มาต่อแนวคิดให้จัดทำช่องเดินรถจักรยานยนต์ ซึ่งคุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสำนักแผนความปลอดภัย สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เสนอในการสัมมนาอุบัติเหตุจราจร จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็วๆ นี้
มาตรการด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ทำกันพอสมควรแล้ว ทั้งการเปิดไฟหน้าและไฟท้ายในขณะขับขี่ แต่ปัญหาที่พบคือผู้ขับขี่ในต่างจังหวัดไม่ให้ความสำคัญกับไฟท้ายเท่าที่ควร บางครั้ง ไฟก็ขมุกขมัว ไม่ส่องสว่าง เพราะไม่ได้ทำความสะอาด เลอะฝุ่นโคลน, การสวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่และซ้อนท้าย, การซ้อนท้ายที่ถูกต้อง (การนั่งคร่อม) และไม่เกิน 1 คน แต่ยังไม่มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังนัก, การขับขี่ในช่องทางด้านซ้ายและการจัดทำช่องรถจักรยานยนต์
รูปแบบการจัดช่องทางรถจักรยานยนต์นั้น นอกจากปริมาณรถแล้ว ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดรูปแบบอีก เช่น สัดส่วนจำนวนรถจักรยานยนต์ หรือสัดส่วนของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เป็นอย่างไรในช่วงนั้นๆ เช่น เส้นทางจากเชียงใหม่มาลำพูน ต้องดูสัดส่วนจักรยานยนต์ ที่ลำพูนมีนิคมอุตสาหกรรม มีคนทำงานมากกว่า 6 พันคนขึ้นไป และมีการใช้จักรยานยนต์จำนวนมาก จำเป็นหรือไม่ที่ต้องจัดทำช่องจักรยานยนต์
พื้นที่หรือถนนที่จะจัดทำช่องจักรยานยนต์ ถนนในเมืองส่วนใหญ่จะทำยาก เราพยายามก่อสร้างผิวจราจรให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับปริมาณรถ แต่ไม่เคยพิจารณาถึงการออกแบบเผื่อช่องทางจักรยานยนต์เลย ตำแหน่งของช่องทางจักรยานยนต์ เป็นช่องทางเฉพาะสำหรับจักรยานยนต์ที่แยกเด็ดขาดจากรถยนต์ หรือช่องทางสำหรับจักรยานยนต์แทรกระหว่างช่องรถยนต์กับไหล่ทาง
ทิศทางการเดินรถในช่องจักรยานยนต์ เดินรถทางเดียวหรือสองทาง และการจัดการบริเวณทางแยก จักรยานยนต์ต้องเลี้ยวขวาเหมือนกัน หากบังคับให้วิ่งซ้ายตลอดจะเลี้ยวอย่างไร จะทำทางยกระดับหรือทางลอด
จากปัจจัยดังกล่าวสามารถพิจารณาจัดช่องทางจักรยานยนต์ได้หลายแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 ช่องทางสำหรับจักรยานยนต์บนไหล่ทาง โดยปรับสภาพผิวไหล่ทางให้เป็นทางวิ่งของรถเล็ก เช่น จักรยาน จักร ยานยนต์ ทำบ้างแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่
รูปแบบที่ 2 ช่องทางแทรกระหว่างช่องรถยนต์และไหล่ทาง โดยใช้เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางเป็นตัวแบ่งช่องจราจร มีที่จังหวัดภูเก็ต
รูปแบบที่ 3 ช่องทางกึ่งเฉพาะสำหรับจักรยานยนต์ โดยใช้อุปกรณ์กึ่งถาวร เช่น จัดวางแท่งคันหินแบ่งระหว่างไหล่ทางกับช่องทางจักรยานยนต์เป็นระยะ มีที่จังหวัดตาก
ทั้งนี้ช่องจักรยานยนต์ทั้ง 3 รูปแบบ มีลักษณะร่วม ดังนี้ อยู่นอกเขตเมือง หรือชานเมือง มีเขตทางพอ ไม่มีรถจอดข้างทาง มีไหล่ทางกว้างอย่างน้อย 3 เมตร มีถนนหรือทางเชื่อมต่อกับถนนที่จะจัดทำช่องทางจักรยานยนต์ไม่มากนัก ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา คือ ไม่มีการควบคุมการเชื่อม ดังนั้นจึงมีทางเชื่อมจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาในการทำช่องทางจักรยานยนต์ และสุดท้าย มีปริมาณรถจักรยานยนต์มาก ประมาณ 3,000 คันต่อวัน
รูปแบบที่ 4 อยู่นอกเมืองหรือชานเมือง มีเขตทางเพียงพอ ควบคุมทางเชื่อมกับทางหลวงน้อยที่สุด มีปริมาณจักรยานยนต์มากประมาณ 12,000 คันต่อวัน ก่อสร้างทางลอดหรือทางข้ามได้ทุกๆ 3-5 กิโลเมตร แบบนี้มีทำอยู่ในมาเลเซีย
การจัดทำช่องทางจักรยานยนต์ควรพิจารณาถึงปริมาณรถทั้งจักรยานยนต์และรถอื่นที่ใช้ถนนในช่วงนั้น ๆ พื้นที่มีเขตทางเพียงพอหรือไม่ ประชาชนต้องการหรือไม่
คุณจำรูญ ยังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยว่า อนุกรรมการด้านวิศวกรรม ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพิ่งมีการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ ท้ายที่สุดของการประชุมได้พูดถึงเรื่องถนนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร หรือจัดให้มีช่องทางจักรยานยนต์มากน้อยแค่ไหน รวมอยู่ด้วย และเรื่องที่สอง คือ ยานพาหนะ โดยที่ประชุมดังกล่าวได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด จึงคิดว่าช่องทางจักรยานยนต์ในประเทศไทยน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ... ก็ต้องรอดูกันล่ะครับ