นครฉงชิ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคตะวันตกของจีน ได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคลัสเตอร์ของรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับการพัฒนาคลัสเตอร์ในประเทศไทย
นครฉงชิ่ง (Chongqing) หรือจุงกิง (Chungking) ซึ่งชื่อมีความหมายว่า "ความสุขหรือการฉลองเป็น 2 เท่า" นับเป็นนครขนาดใหญ่ในภาคตะวันตกของจีน และมีความสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ โดยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจีนคณะชาติได้ย้ายเมืองหลวงมายังนครฉงชิ่งเนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นหุบเขา ทำให้ยากแก่การบุกโจมตีของกองทัพญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีเมฆหมอกจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก ภายหลังสงครามสงบลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2488 นายเหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังได้เดินทางมายังนครฉงชิ่งเพื่อพบปะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์กับจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อเจรจาสันติภาพและมีข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2488
อย่างไรก็ตาม สันติภาพเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ต่อมาทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำสงครามกันอีกครั้งหนึ่ง โดยทหารฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์เอาชนะทหารฝ่ายจีนคณะชาติและครอบครองจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อปี 2492 ภายหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน บุคคลที่ฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์มอบหมายให้มารับตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่งเป็นคนแรกก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นนายเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งต่อมานับเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้เจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน
เดิมนครฉงชิ่งเป็นเพียงเมืองหนึ่งในมณฑลเสฉวนเท่านั้น แต่ในปี 2540 รัฐบาลกลางได้แยกนครฉงชิ่งพร้อมกับพื้นที่รอบนอกในภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวนพื้นที่รวม 82,400 ตร.กม. เท่ากับพื้นที่ 1 ใน 6 ของประเทศไทย ออกมาเป็นเมืองอิสระที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง เพื่อพัฒนาตามนโยบายพัฒนาภาคตะวันตก (Go West) โดยนับเป็นเมืองอิสระที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลแห่งที่ 4 ของประเทศจีน ถัดจากกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครเทียนสิน ซึ่งแต่เดิมนครฉงชิ่งมีประชากร 6.1 ล้านคน แต่ภายหลังก่อตั้งเป็นมหานครอิสระโดยรวมพื้นที่ชนบทที่อยู่รอบนอก ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 31 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของพลเมืองประเทศไทย ทั้งนี้ ในปี 2547 นครฉงชิ่งมี GDP เป็นเงิน 350,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,750,000 ล้านบาท
เทศบาลนครฉงชิ่งพยายามปรับปรุงนครฉงชิ่งให้เป็นศูนย์กลางในด้านเศรษฐกิจและเป็นเมืองที่น่าอยู่น่าอาศัย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า หากนครเซี่ยงไฮ้เทียบเท่ากับนครนิวยอร์คของสหรัฐฯ แล้ว นครฉงชิ่งก็เปรียบเสมือนกับนครชิคาโกของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์และฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมทางตอนในของประเทศ
สำหรับอุตสาหกรรมหลักของนครฉงชิ่ง คือ รถจักรยานยนต์ โดยมีการกล่าวกันว่า ฉงชิ่งนับเป็นคลัสเตอร์การผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปี 2547 นครฉงชิ่งมีปริมาณการประกอบรถจักรยานยนต์ 4.4 ล้านคัน นับว่ามากเกือบ 2 เท่าของปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของไทยทั้งประเทศ และคิดเป็นสัดส่วน 1/3 ของทั้งประเทศจีน หรือ 1/6 ของปริมาณการประกอบรถจักรยานยนต์ทั่วโลก
สำหรับอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของจีนเริ่มต้นเมื่อปี 2501 เมื่อมีการตั้งฐานประกอบรถจักรยานยนต์ที่กรุงปักกิ่ง โดยผลิตรถจักรยานยนต์ที่ออกแบบโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งโซเวียตก็ได้ลอกเลียนแบบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ BMW ของเยอรมนีอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น รถจักรยานยนต์ของจีนในขณะนั้นจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ BMW เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของจีนในช่วงนั้นยังมีขนาดเล็กมาก แต่ละปีผลิตไม่กี่หมื่นคันเท่านั้น
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์สมัยใหม่ของจีนได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2525 เมื่อบริษัท เจียหลิน (China Jialing Group) ซึ่งเดิมเป็นบริษัทผลิตอาวุธ ได้เริ่มผลิตรถจักรยานยนต์รุ่น CD70 โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและดำเนินการภายใต้สิทธิบัตรของบริษัทฮอนด้า ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์ที่ประกอบขึ้นมีรูปลักษณ์และส่วนประกอบเหมือนกับรถจักรยานยนต์ฮอนด้ารุ่น C100 เกือบทั้งหมด บริษัทเจียหลินประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างมาก กลายเป็นบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยในปี 2538 ครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนมากถึง 14% ทั้งนี้ นอกจากผลิตรถจักรยานยนต์โดยโรงงานของตนเองแล้ว ต่อมาในปี 2536 บริษัทเจียหลินและฮอนด้าได้ร่วมลงทุนฝ่ายละครึ่งในบริษัท About Jialing-Honda Motors ซึ่งเดิมผลิตเฉพาะเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์เท่านั้น และต่อมาในปี 2539 ได้เริ่มผลิตรถจักรยานยนต์ด้วย
จากการที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศจีนเติบโตรวดเร็วมาก จึงมีนักธุรกิจที่หวังรวยทางลัดได้ก่อตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์หลายแห่งขึ้นที่นครฉงชิ่ง โดยผู้ผลิตเหล่านี้ต่างลอกเลียนแบบชิ้นส่วนต่างๆ ของรถจักรยานยนต์ของฮอนด้าในรูปแบบวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) สำหรับเคล็ดลับการก๊อปปี้ชิ้นส่วนและเทคโนโลยีการผลิตก็ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนแต่อย่างใด มีเหตุผลหลักมาจากบุคลิกของคนจีนที่ต้องการเป็นเถ้าแก่ ไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง โดยคนจีนจำนวนมากได้สมัครเป็นพนักงานในบริษัทผลิตชิ้นส่วน โดยตั้งใจทำงานเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นเพื่อดูดความรู้ จากนั้นก็ลาออกมาก่อตั้งโรงงานเอง
จากการที่คนจีนก่อตั้งบริษัทผลิตชิ้นส่วนในลักษณะวิศวกรรมย้อนรอยจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่นครฉงชิ่ง ประกอบด้วยบริษัทผลิตเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ 10 บริษัท และบริษัทผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของรถจักรยานยนต์อีกมากกว่า 400 บริษัท สามารถซื้อชิ้นส่วนหลากหลายเหล่านี้มาประกอบรถจักรยานยนต์แทบทั้งคัน โดยบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอิสระ สามารถขายชิ้นส่วนให้แก่บริษัทใดๆ ก็ได้
จากการที่นครฉงชิ่งเป็นคลัสเตอร์ในการผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับตลาดมีการแข่งขันกันสูง ส่งผลให้สามารถซื้อชิ้นส่วนในราคาถูก จึงนับเป็นเรื่องง่ายที่จะก่อตั้งบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ขึ้นที่นครฉงชิ่ง โดยรวบรวมชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบขึ้นเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป ส่งผลให้มีการก่อตั้งบริษัทซึ่งทำธุรกิจประกอบรถจักรยานยนต์ในนครฉงชิ่งเป็นจำนวนมากถึง 19 บริษัท
กรณีของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของนครฉงชิ่งจึงนับว่าแตกต่างจากกรณีของประเทศไทยมาก โดยกรณีของไทยผู้ผลิตชิ้นส่วนจะป้อนเฉพาะบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ของค่ายญี่ปุ่นเป็นหลัก ไม่ยอมขายแก่ผู้ผลิตรายอื่นเนื่องจากเกรงว่าจะละเมิดสิทธิบัตร จากเหตุผลข้างต้น จึงเป็นการยากที่จะก่อตั้งบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ขึ้นในประเทศไทยเว้นแต่จะผลิตชิ้นส่วนขึ้นเองจำนวนมาก ซึ่งจะต้องลงทุนสูงมาก ดังนั้น ไทยจึงมีการผลิตรถจักรยานยนต์เพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น โดยกรณีของรถจักรยานยนต์แบรนด์ของคนไทย คือ ไทเกอร์ ก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยพึ่งพาชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์นำเข้าจากจีนบางส่วน
สำหรับบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่อันดับรองลงมาของนครฉงชิ่ง คือ บริษัท ลี่ฝาน (Lifan) ซึ่งนับเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ปัจจุบันมีกำลังผลิตเครื่องยนต์ 2 ล้านเครื่อง/ปี และรถจักรยานยนต์ 1 ล้านคัน/ปี โดยนับเป็นบริษัทจีนแห่งแรกที่ส่งรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์เนมของตนเองไปจำหน่ายในญี่ปุ่น
เนื่องจากบริษัทลี่ฝานไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงพยายามพึ่งตัวเองทางด้านเทคโนโลยี จากเดิมที่ผลิตลอกเลียนแบบฮอนด้า ก็ได้พยายามวิจัยและพัฒนาด้วยตนเอง โดยปัจจุบันมีบุคลากรในแผนกวิจัยและพัฒนามากกว่า 100 คน ทั้งนี้ นับถึงสิ้นปี 2546 ได้จดสิทธิบัตรทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศจำนวนมากถึง 848 รายการ นอกจากมีโรงงานในประเทศจีนแล้ว บริษัทลี่ฝานยังไปลงทุนก่อตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ที่เวียดนาม และล่าสุดเมื่อปลายปี 2547 ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอินเดียให้ก่อสร้างโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ในอินเดีย
สำหรับบริษัท หยินกัง ก็มีฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ที่มหานครฉงชิ่งเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันได้ร่วมมือกับนักธุรกิจชาวไทยในการจัดตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Harde ในประเทศไทยขึ้นที่เขตลาดกระบัง เริ่มผลิตเมื่อปลายปี 2547
ส่วนบริษัท ยามาฮ่า ของญี่ปุ่นก็ได้ก่อตั้งฐานประกอบรถจักรยานยนต์ขึ้นที่นครฉงชิ่ง โดยผลิตไม่เฉพาะเพื่อจำหน่ายในประเทศจีนเท่านั้น ยังผลิตเพื่อส่งออกด้วย โดยปัจจุบันได้ส่งออกรถจักรยานยนต์ขนาด 125 ซีซี ที่ผลิตในโรงงานในนครฉงชิ่งไปยังประเทศตุรกี
สำหรับบริษัทรถจักรยานยนต์ของค่ายยุโรปก็สนใจในนครฉงชิ่งเช่นเดียวกัน โดยบริษัท Piaggio Group ของอิตาลี และบริษัท Chongqing Zongshen Motorcycle Group ของนครฉงชิ่ง ได้ลงนามในสัญญาเมื่อเดือนเมษายน 2547 ในโครงการร่วมลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบเครื่องยนต์สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มหานครฉงชิ่ง กำลังผลิต 500,000 เครื่อง/ปี
สุดท้ายนี้ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของมหานครฉงชิ่งนับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เนื่องจากจีนสามารถพัฒนาอย่างรวดเร็วมากจนกลายเป็นประเทศผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันสามารถพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีค่อนข้างมาก และเริ่มแย่งตลาดรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของจีน คือ จะต้องพยายามพัฒนาแบรนด์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าหรือ Value Creation พร้อมกับพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้า Made in China ขึ้นใหม่ จากเดิมที่ถูกมองว่ามีคุณภาพต่ำ ให้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าคุณภาพดีและมีราคาถูก