ตลาดมอเตอร์ไซค์เมืองขอนแก่น ปี 48 แข่งขันระอุ เหตุดีลเลอร์ใหม่ผุดทั่วมุมเมือง รับตลาดค้าเสรีดันยอดขายตามเป้าหมายของบริษัทแม่ เผชิญไฟแนนซ์แย่งตลาดเช่าซื้อ ด้านสองล้อจีน เจาะตลาดลำบาก ดั๊มป์ราคาไม่เป็นผล เหตุภาพลักษณ์ คุณภาพสินค้า เป็นรอง ทั้งพ่ายระบบเช่าซื้อที่แข็งแกร่ง ชี้ปัญหาราคาน้ำมันแพง ส่งผลกระทบในเชิงบวก ค่ายฮอนค้ายังครองผู้นำตลาด เหตุชูจุดขายเครื่อง 4 จังหวะได้ผล
ตลาดรถจักรยานยนต์ขอนแก่นในยุคการค้าเสรี ที่ทลายกำแพงภาษีเปิดโอกาสให้รถจักรยานยนต์จากหลายประเทศเข้ามาทำตลาด แต่ภาพรวมที่ผ่านมา จักรยานยนต์ค่ายญี่ปุ่นยังครองตลาดหลัก ทั้งเร่งขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วทุกมุมเมือง
นายวิเชียร อรุณไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.มอเตอร์เซลส์ จำกัด ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ยามาฮ่า ในจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยผู้จัดการรายวันถึงตลาดรถจักรยานยนต์ในจังหวัดขอนแก่นว่า สถานการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 48 มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก เนื่องจากมีตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ เกิดขึ้นหลายราย เปิดดำเนินงานและรุกขยายสาขาครอบคลุมทั่วเขตเทศบาลนครขอนแก่น
ขณะนี้มีตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น รวมแล้วกว่า 10 บริษัท ไม่รวมผู้ค้ารายย่อยที่รับช่วงนำรถจักรยานยนต์จากดีลเลอร์มาจำหน่าย ซึ่งโดยปกติตลาดที่มีประชากรหนาแน่น จะมีดีลเลอร์อย่างมากไม่เกิน 4-5 ราย ทำให้การแข่งขันสูงกว่าแห่งอื่น
ภาพการแข่งขันที่เกิดขึ้น แต่ละบริษัท จะรุกขยายสาขาออกไปในย่านธุรกิจหรือชุมชน เพื่อดักกำลังซื้อและให้บริการหลังการขายกับลูกค้าที่ซื้อรถจักรยานยนต์ไปแล้ว เป้าหมายหลักเพื่อช่วงชิงยอดขายในตลาดที่มีอยู่จำกัด ผู้ขายต้องเสนอกลยุทธ์ทั้งด้านราคา เงื่อนไขการขาย กระตุ้นความสนใจกับลูกค้าเป้าหมาย ผลกำไรเชิงธุรกิจ จึงค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา ตลาดรถจักรยานยนต์มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการรถจักรยานยนต์ขยายตัวในทิศทางการเดียวกัน โดยเฉพาะปี 2547 ที่ผ่านมานั้น ได้รับแรงสนับสนุนจากระบบสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทไฟแนนซ์ ที่รุกเข้ามาทำตลาดเช่าซื้อในต่างจังหวัด ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ขยายตัวสูงมาก
นายวิเชียรกล่าวต่อว่า การรุกเข้ามาทำตลาดเช่าซื้อจักรยานยนต์ของบริษัทไฟแนนซ์ อาทิ บริษัท อิออน , จีอี , อีซี่บาย สามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาด ที่ดึงดูดใจลูกค้ากระตุ้นให้เกิดการซื้อได้มาก โดยประสานทำงานกับดีลเลอร์เกือบทุกแห่ง จัดสินเชื่อให้ลูกค้าในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วางเงินดาวน์ต่ำ และล่าสุดไม่ต้องวางเงินดาวน์ ทำให้ยอดขายจักรยานยนต์โดยรวมเติบโตขึ้นมาก
การเข้ามาแชร์ตลาดเช่าซื้อจักรยานยนต์ ในแง่ดีคือ ดีลเลอร์ลดความเสี่ยงทางการเงินลง ทั้งช่วยสร้างตัวเลขยอดขายได้ตามเป้าหมายที่บริษัทแม่ต้องการ แต่อีกด้านเป็นการเสียตลาดเช่าซื้อไปให้บริษัทไฟแนนซ์ ซึ่งดีลเลอร์ต้องยอมรับผลกำไรต่อหน่วยค่อนข้างน้อย ในแง่ส่วนแบ่งประมาณคันละ 1,000 บาทเท่านั้น หากดีลเลอร์จัดสินเชื่อให้กับลูกค้าเองจะได้กำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยสูงกว่านี้
น้ำมันแพงกระทบในแง่บวกสองล้อเมืองจีนเจาะตลาดยาก
ด้านนายสุรชัย ลีสิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยมงคลมอเตอร์ จำกัด ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ฮอนด้า ในจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ ณ ปัจจุบัน เป็นตลาดของผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกซื้อสินค้า จากผู้ค้าหลายรายในตลาด ได้รับผลดีจากระบบสินเชื่อเช่าซื้อรองรับ ส่วนผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาการแข่งขันรุนแรง และมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง
ตลาดรถจักรยานยนต์ครึ่งปี 48 (ม.ค.-มิ.ย.48) ขยายตัวด้านยอดขายสูงมาก เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นซื้อ ของบริษัทไฟแนนซ์ให้วางเงินดาวน์ต่ำ หรือไม่ต้องวางเงินดาวน์ กระตุ้นลูกค้าเป้าหมายตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่เร็วขึ้น อีกทั้งลูกค้าที่ซื้อจักรยานยนต์ไปแล้ว มีอัตราการเปลี่ยนรถจักรยานยนต์คันใหม่เร็วขึ้น จากการแข่งขันของผู้ผลิตที่ส่งรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
อย่างไรก็ตาม แม้ยอดขายรถจักรยานยนต์ใหม่ จะมีตัวเลขค่อนข้างสูง แต่รถจักรยานยนต์เก่า หรือจักรยานยนต์มือสอง กลับไม่ขยายตัวเหมือนกับรถใหม่ ยอดขายกลับลดลงด้วย เพราะกลยุทธ์ไม่มีดาวน์ ทำให้ค่าใช้จ่ายการออกรถใหม่/เก่า ไม่ต่างกัน ดังนั้นลูกค้าจึงเลือกซื้อรถใหม่มากกว่าที่จะซื้อรถมือสอง
นายสุรชัยกล่าวถึงกรณีราคาน้ำมันแพงว่า กรณีที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในแง่ผลกระทบกับตลาดรถจักรยานยนต์นั้น จะส่งผลกระทบในเชิงบวกมากกว่า เนื่องจากรถจักรยานยนต์ ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ารถยนต์มาก ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กลุ่มผู้ใช้รถยนต์จำนวนมาก จะเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์แทนรถยนต์เพิ่ม จึงเกิดความต้องการซื้อจักรยานยนต์ไว้ใช้งานในครอบครัว ส่งผลดีต่อตลาดจักรยานยนต์
ส่วนกรณีที่ตลาดรถจักรยานยนต์จากประเทศจีน รุกเข้ามาทำตลาดในจังหวัดขอนแก่นนั้น ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ผลิตรายใด รุกเข้ามาตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในจังหวัดขอนแก่น แต่ก็มีความเคลื่อนไหวเข้ามาสำรวจตลาดบ้าง ซึ่งในทางปฏิบัติโอกาสทางการตลาดของจักรยานยนต์จีนในขอนแก่นมีค่อนข้างน้อย
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยมงคลมอเตอร์ กล่าวต่อว่า ภาพลักษณ์สินค้า คุณภาพการผลิต จักรยานยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่ผลิตในประเทศไทย สร้างสมมายาวนาน ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า แม้จักรยานยนต์จีนจะอาศัยกลยุทธ์ด้านราคาต่ำกว่า แต่เชื่อว่าลูกค้ามีการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภคปัจจุบันรวดเร็วและเพียงพอ จะพิจารณาใช้เปรียบเทียบคุณภาพและตัดสินใจเลือกจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย
และที่สำคัญ ระบบการขายในจังหวัดขอนแก่น มีระบบสินเชื่อเช่าซื้อรองรับที่แข็งแกร่ง จากบริษัทไฟแนนซ์ ราคาที่ต่ำกว่า จึงไม่มีผลในเชิงการตลาดนัก ต่างจากการรุกตลาดที่สปป.ลาว และเวียดนาม จักรยานยนต์จีนประสบผลสำเร็จเบียดตลาดจักรยานยนต์นำเข้าจากประเทศไทย ครองผู้นำยอดขายในทั้งสองประเทศได้ เพราะราคาต่างกันเกือบครึ่ง และทั้งสองประเทศ ไม่มีระบบสินเชื่อเช่าซื้อรองรับ ต้องซื้อเป็นเงินสด กลยุทธ์ด้านราคาจึงเกิดผล
ด้านนายเมธา ศิริประยูรศักดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท วัฒนายนต์ ซูซูกิ จำกัด ผู้ค้ารถจักรยานยนต์รายใหญ่ในเขตจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และอุดรธานีกล่าวถึงการรุกตลาดรถจักรยานยนต์จากประเทศจีนว่า ช่วงต้นปี 2548 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลการรุกตลาดจักรยานยนต์จีนเข้ามาในภาคอีสาน โดยที่จังหวัดชัยภูมิได้เปิดร้านตัวแทนจำหน่าย จยย.ยี่ห้อ ฮาร์ดี้ และเจอาร์ดี
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมมีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ แพล็ตตินั่ม ส่วนจังหวัดอื่นยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายเกิดขึ้น ผลการทำตลาดรถจักรยานยนต์จีนที่จังหวัดชัยภูมิ ไม่ประสบผลสำเร็จ ยอดขายเกิดขึ้นน้อยมาก จนกระทั่งดีลเลอร์ของฮาร์ดี้ต้องปิดตัวลงในที่สุด ส่วนยี่ห้ออื่นพอประครองตลาดไปได้เท่านั้น
สาเหตุหลักที่จักรยานยนต์จีนไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะคุณภาพของสินค้า และมาตรฐานการประกอบ เป็นจุดหลัก ทั้งสองเรื่องถือเป็นหัวใจสำคัญของรถจักรยานยนต์จีน ยังเป็นรองรถจักรยานยนต์ที่ประกอบในประเทศไทยอยู่มาก จะต้องใช้เวลาในการพัฒนามาตรฐานการผลิตชิ้นส่วน และการประกอบอีกยาวนาน จึงจะสามารถแข่งขันในทางตลาดได้
ส่วนแนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ปี 49 ยอดขายไม่น่าเพิ่มขึ้น จะทรงตัวพอๆ กับปี 48 หรือหากมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตไม่น่าจะเกิน 5-8% เนื่องจาก การแข่งขันที่รุนแรง ได้สร้างยอดขายสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดเริ่มอิ่มตัว อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจปีหน้า มีปัญหาทั้งภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และปัญหาน้ำมัน กระทบต่อฐานรายได้ประชาชนส่วนใหญ่
สองล้อค่ายฮอนด้าครองตลาด
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคมอเตอร์เซลส์ กล่าวถึงส่วนแบ่งตลาดว่า ด้านยอดขายจักรยานยนต์ค่ายต่างๆ พบว่าฮอนด้า เป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ในจังหวัดขอนแก่นเกินกว่า 50% มาอย่างต่อเนื่องหลายปี ในลักษณะเดียวกับภาพรวมทั้งประเทศ รองลงมาคือค่ายยามาฮ่า และซูซูกิ ที่มีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน ตามระดับการรุกตลาดส่งรถใหม่สู่ตลาด ส่วนคาวาซากิมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก
"ฮอนด้า เป็นผู้นำตลาด เพราะดำเนินกลยุทธ์จับตลาดถูกทิศทาง และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยฮอนด้า เป็นผู้เปิดตลาดเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะและยืนหยัดทำตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทนี้มาหลายปี ขณะที่ค่ายอื่นเน้นทำตลาดเครื่องยนต์ 2 จังหวะ อีกทั้งฮอนด้าได้ชูภาพลักษณ์เป็นเครื่องยนต์ที่ทนทาน ประหยัดน้ำมัน ไม่มีปัญหาจุกจิก ราคาขายต่อดี"นายวิเชียรกล่าว
เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เรื่องมลพิษไอเสียต้องผ่านค่ามาตรฐานที่รัฐกำหนด เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ผ่านมาตรฐานสบาย ขณะที่เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ส่วนใหญ่มีค่ามลพิษสูงกว่ามาตรฐานมาก อานิสงค์จึงตกกับฮอนด้า ยอดขายเพิ่มแบบถล่มทลาย กลายเป็นผู้นำตลาดและสร้างตลาดรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะกลายเป็นตลาดหลักของประเทศไทยไปทันที