ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > กทม.ยืดเวลาจัดระเบียบวินัยจยย.รับจ้าง
กทม.ยืดเวลาจัดระเบียบวินัยจยย.รับจ้าง
ที่มา - กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 ส.ค.48

เหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ รอประกาศในกฎกระทรวง "สามารถ" สั่งสำรวจก่อสร้างศาลาวิน จยย.รับจ้างรองรับล่วงหน้า

"สามารถ" ยอมรับจัดระเบียบวินรถจยย.รับจ้างในกรุงเทพฯไม่ทันตามกฎหมายบังคับภายในวันที่ 7 ก.ย.เตรียมทำเรื่องขอผ่อนปรนหลังพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ ชี้ต้องประกาศในกฎกระทรวงก่อน แต่สั่ง สจส.เร่งสำรวจศาลาวิน จยย.รับจ้างล่วงหน้าให้พิจารณางบประมาณอย่างรอบคอบ

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองรับว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ดำเนินการออกแบบศาลาสำหรับวินรถจักรยานยนต์รับจ้างและพิจารณาในพื้นที่ที่สามารถทำได้

"ก่อนหน้านี้ สจส.ได้มีแนวคิดที่จะดำเนินการมาแล้วแต่ขณะนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบและต้องดูว่าจะใช้เงินจำนวนเท่าใด" นายสามารถกล่าว

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า แนวทางการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้าง ที่กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องลงทะเบียนกับทางสำนักงานเขตเพื่อรับหนังสือรับรองจากคณะกรรมการระดับท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติแก้ไขรถยนต์ พ.ศ. 2547 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะมีผลครบกำหนดในวันที่ 7 ก.ย.นี้นั้น คาดว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามที่พ.ร.บ.กำหนดไว้

นายสามารถ กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือกับตัวแทนกรมขนส่งทางบก ได้ข้อสรุปที่จะผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในช่วงนี้เนื่องจากยังไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องรอให้มีการออกประกาศกฎกระทรวงเสียก่อน

นายสามารถ กล่าวอีกว่า การประชุมคณะผู้บริหาร กทม. เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ว่า ตนได้รายงานความคืบหน้าการซ่อมแซมศาลาที่พักผู้โดยสารให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยขณะนี้ได้ทำการรื้อถอนศาลาที่พักผู้โดยสารที่เสี่ยงอันตรายไปทั้งสิ้น 10 หลัง และสร้างทดแทนไป 9 หลัง ส่วนอีก 1 หลังมีทดแทนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ตนได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้ทำการสร้างแบบช่วคราวไปก่อน โดยให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการสร้างแบบถาวรให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทั่วพื้นที่กทม.มีป้ายรถเมล์ประจำทางกว่า 4,300 ป้าย ในจำนวนนี้มีศาลาที่พักผู้โดยสารแล้วจำนวน 2,411 ป้าย เหลืออีกประมาณ 2,000 เศษ ที่ยังไม่มีศาลาที่พักผู้โดยสาร ดังนั้น กทม.จะเร่งดำเนินการสร้างเพิ่มเติมให้เสร็จสิ้น

นายสามารถ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีศาลาที่พักผู้โดยสาร เช่น บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นั้น กทม.ก็จะดำเนินการสร้างเพิ่มเติมเอง ส่วนพื้นที่ชั้นนอก หากเอกชนไม่สนใจกทม.ก็จะเข้ามาดำเนินการเอง โดยจะใช้งบประมาณของกทม.เองเช่นกัน

"รูปแบบของศาลาที่พักผู้โดยสารนั้นได้มอบหมายให้สำนักการเจรจรและขนส่ง (สจส.) ไปพิจารณาออกแบบ ขณะเดียวกันจะมีการทบทวนรายได้ที่เอกชนได้รับในการดำเนินการเรื่องป้ายโฆษณา และศาลาที่พักผู้โดยสารด้วยว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า กทม.เสียเปรียบก็จะขอเพิ่มผลตอบแทนจากเอกชนในช่วงที่มีการต่อสัญญาใหม่" นายสามารถกล่าว