ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2549 > รถจักรยานยนต์ไทยปี 49
รถจักรยานยนต์ไทยปี 49 : ตลาดภายในใกล้อิ่มตัว ตลาดส่งออกมีศักยภาพสูง
ที่มา – ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 26-28 ม.ค.49

ในปี 2548 ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีความผันผวนค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ยังคงรุนแรง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ทั้งระบบ (ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์) ประกอบกับสภาวะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัว ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2548 ค่อนข้างซบเซา ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ตลอดปีมีการขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.0 ด้วยยอดขายประมาณ 2.11 ล้านคัน ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงมากเทียบกับที่ได้เคยเติบโตถึงร้อยละ 14.7 และร้อยละ 33.1 ในปี 2547 และ 2546 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีการคาดว่าในปี 2549 ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศจะมีการขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมทั้งสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศเองที่ใกล้จะอิ่มตัว ทั้งนี้ ตลาดน่าจะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น ด้วยยอดจำหน่ายรวมทั้งปีจะอยู่ที่ใกล้ๆ 2.2 ล้านคัน

ในขณะที่ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ภายในประเทศที่กำลังจะอิ่มตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกรถจักรยานยนต์กลับมีแนวโน้มขยายตัวอย่างเด่นชัด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค่ายรถจักรยานยนต์ต่างมองเห็นศักยภาพการขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนทำให้มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบของไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50-60 เป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และมาเลเซีย อันเป็นผลจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซี่ยนหรืออาฟต้า คาดว่าการส่งออกจะยังคงไปได้ดีต่อเนื่องในปี 2549 ด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 30-35 ทำให้มูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบของไทยในปี 2549 น่าจะสูงถึงประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นที่สำคัญ ตลอดจนแนวโน้มอุตสาหกรรมและภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ของไทย ดังนี้

ปัจจุบันตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยค่ายรถต่างๆ พยายามใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อรักษาหรือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดระหว่างกัน ค่ายผู้ผลิตรายอื่นๆ ทั้งจากภายในประเทศ คือ รถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ ของคนไทย และจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซียที่ผลิตรถจักรยานยนต์ เจอาร์ดี อีกทั้งรถจักรยานยนต์จากประเทศจีน ต่างกำลังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้การรุกตลาดของรถจักรยานยนต์ราคาถูกจากจีนกำลังเป็นที่จับตามองจากผู้ประกอบการเดิมในตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รายเดิมในตลาดมองว่า รถจักรยานยนต์จากจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่น่าจะเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในบางเซ็กเมนท์ โดยเฉพาะในตลาดล่างเป็นหลัก

นอกจากจำนวนผู้ประกอบการในตลาดที่เพิ่มขึ้นแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ก็จะเพิ่มอุณหภูมิการแข่งขันรวมทั้งทำให้ตลาดคึกคักและมีสีสันขึ้นด้วย โดยเฉพาะการที่ผู้ผลิตหลายค่ายได้นำรถจักรยานยนต์แบบเกียร์ออโตเมติกออกสู่ตลาด โดยหวังจะดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น

แม้ว่าโดยทั่วไปวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันจะได้ส่งผลกระทบต่อตลาดยานยนต์ในประเทศ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทำให้ยอดขายชะลอตัวลงไม่เติบโตมากเหมือนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์บางรายกลับเห็นว่า ภาวะราคาน้ำมันที่รุนแรงขึ้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง น่าจะกระทบตลาดรถยนต์มากกว่าตลาดรถจักรยานยนต์ ซึ่งจัดเป็นยานพาหนะที่สิ้นเปลืองต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่ายานยนต์ประเภทอื่นๆ ตลาดรถจักรยานยนต์จึงสามารถปรับตัวจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดผู้บริโภคในต่างจังหวัดและผู้มีรายได้ไม่มาก ซึ่งวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันอาจเพียงช่วยยืดเวลาที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศจะเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวออกไปได้อีกระยะหนึ่งก็เป็นได้

ภาวะชะลอตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ประกอบกับแนวโน้มการอิ่มตัวของตลาดในประเทศ จะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขยายตลาดส่งออกมากขึ้นไปอีก ซึ่งนั่นหมายถึงการผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบเพื่อการส่งออกจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลกหรือเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียนั้น ได้รวมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทยด้วย

โดยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มองเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของไทยว่ายังไปได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออก แม้ว่าตลาดในประเทศปัจจุบันจะมีอัตราเติบโตที่ชะลอตัวลงก็ตาม ทั้งนี้จุดแข็งของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีแรงงานที่มีความสามารถในการผลิต โดยสามารถผลิตชิ้นส่วนได้ครบและผลิตรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์เนมต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของโลกมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า ยามาฮ่า ซูซูกิ คาวาซากิ ฯลฯ

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐที่ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มาโดยตลอด ทำให้อุตสาหกรรมนี้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ของไทย ก็ยังมีจุดอ่อนซึ่งเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยโดยรวมที่ต้องปรับปรุงแก้ไข อันได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง อีกทั้งอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จะมาสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ ก็ยังต้องมีการพัฒนาเพื่อให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากกว่านี้

ส่วนในด้านโอกาสนั้น การขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของตลาดสูง ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา เวียดนาม ลาว ประกอบกับการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคอาเซี่ยนหรืออาฟต้า ได้ทำให้ตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยขยายตัวอย่างมาก รวมทั้งตลาดส่งออกหลักของรถจักรยานยนต์ไทยอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ยังคงมีศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม การเปิดการค้าเสรีมากขึ้นดังกล่าว ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านตรงข้าม อันอาจเป็นการเพิ่มอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย ที่สำคัญก็คือ ภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันจากรถจักรยานยนต์จีนที่เข้ามาตีตลาดไทย แต่ในขณะเดียวกันการประกาศใช้มาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นในตลาดต่างประเทศตามเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถจักรยานยนต์ไทยสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศก็จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานตามเกณฑ์สากลที่นับวันจะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี จากปัจจุบันที่การส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีการเติบโตเป็นลำดับ ด้วยมูลค่ากว่า 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะขยายตัวต่อไปอีกประมาณร้อยละ 30-35 ในปี 2549 นี้ มาอยู่ที่มูลค่าประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าในขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมีอัตราการเติบโตที่เชื่องช้าลง แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงจะขึ้นกับศักยภาพในการส่งออกเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงอนาคตของอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย เช่นเดียวกับในกรณีของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่กำลังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออก หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย