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลจากกิจกรรมการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์มีทิศทางขยายตัวค่อนข้างต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ชะลอลงเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ

โดยปัจจัยดังกล่าวนี้ได้ส่งผลทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์โดยรวมช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.8 และยอดขายเดือนมิถุนายนสามารถทำสถิติยอดขายสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา รถจักรยานยนต์ระบบเกียร์อัตโนมัติครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดที่ร้อยละ 50 ขณะที่รถจักรยานยนต์แบบครอบครัวครองส่วนแบ่งร้อยละ 47 ซึ่งความนิยมในรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติที่เพิ่มสูงกว่ารถจักรยานยนต์แบบครอบครัวนี้ เป็นทิศทางที่ดำเนินต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ค่ายรถจักรยานยนต์เองก็ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสำหรับรุ่นเกียร์อัตโนมัติเข้ามาสู่ตลาด รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดรูปแบบต่างๆที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี ปัญหาภัยธรรมชาติจากการที่มีฝนตกติดต่อกันหลายช่วง รวมถึงมีการเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์เดือนกรกฎาคมแม้ว่าจะยังขยายตัวจากปีที่แล้ว แต่ก็หดตัวลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 19.7 (MoM) และเฉพาะเดือนกรกฎาคมนี้ รถจักรยานยนต์แบบครอบครัวได้พลิกกลับมาครองส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 52 สูงกว่ารถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติที่มีสัดส่วนเหลือร้อยละ 44 อันเนื่องมาจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นช่วงที่มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับรถประเภทครอบครัวที่มีจุดเด่นในเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน ประหยัดน้ำมันและทนทานมากขึ้น

ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศและอัตราการขยายตัว (ที่มา : สถาบันยานยนต์, บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด)
ในส่วนของตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงต่อจากนี้ไป คาดว่าอาจจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังต่อไปนี้
ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ตลาดมักจะซบเซาลง ซึ่งเป็นปัจจัยทางฤดูกาลที่มักเกิดขึ้นเกือบทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ขณะเดียวกันฝนที่ตกชุกกว่าในปีที่ผ่านมา อาจทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรบางชนิดได้น้อยลง รวมถึงทำให้การเดินทางยากลำบากขึ้น ขณะที่มีโอกาสเกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้อยู่เสมอ ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอการซื้อรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมออกไปก่อน

อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีโอกาสทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันจะมีการปรับลดลงบ้าง แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ผลของแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป อาจจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าอื่นๆนอกเหนือจากราคาสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยต้นทุนในการดำเนินชีวิตที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากนโยบายรัฐบาล

อัตราดอกเบี้ยที่ยังมีโอกาสปรับขึ้น โดยที่แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันจะมีระดับเกือบถึงจุดสูงสุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นไปอีกไม่มากจากนี้ แต่ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีความเชื่อมโยงกับต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทผู้ให้สินเชื่อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาตลอดก่อนหน้านี้ จะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนการถือครองรถจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นตาม

ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งทิศทางดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศของไทยได้ ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจมีรายได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงต่อจากนี้ไปจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ตลาดก็ยังมีปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนให้สามารถขยายตัวได้อยู่ โดยเฉพาะ นโยบายของภาครัฐ ในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชนในกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ รวมถึงฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันในปีก่อน

นโยบายส่งเสริมการบริโภคของรัฐบาลชุดใหม่ปัจจัยหลักกระตุ้นตลาด
หลังจากรัฐบาลชุดใหม่ได้ประกาศแนวนโยบายเศรษฐกิจออกไป นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรกนั้น มีหลายนโยบายที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ประชาชนในกลุ่มเกษตรกรและประชาชนในกลุ่มรากหญ้าอื่นๆ มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยนโยบายเหล่านี้คาดว่าอาจจะส่งผลบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ เช่น

- การพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้มีหนี้เกิน 500,000 บาท
- การดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท
- การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) เป็นจำนวนเงิน 300,000 400,000 และ 500,000 บาทตามลำดับขนาดของหมู่บ้าน
- การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น การนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ โดยจะเริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิก่อน พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร
- การจัดทำระบบทะเบียบครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร
- การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ โดยประกาศให้ปี พ.ศ. 2554-2555 เป็นปี “มหัศจรรย์ไทยแลนด์” รวมถึงเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลที่จะมีขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2554-2555 นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว

ซึ่งนโยบายต่างๆดังกล่าว โดยเฉพาะนโยบายการรับจำนำข้าว ที่คาดว่าจะเริ่มทำทันทีภายในปี 2554 นี้ น่าจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรในภาคกลางและภาคอีสาน ที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของตลาดรถจักรยานยนต์มีกำลังซื้อและความเชื่อมั่นต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดรถจักรยานยนต์ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องของค่ายรถจักรยานยนต์ รวมถึงนโยบายการปรับลดราคาน้ำมัน ประกอบกับยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศที่ต่ำของช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังมีโอกาสขยายตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2554 นี้ มีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 11 ถึง 16 แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากร้อยละ 20.2 ในปี 2553 หรือคิดเป็นจำนวนรถจักรยานยนต์ประมาณ 2,040,000 ถึง 2,140,000 คัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1,845,997 คันในปี 2553 โดยได้รับแรงผลักที่สำคัญจากยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่ขยายตัวสูงค่อนข้างมาก ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าการขยายตัวจะชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆ โดยมีนโยบายส่งเสริมรายได้ของผู้บริโภคเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ ท่ามกลาง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ปัจจัยด้านฤดูกาล อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศของไทย

อัตราการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศของไทย
กล่าวโดยสรุป แนวโน้มยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วงต่อจากนี้ไป แม้จะยังคงมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง แต่จะเป็นไปในทิศทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อนึ่ง ปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นตลาดนับจากนี้คาดว่าจะเป็นผลที่มาจากการเริ่มใช้นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยรูปแบบต่างๆของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ เช่น เกษตรกร เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับทิศทางความต้องการของกลุ่มเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าค่ายรถจักรยานยนต์คงจะใช้โอกาสนี้ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดรถจักรยานยนต์รุ่นราคาประหยัด และเหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว มากขึ้น นอกเหนือจากกิจกรรมกระตุ้นตลาดรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติที่ได้เน้นทำอยู่อย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว พร้อมกันนี้ก็ควรพัฒนาและให้ความสำคัญกับรถจักรยานยนต์รุ่นที่สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มาก ท่ามกลางสภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาก็ตาม