ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2548 > ไฟเขียวจัดระเบียบจยย.รับจ้าง คาดสัปดาห์หน้าบังคับใช้กม.
ไฟเขียวจัดระเบียบจยย.รับจ้าง คาดสัปดาห์หน้าบังคับใช้กม.
ที่มา - โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 ต.ค.48

จักรยานยนต์รับจ้างเตรียมเข้าระบบ กรมการขนส่งทางบกชวนผู้ประกอบการเร่งติดต่อขอทำใบขับขี่-ป้ายทะเบียน นายพงศ์พันธุ์ เชิดชู โฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกาศใช้พระราชบัญญัติรถยนต์ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2547 (ควบคุมการใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง) ว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงจำนวน 7 ฉบับ ได้ผ่านการลงนามจากกระทรวงคมนาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวประกอบด้วย

1. กฎกระทรวงกำหนดขนาดความจุของกระบอกสูบของรถจักรยานยนต์ สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
2. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
3. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาต ขับรถ และการขอต่ออายุ และการอนุญาตให้ต่อ ใบอนุญาตขับรถ
4. กฎกระทรวงกำหนดเครื่อง แต่งกาย เครื่องหมาย ประวัติคนขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
5. กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
6. กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารของผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ และ
7. กฎกระทรวงว่าด้วยคณะกรรมการประจำจังหวัด และเงื่อนไขการขอจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ

นายพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคับคั่งในการขอรับบริการด้านการทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง กระทรวงขอเชิญชวนให้มาดำเนินการอบรมและทดสอบเป็นการล่วงหน้าได้ สำหรับการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ สามารถ นำมาตรวจสภาพล่วงหน้าได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ก็สามารถนำหลักฐานที่มีอยู่มาขอรับใบขับขี่และเปลี่ยนป้ายเหลืองได้ทันที

สำหรับการดำเนินการด้านทะเบียนรถ จักรยานยนต์รับจ้าง (ป้ายเหลือง) เจ้าของรถจะต้องติดต่อขอหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์ สาธารณะ จากสำนักงานเขต กทม.ที่ทำการสำรวจและขึ้นบัญชีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างไว้ ในส่วนภูมิภาคติดต่อ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสถานีตำรวจภูธรที่ทำวินมอเตอร์ไซค์ เมื่อได้หลักฐานดังกล่าวแล้วจึงนำมาประกอบการยื่นขอจดทะเบียน เป็นจักรยานยนต์สาธารณะ ได้ที่หน่วยงานของกรม การขนส่งทางบกต่อไป

ปัจจุบัน มีรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ทั่วประเทศกว่า 2.8 แสนคัน แบ่งเป็นพื้นที่ในเขต กรุงเทพฯ 1.1 แสนคัน และต่างจังหวัด 1.7 แสนคัน ซึ่งหลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะต้องปรับเปลี่ยนป้ายทะเบียนส่วนบุคคลหรือป้ายขาวดำ มาเป็นป้ายทะเบียนรับจ้างสาธารณะหรือป้ายเหลือง รวมทั้งจะมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งจะมีคณะกรรมการกลางของแต่ละจังหวัดเป็นผู้กำหนด