ร่วมงานกับเรา
ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ > ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือนม.ค.-ส.ค.47
รถจักรยานยนต์หดตัว 2 เดือนติด > ยอดขายสกู๊ตเตอร์แรงไม่หยุดขึ้นเทียบชั้นรถครอบครัวกึ่งสปอร์ต
ที่มา – MOTORING นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 26-29 ก.ย.47

ยอดขายรถจักรยานยนต์ชะลอตัว 2 เดือนติดต่อกันตั้งแต่ครึ่งหลังของปี เหตุเข้าฤดูฝน จับตายอดขายรถสกู๊ตเตอร์มาแรงเบียดยอดขายรถครอบครัวกึ่งสปอร์ตขึ้นแท่นเบอร์สองในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยอดรวม 8 เดือนแรกทุกยี่ห้อกวาด 1.334 ล้านคัน โตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 13%

แหล่งข่าวจากวงการรถจักรยานยนต์เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงตัวเลขยอดขายในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ในปี 2547 ว่า มีอัตราการเติบโตทีเพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขการจำหน่ายรวมทุกยี่ห้อราว 1,334,600 คัน โดยในจำนวนดังกล่าวนั้นมีรถจักรนยานยนต์ประเภท 2 จังหวะเพียง 8,772 คัน ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนไม่ถึง 1% และที่เหลือเป็นรถจักรยานยนต์ประเภท 4 จังหวะ โดยอนาคตอันไกล้นี้รถจักรยานยนต์ประเภท 2 จังหวะก็จะหมดไปจากตลาด อันเนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายการส่งเสริมการผลิตรถ 4 จังหวะซึ่งปล่อยมลพิษน้อยกว่า

ยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 2 เดือนหลัง คือ ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมามีการลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดขายรถจักรยานยนต์จะลดลงทุกปี โดยในปีนี้ยอดขายได้ลดลงจากเดือน มิ.ย. ซึ่งมีจำนวน 177,209 คัน ลดลงเหลือเพียง 161,232 คันในเดือนถัดมา และลดเหลือเพียง 144,212 คันในเดือนส.ค.

สำหรับยอดขายในเดือนส.ค. นั้น หากแบ่งตามประเภทของรถตามลักษณะภายนอกพบว่า รถครอบครัว เป็นกลุ่มที่มียอดขายมากที่สุดถึง 120,186 คัน ขณะที่รถประเภท สกู๊ตเตอร์ ซึ่งเป็นรถประเภทใหม่เพิ่งเข้ามาทำตลาดไทยได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้สามารถครองใจผู้บริโภคโดยมียอดขาย 11,423 คัน ขึ้นเป็นอันดับสองแทนที่รถจักรยานยนต์แบบ ครอบครัวกึ่งสปอร์ต ซึ่งมีตัวเลขยอดขาย 11,407 คัน ขณะที่ รถสปอร์ต นั้นมียอดขายเพียง 1,196 คันเท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้การแข่งขันและครอบครองตลาดรถจักรยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยสัดส่วนของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้านั้นมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 71% จากก่อนหน้านี้ที่มีส่วนแบ่งประมาณ 75% และยามาฮ่ามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจนกลายมาเป็นผู้จำหน่ายมากที่สุดอันดับสองแทนที่ซูซูกิ นอกจากนี้รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ ซึ่งผลิตโดยผู้ประกอบการไทยที่ได้เข้าตลาดมาในช่วง 2-3 ปีนี้มีส่วนแบ่ง 3% แซงหน้าคาวาซากิ

ทั้งนี้ยอดขายในช่วง 8 เดือนซึ่งแบ่งตามยี่ห้อรถนั้นพบว่า ฮอนด้า มียอดขาย 940,808 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 71% เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา 11% อันดับสอง ยามาฮ่า มียอดขายรวม 178,117 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 13% เติบโตเพิ่มขึ้น 59% มากที่สุดเมื่อเทียบกับรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อในท้องตลาด อันดับสาม ซูซูกิ 164,325 คัน ส่วนแบ่งตลาด 12% เติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 7% อันดับสี่ ไทเกอร์ มียอดขาย 25,102 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 2% เติบโตลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันดับห้า คาวาซากิ มียอดขาย 16,364 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 1% เติบโตลดลง 20% และอันดับหกเจอาร์ดี มียอดขาย 8,269 คัน มีส่วนแบ่ง 1% เติบโตเพิ่มขึ้น 11% และที่เหลืออีก 1,615 คันเป็นยอดขายของรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออื่นๆ

ยอดขายรถจักรยานยนต์ 8 เดือนแรกของปี2547 (แยกตามยี่ห้อ)

ยี่ห้อ
ยอดขาย (คัน)
ส่วนแบ่งตลาด
เปลี่ยนแปลง*
ฮอนด้า
940,808
71%
+11%
ยามาฮ่า
178,117
13%
+59%
ซูซูกิ
164,325
12%
+7%
ไทเกอร์
25,102
2%
-24%
คาวาซากิ
16,364
1%
-20%
เจอาร์ดี
8,269
1%
+11%
อื่นๆ
1,615
-
-
รวม
1,334,600
-
+13%