สกู๊ตเตอร์ จักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติก วันนี้กลายเป็นโมเดลที่ทุกค่ายผู้ผลิตต่างให้ความสนใจและความสำคัญเป็นพิเศษ หากมองย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน สกู๊ตเตอร์ กลับเข้ามาได้รับความนิยมในตลาดเมืองไทยอีกครั้ง ภายใต้การปลุกปั้นของค่าย ยามาฮ่า ซึ่งวันนี้กลายเป็นผู้นำของตลาดรถจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติก ที่ได้รับความนิยมและกลายเป็นเจ้าตลาดมียอดจำหน่ายสูงสุดอยู่ในขณะนี้
แม้ว่าค่ายยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งตลอดกาลอย่าง ฮอนด้า จะเคยมีรถสกู๊ตเตอร์ออกมาให้ตลาดเมืองไทยได้สัมผัสกันเมื่อหลายปีก่อน แต่กลับยังไม่เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จ เนื่องจากขณะนั้นสกู๊ตเตอร์สายพันธุ์คลาสสิกจากอิตาลี กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่มีใครไม่รู้จัก เวสป้า ส่งผลให้สกู๊ตเตอร์ของ ฮอนด้า มีอันต้องล้มพับและต้องกลับญี่ปุ่นไปจวบจนทุกวันนี้
สำหรับตลาดโดยรวมของเอเชีย สกู๊ตเตอร์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน แต่สำหรับตลาดเมืองไทยแล้ว การเข้ามาของสกู๊ตเตอร์จากค่ายต่างๆ ยังถือเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพโดยรวมแล้ว ตลาดรถจักรยานยนต์ในเมืองไทยที่มักจะได้รับความนิยมและครองใจคนไทยยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัว
วันนี้มีหลายค่ายได้เตรียมส่งสกู๊ตเตอร์เพื่อขอส่วนแบ่งสำหรับตลาดเมืองไทย ล่าสุด ค่าย ซูซูกิ เป็นค่ายที่ 2 ที่ขอเกาะขบวนรถไฟสายสกู๊ตเตอร์ เพื่อไม่ให้ต้องเสียพื้นที่ของตลาดไปโดยไม่ทำอะไร ด้วยการส่ง ซูซูกิ สเตป 125 ร่วมขบวนครั้งนี้ หลังจากต้องอกหักจากการแคมเปญสร้างภาพลักษณ์ใหม่กับปฏิบัติการ ซูซูกิ Life is Action ด้วยการดึงเอา 2 ซูเปอร์สตาร์ของเอเชีย วังลีฮอม และ ทาทา ยัง ร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
แม้กระแสปฏิบัติการดังกล่าว หลายคนมอง ดูคล้ายกับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แต่ เลิศศักดิ์ นววิมาน หัวเรือใหญ่ของ ซูซูกิ ยังยืนยันว่า ปฏิบัติการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แม้ปฏิบัติการในเฟสแรกจะดูเงียบไปเล็กน้อย แต่ก็สามารถสร้างชื่อและทำให้คนรู้จัก ซูซูกิ ในภาพลักษณ์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น
ล่าสุด ซูซูกิ ตัดสินใจส่งสกู๊ตเตอร์ลงสู้ศึกในตลาดในเฟสที่ 2 พร้อมกับการเกาะกระแส มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง ด้วยการดึงนักร้องขวัญใจวัยรุ่นอย่าง โปเตโต้ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เรียกคะแนนความนิยมจากกลุ่มเป้าหมาย ปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็น "สูตรสำเร็จ" ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงรถจักรยานยนต์ และไม่ต่างกับเส้นทางที่ ยามาฮ่า เลือกเดินเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และส่งผลให้ ยามาฮ่า ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
ทั้งนี้ ตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัว ในประเทศไทยยังคงเป็นรถที่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงที่สุดกว่า 82% และยังคงมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยในปีที่แล้วรถจักรยานยนต์ครอบครัวมีสัดส่วนสูงถึง 107.82% และในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม รถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวมียอดจำหน่ายสูงถึง 991,135 คัน
นอกจากรถจักรยานยนต์ครอบครัว จะเป็นที่น่าจับตามองแล้ว สกู๊ตเตอร์ถือเป็นรถอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย โดยมีอัตราเติบโตสูงขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน สกู๊ตเตอร์กลายเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีตลาดใหญ่ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากตลาดรถจักรยานยนต์ครอบครัว โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 133.86% (ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค.) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในวันนี้กำลังจะก้าวเข้าไปสู่วังวนที่นักการตลาดเรียกว่า จุดอิ่มตัว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการแข่งขันของตลาดรถจักรยานยนต์ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา ทั้งกลยุทธ์การตลาดต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และยังมีโปรโมชั่นต่างๆ
ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่สะพัดอยู่ในแวดวงรถจักรยานยนต์ โดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการกระจายและครอบคลุมสื่อประเภทต่างๆ เพื่อเป็น การตอกย้ำภาพลักษณ์ของสินค้านั้นๆ รวมถึงการรองรับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และมีความจงรักภักดีในแบรนด์สินค้า
ส่วนเจ้าตลาดอย่าง ฮอนด้า และค่ายอื่นๆ ที่วันนี้ยังจดๆ จ้องๆ กันอยู่ ว่าจะร่วมขบวนส่ง สกู๊ตเตอร์ เพื่อขอส่วนแบ่งตลาดที่กำลังมีแนวโน้มที่สดใสด้วยหรือไม่ หลังจากที่มีกระแสข่าวออกมาโดยตลอดว่า ฮอนด้า เองคงไม่ยอมปล่อยให้ ยามาฮ่า และ ซูซูกิ ลอยลำครองส่วนแบ่งในตลาดไปได้นาน เชื่อว่า ฮอนด้า คงจะกระโดดเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์นี้อย่างแน่นอน แต่จะเป็นช่วงเวลาใดที่จะเหมาะเจาะและลงตัว คงจะต้องเป็นเรื่องที่น่าติดตามและสนใจไม่น้อย
ด้าน ยามาฮ่า จะยังคงรักษาอันดับแชมป์สกู๊ตเตอร์ของเมืองไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่นหรือไม่ ในเมื่อทุกค่ายต่างมุ่งหน้าลงสู้ศึกในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง