ถึงเวลาเอาจริงกันเสียทีกับปัญหาจักรยานยนต์เสียงดัง สร้างมลพิษ หลังจากที่ได้รณรงค์ขอความร่วมมือมานานตั้งแต่ 20 เมษายน รวมกว่า 1 เดือนเต็มกับการใช้วิธีประณีประนอมในการจัดระเบียนการใช้รถจักรยานยนต์เพื่อขจัดสิงห์นักบิดกวนเมือง
1 มิถุนายน 2548 จึงเป็นวันดีเดย์ ตรวจจับ-ปรับจริง โดยสำนักงานจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กองบังคับการตำรวจจราจรและกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับบริษัท เอ.พี .ฮอนด้า ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ของตลาดรถจักรยานยนต์บ้านเรา ที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 1 ในแต่ละปี จากปีที่แล้วยอดขายรวมกว่า 2 ล้านคันฮอนด้าขายได้ถึง 1.4 ล้านคัน ชี้ให้เห็นถึงจำนวนผู้ใช้รถฮอนด้าที่มีจำนวนมาก
จึงเป็นเป้าใหญ่ที่จะต้องให้ความร่วมมือในการควบคุมปัญหาเรื่องรถเสียงดัง สร้างมลพิษ ด้วยการร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มจากศูนย์บริการและผู้ใช้รถซึ่งใครที่ใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้า ในช่วงนี้ไปรับบริการตรวจวัดและปรับลดค่าระดับเสียงได้ฟรี ณ จุดบริการและศูนย์บริการที่มีอยู่ทั่วประเทศพร้อมส่วนลดค่าอะไหล่ 20% สำหรับการเปลี่ยนท่อไอเสีย
ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนับไปอีก 3 เดือนที่จะไม่ถูกจับและปรับสำหรับกรณีรถเสียงดัง แต่ต้องไม่เกิน 95 เดซิเบล เพราะถ้าเสียงเกินระดับดังกล่าวปรับแน่นอน 500 บาท และรถคันไหนที่ถูกปรับแล้วจะถูกแปะสติ๊กเกอร์ "ห้ามใช้ชั่วคราว" จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขใน 30 วัน
โดยในช่วงเวลา 30 วันนี้เจ้าของรถก็นำรถไปเข้าศูนย์บริการ ฮอนด้า ที่มีอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 100 แห่งที่เข้าร่วมโครงการและเมื่อแก้ไขแล้วก็นำรถไปแจ้งขออนุญาตใช้งานได้ตามปกติ ณ จุดยกเลิกคำสั่ง "ห้ามใช้รถจักรยานยนต์เสียงดัง" ซึ่งมีอยู่ 7 แห่งในกรุงเทพ คือที่
+ กรมควบคุมมลพิษ,สน.คู่ขนาน ถ.ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (ขาเข้า)
+ กองโรงเรียนช่างกล (กทม.2 ดินแดง) ถนนมิตรไมตรี ใกล้ศูนย์กีฬาเยาวชน ไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ
+ ศูนย์ซ่อมกองโรงเรียนช่างกล สาขาดอนเมือง ถนนพหลโยธิน
+ ศูนย์ซ่อมกองโรงเรียนช่างกล สาขาประเวศ ซ.สุถาพงษ์ 2 ถ.ศรีนครินทร์ (ตรงข้ามซีคอนแสควร์)
+ ศูนย์ซ่อมกองโรงเรียนช่างกล สาขาราษฏร์บูรณะ และ
+ ศูนย์ซ่อมกองโรงเรียนช่างกล สาขาภาษีเจริญ
ถ้าเจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ถูกแปะป้ายห้ามใช้ชั่วคราวฝ่าฝืน ไม่นำรถไปแก้ไขตามจุดและเวลาที่กำหนด ถ้าถูกจับอีกครั้งจะถูกจับและแปะสติ๊กเกอร์ "ห้ามใช้เด็ดขาด" ซึ่งขณะนี้ถนนเส้นหลักๆ ในกรุงเทพก็เริ่มจับ-ปรับกันแล้ว
เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ที่ไม่อยากถูกจับ ให้สังเกตป้ายผ้า "เสียงดังซ่อมได้" ที่ขึ้นไว้หน้าร้านหรือที่ คลินิกไอเสียมาตรฐานสถานบริการตรวจสภาพเอกชน (ตรอ.) ด่านตรวจบริการ, บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และบริษัทผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ หรือโทร.เข้าไปสอบถามได้ที่เบอร์ 02-757-6111 ต่อ 2518