ด่านแรกเจอ ไทเกอร์ ก็ลำบาก เพราะถูกเจอถูก แถมเจองานหนักต้องฝ่าด่านมิวสิกมาร์เก็ตติ้งของทั้ง ฮอนด้า ยามาฮ่า ซูซูกิ วงในชี้มอเตอร์ไซค์จีนโอกาสพลาดเป้าสูง แม้จักรยานยนต์สัญชาติจีนภายใต้แบรนด์ แพล็ททินัม จะประกาศอย่างกึกก้องว่าจะกระชากเข็มขัดแชมป์ตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยจาก ฮอนด้า ในอนาคตอันใกล้ให้ได้ ด้วยการเล่นสงครามราคา การต่อสายกับหน่วยงานราชการเพื่อขายรถยกล๊อตอย่าง องค์กรคุรุสภา และการผนึกกับวิทยาลัยเทคนิคที่มีอยู่ทั่วประเทศตั้งเป็นตัวแทนศูนย์บริการ แต่เป้าหมายที่ แพล็ททินัม วางไว้ค่อนข้างห่างไกลมากๆ เมื่อเทียบการกลยุทธ์การตลาดของเจ้าตลาดอย่าง ฮอนด้า หรือผู้กำลังไล่ตามอย่าง ยามาฮ่า
ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกที่ แพล็ททินัม จะบอกว่าต้องการก้าวขึ้นยืนอยู่ในอันดับที่ 2 ของตลาดแทน ยามาฮ่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า แล้วเดินหน้าสอยตำแหน่งแชมป์จาก ฮอนด้า เพราะการดำเนินธุรกิจต้องมีเป้าหมาย โดยเฉพาะกับการลงทุนขนาดใหญ่ของ "มอเตอร์ไซต์แพล็ททินัม" ซึ่งมีการตั้งโรงงานผลิตมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท และเปิดตัวรถจักรยานยนต์ทีเดียวพร้อมๆ กันถึง 35 รุ่น
แต่เป้าหมายที่ว่านั้นในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก ดูได้จากการเข้ามาเปิดตลาดรถจักรยานยนต์แบรนด์ ไทเกอร์ ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปีมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้มากมายนัก ทั้งๆ ที่ไทเกอร์ใช้ทั้งกลยุทธ์ด้านราคา และกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 นี้ สรุปออกมาว่า มีปริมาณทั้งสิ้น 656,219 คัน
+ ฮอนด้า ครองยอดขายเป็นอันดับหนึ่งด้วยตัวเลข 450,892 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 69%
+ อันดับ 2 คือ ยามาฮ่า มียอดขายอยู่ที่ 94,757 คัน คิดเป็น 14%
+ อันดับ 3 ซูซูกิ มียอดขาย 74,033 คัน คิดเป็น 11%
+ อันดับ 4 ไทเกอร์ มียอดขาย 22,636 คัน คิดเป็น 3%
+ อันดับ 5 คาวาซากิ มียอดขาย 7,467 คัน คิดเป็น 1%
+ อันดับ 6 เป็นของ เจอาร์ดี มียอดการจำหน่ายอยู่ที่ 2,771 คัน
+ และค่ายอื่นๆ อีก 3,663 คัน
การที่ ไทเกอร์ ยังไม่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในระยะเวลาอันใกล้ ทั้งที่เป็นรถที่ผลิตโดยโรงงานคนไทย และมีราคาที่ต่ำกว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าปัจจัยด้านราคาไม่ใช่ตัวที่ส่งเสริมยอดขายได้มากมายนัก ขณะที่การขายยกล๊อต หรือการขายฟลีทนั้น แม้จะมียอดขายในปริมาณมากๆ แต่ก็เป็นแค่ระยะสั้นๆ เพราะปัจจุบันตลาดหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจค่อนข้างเปิดกว้างให้กับทุกแบรนด์เข้าไปทำตลาดได้ ในเงื่อนไขการซื้อที่ง่ายกว่าการขายผ่านตัวจำหน่ายอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นการรุกตลาดด้วยสงครามราคาของ แพล็ททินั่ม ก่อนจะข้ามขึ้นไปสู่อันดับ 2 ของตลาดคงต้องขับเคียวกับ ไทเกอร์ พอสมควร และแม้ แพล็ททินัม จะใช้จุดขายในเรื่องต้นทุนที่ต่ำด้วยชิ้นส่วนจักรยานยนต์จากประเทศจีน แต่ขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนก็เป็นภาระในด้านต้นทุนเช่นกันแม้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แล้วก็ตาม
ขณะที่ ไทเกอร์ จะมีความได้เปรียบในเรื่องชิ้นส่วนที่ผลิตจากซัพพลายเออร์ในประเทศ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า
ขณะเดียวกัน แพล็ททินัม ก็ยังต้องต่อสู้กับ กลยุทธ์การตลาดของทั้ง ฮอนด้า ยามาฮ่า และซูซูกิ ที่เน้นการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเรื่องของการสร้างเทรนด์ต่างๆ ผ่านทางกลยุทธ์มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง และการรุกตลาดด้วยการสร้างเฟรนไชส์ร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของตนเองขึ้นมา เช่น ยามาฮ่าสแควร์ เป็นต้น ยังไม่รวมถึงการทำตลาดผ่านทางกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต และการจัดคาราวานต่างๆ ซึ่งล้วนต้องใช้งบประมาณการตลาดที่สูงมาก
สมนึก วิทยารักษ์สรรค์ ประธานบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลส์ กล่าวว่า บริษัทจะใช้กลยุทธ์ราคาต่ำเป็นจุดขายคือ มีขนาดเครื่องยนต์หลากหลายรุ่นเหมือนรถญี่ปุ่น แต่ถูกกว่า โดยมี 23 รุ่นที่ใช้น้ำมัน 6 รุ่นเป็นรถไฟฟ้า และอีก 4 รุ่นเป็นแบบ 4 ล้อ มีรีโมตสตาร์ทพร้อมสัญญาณกันขโมย นอกจากนี้ เน้นบริการหลังการขาย มีเมกะดีลเลอร์ทั่วประเทศถึง 125 แห่งและร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ เปิดศูนย์บริการ รวมทั้งจัดโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำ 7.7% ต่อปี จากทั่วไป 19.5% ต่อปี
โดยแนวคิดในการใช้วิทยาลัยเทคนิคให้เป็นศูนย์บริการนั้น โดยหลักการแล้ว การรุกตลาดมอเตอร์ไซค์ของค่ายต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดตัวรุ่นเครื่องยนต์ใหม่ๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการจัดหาเครื่องยนต์ให้กับบรรดาวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวการทำงานและการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์นั้นๆ อยู่แล้ว เพราะนักเรียนช่วงเทคนิคเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของช่างซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ของตลาด และตัวแทนจำหน่ายในอนาคตนั่นเอง
ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคในหลายๆ พื้นที่ก็ได้รับการสนับสนุนจากค่ายรถจักรยานยนต์ทั้ง ฮอนด้า ยามาฮ่า และ ซูซูกิ รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ น่าจะเป็นอุปสรรค์ในการดึงวิทยาลัยเทคนิคเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของ แพล็ททินัม เช่นกัน
นอกจากนี้ การขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการแข่งขันในตลาดเงินผ่อนค่อนข้างรุนแรง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้จักรยานยนต์ที่มีอยู่ในตลาดทุกแบรนด์สามารถขายได้ด้วยเงือนไขที่ง่าย และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำใกล้เคียงกัน ซึ่งแม้ แพล็ททินัม จะระบุว่าได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ ของกลุ่มซีพีก็ตาม แต่ปัจจุบันมีบริษัท สินเชื่อบุคคลอีกหลายแห่งที่เป็นคู่แข่ง เช่น แคปปิตอบโอเค ของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น พร้อมจะเข้ามาในตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ด้วยเช่นกัน
แพล็ททินัม คาดหมายว่า ในปีนี้ยอดน่าจะทำได้ถึง 2 แสนคัน คิดเป็นมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท จากปริมาณตลาดรวมที่คาดว่าจะเกิด 2 ล้านคัน และปี 2549 เพิ่มเป็น 3 แสนคัน มูลค่า 10,000 ล้านบาท และเริ่มส่งออกอย่างจริงจังในปี 2550 ซึ่งคาดว่ากำลังผลิตจะอยู่ที่ 6 แสนคัน และ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เมื่อเปรียบเทียบจุดขายและจุดแข็งในหลายๆ ด้านของทั้ง แพล็ททินัม และคู่แข่งขันที่อยู่ในตลาดทั้ง ฮอนด้า ยามาฮ่า ซูซูกิ คาวาซากิ รวมถึง ไทเกอร์ ทำให้มีการคาดการณ์จากวงการตลาดรถจักรยานยนต์ว่า แพล็ททินัม มีโอกาสยิงพลาดเป้าสูงมาก