"ฮอนด้า" ทุ่มเม็ดเงินกว่าหมื่นล้านขยายการลงทุนและพัฒนาอาร์แอนด์ดีในโซนเอเชีย-โอเชียเนีย พร้อมเปิดตัว จยย.เกียร์ออโตครั้งแรกของเมืองไทย หลังทุ่มงบฯกว่า 700 ล้านในการพัฒนา เตรียมส่งอีก 1 รุ่นสู้ศึกกลางปีนี้
นายโมโตฮิเดะ ซูโดะ รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า จากภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในตลาดภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนียในปีที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะมียอดจำหน่ายรวม 18.5 ล้านคัน และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคันภายในปีนี้ จากแนวโน้มยอดการจำหน่ายของ ฮอนด้า ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทเตรียมทุ่มงบประ มาณเพื่อใช้ในแผนการขยายลงทุนมูลค่ารวม 30,000 ล้านเยน หรือ 11,100 ล้านบาท ในระหว่างปี พ.ศ.2548-พ.ศ.2549 เพื่อ เพิ่มกำลังการผลิตของฐานการผลิตในภูมิภาคนี้
โดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์, ปากีสถาน, อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นหลัก เพื่อเป็นการพัฒนาในเรื่องของ "R&D" และการขยายกำลังการผลิต จากจำนวน 8 ล้านคัน ในปี พ.ศ.2547 มาเป็น 14 ล้านคัน ภาย ในปี พ.ศ.2550 และจะส่งผลให้ ฮอนด้า มียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี พ.ศ.2549 ถึง 10.3 ล้านคัน และจะสูงถึง 12 ล้านคันในปี พ.ศ.2550
สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงถือเป็นศูนย์กลางตลาดรถจักรยานยนต์ของภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องของ "R&D" ที่ไทยถือว่ามีความพร้อมทั้งในด้านของพื้นที่ บุคลากร และคุณภาพในทุกๆ ด้าน ซึ่งประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากในอนาคต
นายชูโดะกล่าวต่อไปถึง บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ว่า ได้เตรียมงบประมาณมูลค่า 6,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อใช้ในการลงทุนสำหรับรถใหม่ อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิต และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม งบฯการลงทุนสำหรับรถจักรยานยนต์เกียร์ออโต automatic transmission หรือ AT ใช้งบประมาณในการลงทุนสำหรับปีนี้ทั้งสิ้น 700 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของรถ ฮอนด้าคลิก (CLICK) รถเอทีล่าสุดรุ่นแรกในอาเซียน บริษัทได้ใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งสิ้น 400 ล้านบาท โดยใช้ในส่วนของการผลิตเครื่องยนต์ 300 ล้านบาท และในส่วนของการผลิตตัวถังอีก 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะส่งรถของรถ "AT" รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอีก 1 รุ่นในช่วงกลางปีนี้ โดยใช้งบประมาณในการลงทุนจำนวน 100 ล้านบาท สำหรับสาเหตุที่เงินลงทุนในส่วนรถของรถ "AT" รุ่นนี้อยู่ที่ 100 ล้านบาทนั้น เนื่องจากในส่วนของไลน์การผลิตรถจักรยานยนต์ของรถ "AT" ได้มีการลงทุนไปในเบื้องต้นแล้วสำหรับ "ฮอนด้าคลิก"
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ของเมืองไทยนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวม 2,100,000 คัน โต 3% จากปี 2547 โดยเป็นรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า 1,420,000 คัน ส่วนในปีนี้นั้นบริษัทตั้งเป้ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ไว้ที่ 1.5 ล้านคัน จากยอดการจำหน่ายรวมที่ 2.15 ล้านคัน ซึ่งคาดว่าในส่วนของรถ "AT" ฮอนด้า จะสามารถจำหน่ายได้ถึง 2.5 แสนคัน จากตลาดรวมของรถ "AT" ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 6 แสนคันในปีนี้
ปัจจุบันกำลังการผลิตในส่วนของรถจักรยานยนต์ "AT" อยู่ที่ 2.5 แสนคัน โดยสามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพื่อตอบสนองตามความต้องการของตลาด ส่วนแผนในการผลิตรถ "AT" เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั้น ขณะนี้บริษัทยังไม่มีแผนในการส่งออกรถจักรยานยนต์ "AT" ไปจำหน่ายแต่อย่างใด แต่จะเป็นการดำเนินในรูปแบบของการเข้าไปลงทุนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศนั้นๆ แต่ในส่วนของอะไหล่และชิ้นส่วน (CKD) จะมีส่งออกจากประเทศไทยเพื่อไปจำหน่ายยังประเทศนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2-3 ประเทศ
รถจักรยานยนต์ "AT" หรือ automatic Transmission "ฮอนด้าคลิก" นี้ถือเป็นรถที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดของ ฮอนด้า ที่มีความโดดเด่นในด้านเครื่องยนต์ 4 จังหวะ 110 ซีซี ที่ทรงพลัง เปี่ยมประสิทธิภาพด้วยระบบระบายความร้อนด้วยน้ำแบบบิลต์อิน ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ อัตราเร่งดี เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยระบบกระจายแรงเบรกทั้งล้อหน้าและล้อหลังอย่างสมดุลด้วยระบบคอมไบเบรก (combi brake system)
ฮอนด้าคลิก มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ซึ่งเป็นรถฮอนด้า "AT" ที่สมบูรณ์แบบรุ่นแรก ตามคอนเซ็ปต์ Keen and Sharp หรือ "เฉียบ คม คลิก" เพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นได้อย่างลงตัว คือ รุ่น Click Start ดรัมเบรกและล้อซี่ลวด ราคาตลาดประมาณ 42,000 บาท, รุ่น Click Tune-Up ดิสก์เบรกหน้า และล้อซี่ลวด ราคาประมาณ 44,000 บาท และรุ่น Click Forward ซึ่งเป็นรุ่นท็อป ที่เป็นล้อแม็ก ดิสก์เบรกหน้า และใช้ระบบเบรกแบบ combi brake system ราคาประมาณ 47,500 บาท โดย 2 รุ่น Click Forward และ Click Tune-Up จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ส่วนรุ่น Click Start จะเริ่มจำหน่ายหลัง 2 รุ่นแรกอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
"เราเชื่อว่าการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ในส่วนของรถ AT นี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดรถครอบครัวบ้างเล็กน้อย เนื่องจากจะมีลูกค้าบางกลุ่มที่หันมาให้ความสนใจในรถ AT มากขึ้น แต่เราก็ยังมั่นใจและยืนยันว่าในส่วนของรถครอบครัวยังคงเป็นหัวใจหลักของ ฮอนด้า เหมือนเดิม สำหรับส่วนแบ่งในตลาดของรถ AT เราไม่ได้วางไว้ แต่เราตั้งเป้าเพียงต้องการจำหน่ายให้ได้ถึงเป้าที่เราตั้งไว้ที่ 2.5 แสนคันในปีนี้"
ความสำเร็จของ ฮอนด้า ในปีที่ผ่านมา เกิดจากความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า พร้อมทั้งบริการก่อนและหลังการขายอย่างครบวงจรที่ศูนย์จำหน่ายบริการ CSI 810 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2549 ตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมจะขยายขึ้นเป็น 2,150,000 คัน และตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ทั้งสิ้น 1,500,000 คัน
นอกจากนี้ ฮอนด้า ยังมีแผนในการพัฒนาศูนย์จำหน่ายบริการใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ทันสมัยครบวงจรและเป็นมิตรกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย (advance and friendly) ปัจจุบัน ฮอนด้า มีเครือข่าย ศูนย์จำหน่ายบริการรวม 1,066 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นศูนย์จำหน่ายบริการ CSI 814 แห่ง และศูนย์บริการของผู้จำหน่ายอีก 252 แห่ง
โดยศูนย์จำหน่ายบริการใหม่จะมีเว็บไซต์ให้แต่ ละศูนย์บริการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า อันเป็นกิจกรรมเสริมรูปแบบหนึ่ง จากกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์โดยผ่านศูนย์จำหน่ายบริการ CSI รวมถึงมุมผลิต ภัณฑ์แฟชั่นมากมายจากฮอนด้า อาทิ อุปกรณ์ประดับรถ และชุดเครื่องแต่งกาย ซึ่งศูนย์จำหน่ายบริการรูปแบบใหม่นี้เรียกว่า Advanced CSI Shop ที่ปัจจุบันมีประมาณ 50 แห่ง โดยจะขยายให้มีประมาณ 200 แห่งภายในสิ้นปีนี้ และจะมีครบ 800 แห่งทั่วประเทศภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังได้ดำเนินกิจกรรมขับขี่ปลอดภัยมากว่า 17 ปี โดยมีผู้ผ่านการอบรมในหลักสูตรแล้ว 7.4 ล้านคน และฝึกครูมาแล้วกว่า 20,300 คน อีกทั้งยังมุ่งสนับสนุนให้ผู้จำหน่ายสร้างสนามฝึกขับขี่ปลอดภัย พร้อมทั้งเป็นโรง เรียนสอนขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อขอใบอนุญาตขับขี่ตามนโยบายของรัฐ โดยผู้จำหน่ายในจังหวัดเชียงรายได้เปิดดำเนินการสนามดังกล่าวเป็นแห่งแรก