จับตา ยอดขายจักรยานยนต์ครึ่งปีหลัง ดัชนีวัดเศรษฐกิจรากหญ้า มั่นใจ ผ่านเป้ายอดรวม 2.1 ล้าน แต่สถานการณ์แข่งขันรุนแรง คาดผู้ค้าใหญ่ ฮอนด้าเดินกลยุทธ์ฟอร์เก็ต เดอะ ไลน์ เครื่องมือเร่งโต ต้านกำลังซื้อหด
จากรายงานยอดการจำหน่าย 5 เดือนแรกของปี 2548 ที่ผ่านมาพบว่า ตลาดรวมของรถจักรยานยนต์ เติบโตขึ้นไม่ถึง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อของประชาชนในระดับรากหญ้า ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของตลาดจักรยานยนต์ ทั้งนี้อุตสาหกรรมจักรยานยนต์ประเมินว่า ในปี 2548 ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์จะเติบโตได้มากกว่า 10% และปิดที่ 2.1 ล้านคัน
จากตัวเลขยอดขายของตลาดในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ พบว่า มีเพียงผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เพียง 2 รายเท่านั้น ที่มียอดจำหน่ายเติบโตขึ้น คือ ยามาฮ่า และ ไทเกอร์ ซึ่งเหตุที่ ยามาฮ่า มีการเติบโตเพราะว่า ยามาฮ่า เปิดตัวรถที่เป็นสกู๊ตเตอร์ แบบเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ ส่งผลให้ ยามาฮ่า นั้นมียอดขายสูงขึ้น ส่วน ไทเกอร์ จักรยานยนต์ของไทย นอกจากวางผลิตภัณฑ์ใหม่หลายรุ่นแล้วยังกำหนดราคาจำหน่ายต่ำกว่าคู่แข่ง และมีการจัดแคมเปญทางด้านการเงินออกมาสนับสนุน
น้ำมันแพง พิษสึนามิทำตลาดชะลอตัว
แหล่งข่าวจากวงการค้าจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ที่พัดถล่ม 6 จังหวัดอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปีก่อน ประกอบกับพิษของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อดูสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางด้านน้ำมันที่แพงขึ้นในแง่ของภาพบวกกลับ ทำให้ผู้บริโภคที่เคยใช้รถยนต์ปิกอัพเป็นพาหนะในต่างจังหวัด เปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น เนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่าย คาดว่า เมื่อสิ้นสุดปี 2548 ยอดจำหน่ายของตลาดรวม น่าจะสามารถทำได้ 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 7%
ภาวะซื้อขายทรงตัว
ทั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความเห็นของผู้ค้าในตลาดภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของจักรยานยนต์ พบว่า ผลกระทบจากน้ำมันแพงและเศรษฐกิจขาลง เริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าขายที่ชัดเจนขึ้น แหล่งข่าวตลาดรถจักรยานยนต์อยู่ในภาวะทรงตัว แหล่งข่าวจากศูนย์บริการพิธานพาณิชย์ ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในเขตจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและปัญหาน้ำมันแพงรวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ มีผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์ไม่มากนัก เพราะว่ารถยนต์เริ่มขายยากมากขึ้นสืบเนื่องจากปัจจัยที่คนเริ่มกังวลถึงน้ำมันที่จะต้องเติมในราคาที่สูงขึ้น จึงหันมาใช้รถจักรยานยนต์แทน ซึ่งสิ้นเปลืองน้ำมันน้อยกว่า
ทางด้านผู้แทนจำหน่ายจักรยานยนต์รายใหญ่ เขตนครสวรรค์ กล่าวว่า ราคาสินค้าในจังหวัดและพื้นที่ข้างเคียงเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงค่ารถ ค่าอาหาร ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้รถในระยะทางใกล้ๆ เริ่มกลับมาซื้อจักรยานยนต์กันมากขึ้น
"ตลาดจักรยานยนต์ทรงตัวไม่ได้ลดลงไป เพราะส่วนหนึ่ง สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในตลาดด้วยเงื่อนไขจูงใจ เพราะว่าตลาดการเงินมีการแข่งขันสูง ซึ่งในครึ่งปีหลังภาวะการแข่งขันยังสูงอยู่ "แหล่งข่าวระบุ
ฮอนด้า มั่นใจสิ้นปียอดขายพุ่ง 1.5 ล้านคัน
ทางด้านผู้นำตลาดอย่าง ฮอนด้า ที่ครองส่วนแบ่งมากกว่า 65% ของตลาดรวมทั้งประเทศมาโดยตลอด นายเชี่ยวชาญ รุ่งทวีสุข ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด อธิบายว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตในเรื่องยอดขายรถจักรยานยนต์ของ ฮอนด้า ลดลง 1% นั้น เกิดจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีการดึงกำลังซื้อของต้นปีนี้ไปมาก เนื่องจากมีสถาบันการเงินมากมาย ได้ร่วมกับตัวแทนจำหน่ายที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลด้วยแคมเปญที่จูงใจ
ทั้งนี้ ฮอนด้า ตั้งเป้ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวมปีนี้ไว้ที่ 1.5 ล้านคัน น่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากจะมีรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลังอีก 3 รุ่น โดยหนึ่งในนั้นจะเป็นรถจักรยานยนต์ประเภทสกู๊ตเตอร์ ที่กำลังเป็นเซ็กเมนท์ใหม่และได้รับการยอมรับในตลาดมากขึ้น
ส่งฟอร์เก็ต เดอะ ไลน์ กลยุทธ์ใหม่สู้กำลังซื้อหด
ในส่วนของการตลาดนั้น ค่ายผู้ผลิตก็ล้วนแต่มีการปรับตัวกันขนานใหญ่ โดยมี ฮอนด้า เป็นผู้นำกิจกรรมเหมือนเดิม ซึ่งในอดีตอาจจะสามารถจำแนกกลยุทธ์การสื่อการการตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์ได้อย่างชัดเจน ว่ากิจกรรมลักษณะไหนเป็น สื่อหลักหรืออะโบฟ เดอะ ไลน์ หรือสื่อรองอย่างบีโลว์ เดอะ ไลน์ ที่ชูกิจกรรมเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันกลยุทธ์เหล่านั้นก็ได้เปลี่ยนไปแล้วเป็น ฟอร์เก็ต เดอะ ไลน์ (Forget the line) ที่มีการผสมผสานกันระหว่างการใช้สื่อหลักและกิจกรรมการตลาดอย่างสอดคล้องลงตัว หรือทำทุกวิธีทางให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
ฟอร์เก็ต เดอะ ไลน์ของค่ายรถจักรยานยนต์นั้นจะมุ่งไปที่ความคุ้มค่าและเต็มเม็ดเต็มหน่วย ของผลการตลาดที่เกิดตามมา อาทิ ฮอนด้า ที่เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับละครเรื่องเป็นต่อ ทางช่อง 3 ที่ตลอดการดำเนินเรื่องจะมีการสอดแทรกสินค้าและแบรนด์ของ ฮอนด้า อยู่เป็นระยะ แต่จะไม่ยัดเยียดโดยตรงเหมือนการซื้อเวลาโฆษณา
นอกจากนี้ ฮอนด้า ยังคงเดินหน้าเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นศิลปิน ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มาช่วยโปรโมทสินค้าควบคู่ไปกับการเดินเกม มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง (music marketing) ที่เคยทำมาแต่เดิม การใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นวงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นนั้น เวลาเดินสายทัวร์ในต่างจังหวัดก็จะมีกลุ่มแฟนเพลงที่ติดตามเชียร์เข้ามาร่วมด้วย ยิ่งเพิ่มความเป็นสาธารณชนให้แก่แบรนด์มากขึ้น แม้กระทั่งพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นนักแสดงละคร ทาง ฮอนด้า ก็จะใช้อย่างคุ้มค่าด้วยการแต่งเพลงให้โดยเฉพาะ ไว้สำหรับร้องเวลาออกเดินสายทัวร์แนะนำสินค้าในต่างจังหวัดด้วย