ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > ยามาฮ่ามอเตอร์จัดกลุ่มธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าผลิต 6 แสนคันยึดแชร์ 30%
ยามาฮ่ามอเตอร์จัดกลุ่มธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าผลิต 6 แสนคันยึดแชร์ 30%
ที่มา - ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11-14 ส.ค.48

ยามาฮ่าฉลองครบรอบ 50 ปี ประกาศอีก 3 ปีขอแชร์ในไทยเพิ่มเป็น 30% ตั้งเป้าผลิต 6 แสนคันต่อปี เน้นตลาดส่งออก สั่งลูกทีมเร่งสร้างแบรนด์ใหม่

นายทาคาชิ คาจิคาวา ประธานบริษัทยามาฮ่ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุน ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยามาฮ่า รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้ตราสินค้ายามาฮ่า เปิดเผยในช่วงโอกาสครบรอบ 50 ปี ยามาฮ่า ถึงทิศทางและแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคตของยามาฮ่ามอเตอร์ ในประเทศไทย ว่า ตลาดของ ยามาฮ่า เริ่มต้นมาจากตลาดของรถแข่ง แต่วันนี้ ยามาฮ่า เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการทำกิจกรรมทางการตลาดของตลาดรถจักรยานยนต์ และมองเห็นถึงทิศทางการขยายการเติบโตไปทั่วโลก

โดยยามาฮ่ามอเตอร์ได้ปรับเปลี่ยนและรวบรวมกลุ่มธุรกิจใหม่ให้เป็น 17 เซ็กเมนต์ จากเดิมที่ค่อนข้างเยอะ โดยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา หลังจากการฉลองครบรอบ 50 ปีนับจากนี้ไป แผนการตลาดของยามาฮ่ามอเตอร์ จะเน้นใน 3 ประเด็นหลัก คือ (1) การสร้างแบรนด์ให้เป็นแบรนด์เฉพาะที่ไม่มีคู่แข่ง (2) พยายามสร้างกำไรให้กลายเป็นผู้นำของตลาดรถจักรยานยนต์ และ (3) พยายามสร้างส่วนแบ่งในตลาดให้เพิ่มมากขึ้น

ตลาดของรถจักรยานยนต์ของ ยามาฮ่ามอเตอร์ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด รวมถึงในกลุ่มของชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ปัจจุบันความต้องการของตลาดรถจักรยานยนต์เริ่มเปลี่ยนไป โดยเริ่มมีการมองหาตลาดใหม่มากขึ้น นอกเหนือจากตลาดยุโรปและญี่ปุ่นที่ถือว่าอยู่ตัวแล้ว ซึ่งบริษัทได้มองตลาดในประเทศอินเดีย, จีน, ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทย ที่มีแนวโน้มของตลาดที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตลาดประเทศไทยนั้น นายคาจิคาวามองว่า ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีความมั่นคงและแน่นอน โดยบริษัทจะเน้นไปที่การผลิตและการบริการให้มากขึ้น แม้ว่าตลาดในประเทศไทยจะอิ่มตัวเนื่องจากมีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เนื่องจากไทยถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นตลาดผลิตเพื่อการส่งออก และเน้นเจาะกลุ่มไปยังผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถคันที่ 2

ส่วนข้อตกลงทำสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หรือ FTA นั้น ยามาฮ่า ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทั้ง 2 ประเทศได้มีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวสำหรับ ยามาฮ่า ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวในภาคของอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในส่วนของ "รถยนต์" เป็นส่วนใหญ่กว่า 90% ในส่วนของตลาดรถจักรยานยนต์นั้นไม่ได้รับผลกระทบใดๆ มากนัก

ตลาดในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ดีมากตลาดหนึ่ง และมีแนวโน้มทิศทางการเติบโตในอนาคตสูง โดยเฉพาะตลาดออโตเมติก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน ซึ่ง ยามาฮ่า ได้เน้นเจาะกลุ่มไปยังกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่

นายประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยถึงการลงทุนในประเทศไทยใน 3 ปีนับจากนี้ว่า จะเป็นการลงทุนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 โดยระหว่างปี พ.ศ.2548-2550 นั้น ยามาฮ่า ได้ทุ่มงบประมาณการลงทุนสำหรับตลาดในประเทศไทยเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาท เป็นการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรองรับตลาด โดยตั้งเป้าเติบโตภายในระยะเวลา 2-3 ปีนับจากที่ทำไว้ที่ 30% บริษัทได้ลงทุนจำนวน 170 ล้านบาท เพื่อสร้างขยายเพิ่มโรงทำสี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2 หมื่นกว่าล้าน โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 70% และตลาดต่างประเทศ 30% ซึ่งตลาดต่างประเทศเป็นการส่งไปจำหน่ายทั้งคันในแถบประเทศกรีซ, ฟิลิปปินส์ และการส่งออกชิ้นส่วน-เครื่องยนต์เพื่อไปจำหน่าย ส่วนหนึ่งได้รับผลดีมาจากข้อตกลงอาฟต้า

สำหรับตลาดส่งออกนั้น บริษัทเชื่อว่าจะยังไม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีการลงทุนและลดจำนวนการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันถือว่าเป็นตลาดที่อิ่มตัวแล้ว เห็นได้จากจำนวนรถในตลาดรวมที่มีสูงกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งปีที่ผ่านมายามาฮ่ามีส่วนแบ่งในตลาดอยู่ประมาณ 13% มียอดขาย 2.8 แสนคัน ครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 ซึ่งถือว่ามีช่องว่างจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำของตลาด

ปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไว้ที่ 4 แสนคัน สำหรับตลาดในประเทศ โดยมีการขยายกำลังการผลิตมากขึ้นเนื่องจากตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูง โดยเชื่อว่า ยามาฮ่า มีโอกาสเติบโตในตลาดค่อนข้างสูง สังเกตได้ว่าจากปี 2541 ที่ยามาฮ่ามีแชร์อยู่เพียง 11% ของตลาดรวม ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 14% ภายในระยะเวลา 3 ปี และคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2551 ยามาฮ่า จะมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 30% สามารถผลิตรถจักรยานยนต์ได้จำนวน 6 แสนคัน

สำหรับกลยุทธ์การตลาดนั้น จะเน้นการสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างไป รวมถึงการสร้างเครือข่ายที่มีความมั่นคง โดยทำตลาดแบบเน้นไลฟ์สไตล์ รวมถึงการปรับปรุงตัวแทนจำหน่าย ร้านยามาฮ่าสแควร์ ที่เน้นเอกลักษณ์และสร้างภาพความเป็นยามาฮ่าในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร

ส่วนการแข่งขันในภาพรวมที่กลุ่มผู้ผลิตรายอื่นๆ จะเริ่มให้ความสำคัญและเตรียมออกรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ ในรูปแบบออโตเมติกนั้น นายประพันธ์ มองว่า การแข่งขันของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยถือเป็นการแข่งขันในตลาดเสรี ซึ่งหากคู่แข่งลงมาเล่นในตลาดออโตเมติกจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จะประสบความสำเร็จด้วยหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งบริษัทมั่นใจในความเป็นผู้นำของตลาดออโตเมติกของบริษัท

ส่วนแบ่งในตลาดรวมของประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณ 10% ถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ของ ยามาฮ่า เนื่องจากตลาดยามาฮ่าในภาพรวมทั่วโลกจะมีส่วนแบ่งในแต่ละตลาดประมาณ 40% ซึ่งถือเป็นตลาดปกติ นับจากนี้ไปบริษัทจะไม่ยอมเสียส่วนแบ่งในตลาดไปให้คู่แข่งอย่างง่ายๆ โดยจะเริ่มให้ความสำคัญและจริงจังกับการทำตลาดเพื่อไปให้ถึงเป้าที่ 30% ของตลาดรวม

"เรามีความมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยให้เพิ่มเป็น 30% ภายใน 3 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน นอกจากตลาดออโตเมติกที่เราเป็นผู้นำ ซึ่งปัจจุบันก็มีกำลังการผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด บริษัทอาจจะมีสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ออกมานำเสนอที่มีความแตกต่างออกไปจากตลาดเดิมๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน"

ส่วนกระแสของการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กอีโคคาร์ หรือเอซคาร์ ที่รัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น นายประพันธ์มองว่า โครงการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้ง หมด แต่โครงการดังกล่าววันนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมา คงจะต้องรอดูถึงความชัดเจนและความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวต่อไป