ขณะที่ค่ายยามาฮ่า ยังมุ่งมั่นกับตลาดสกูตเตอร์ผสานกับการวางกลยุทธ์การตลาดดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้ามาเป็นส่วนร่วมภายใต้การวางกลยุทธ์ Music Marketing เป็นตัวเชื่อมระหว่าแบรนด์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายวัยรุ่นอย่งได้ผล ทำให้สองเดือนแรกของปีนี้ยามาฮ่าทำยอดขายทิ้งห่างซูซูกิด้วยยอดขาย 8.57 หมื่นคัน ครองส่วนแบ่งตลาด 24% แซงซูซูกิที่ย่ำอยู่กับที่ด้วยส่วนแบ่งตลาด 12% จากยอดขาย 4.17 หมื่นคัน
โดยซูซูกิบอกว่าไม่สามารถผลิตสกูตเตอร์ "สเตป" ได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดซึ่งอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตจาก 7 พันคัน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคันในเร็วๆ นี้ แม้แต่ฮอนด้ายังตกเป็นรองยามาฮ่าในตลาดสกูตเตอร์ทำยอดขายคลิกได้เฉลี่ยเดือนละ 7 พันคันเท่านั้น
การลุกขึ้นมายืนของยามาฮ่า และการวางกลยุทธ์การตลาดเฉพาะเจาะจงเป็นของตัวเองหาใช่ความสำเร็จของยามาฮ่าในวันนี้เพียงประการเดียว ในอดีตยามาฮ่าสะสมประสบการณ์มายาวนานว่า แบรนด์สองล้อยามาฮ่ามีความคงทน และขายต่อได้ราคาสูงกว่าอีกด้วยเป็นทุนเดิม
เมื่อนำมาผสมผสานกับกลยุทธ์การลาดและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ความโดดเด่นของยามาฮ่าเกิดขึ้นนับตั้งแต่ออกสกูตเตอร์รุ่น "นูโว" ที่มีไมเคิล โอเวน เป็นพรีเซ็นเตอร์
จากนั้นยังสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์เสียใหม่ผ่านเสียงดนตรีด้วยความสนุกสนานจากตลาดแบบ Music Marketing ด้วยการใช้พรีเซ็นเตอร์นักร้องขวัญใจวัยรุ่นชื่อดังบอกความเคลื่อนไหวของตัวสินค้าได้อย่างชัดเจน จนแบรนด์มีความเข้มแข็งพอที่จะก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส
สำหรับกลยุทธ์ในการขยายตลาดยามาฮ่าจะมุ่งเน้นการตลาดแบบไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง โดยเน้นการสร้างวัฒนธรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อความเพลิดเพลินด้วยความอิสระ และปลอดภัยพร้อมความร่วมมือจากร้านผู้จำหนายทั่วประเทศในการจัดกิจกรรมเพื่อการขับขี่ท่องเที่ยวของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการทำตลาดแบบ Sports Marketing ที่จะเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมเป็นประโยชน์ให้กับลูกค้า ทั้งในด้านสุขภาพและเสริมสร้างสังคม
ในปีนี้ยามาฮ่าได้กำหนดกลยุทธ์การตลาดต่อยอดจาก Music Marketing ที่มีขอบข่ายกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่มีวงจำกัดให้ขยายกลุ่มเป้าหมายสู่วงกว้างมากขึ้นด้วย Sports Marketing โดยมีนัยทางการตลาดว่าจะขยายกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้กว้างขึ้น เพราะกีฬาฟุตบอลที่จะนำมาเป็นสื่ออยู่ในความสนใจของคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเป้าหมายสูงสุดของยามาฮ่า ในระยะที่สองต้องการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ยามาฮ่าให้เป็นแบรนด์แห่งการกีฬาสนับสนุนภาพลักษณ์ของความเป็น Sport Brand ผ่านกีฬาฟุตบอล
นางจินตนา อุดมทรัพย์ ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัทไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บอกว่า การเปิดโครงการ "YAMAHA Sport Challenge" ต่อยอดจากที่ยามาฮ่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากการทำตลาดแบบ Music Marketing โดยใช้พรีเซ็นเตรอ์ชื่อดังควบคู่ไปกับสินค้า ในปีนี้ทางยามาฮ่าได้ก้าวเข้าสู่ทำการตลาดรูปแบบใหม่คือ Sports Marketing เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้ายามาฮ่าได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับบริษัทเพิ่มมากขึ้นโดยได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมทางการกีฬาต่างๆ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้วัยรุ่นไทยทั่วประเทศใส่ใจในการเล่นกีฬาและใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์จึงได้ร่วมกับสายงาน อราทิศ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) จัดกิจกรรม "YAMAHA Sport Challenge" แข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างศิลปินแกรมมี่ ทีม G MAN และทีม Yamaha Club โดยจัดในจังหวัด 8 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี, นครราชสีมา, ชลบุรี, นครสวรรค์, เชียงใหม่, พระนครศรอยุธยา, ร้อยเอ็ด และกรุงเทพฯ เป็นสนามสุดท้ายที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2549
นับว่าเป็นโอกาสที่ดีต่อทีม Yamaha Club ที่จะได้ดวลแข้งกับพรีเซ็นเตอร์ของยามาฮ่า ถือว่าได้รับประสบการณ์พิเศษสุดในช่วงหนึ่งของชีวิตพร้อมทั้งยังได้เรียนรู้ทักษะ เทคนิคของการเล่นกีฬาฟุตบอลจากโค้ชที่เชี่ยวชาญนำทีมโดย "ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน"รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้แก่สมาชิกยามาฮ่าคลับ ได้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันในที่สุดจะเชื่อมต่อไปยังแบรนด์และผลิตภัณฑ์
สำหรับโครงการนี้ ยามาฮ่าได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สนับสนุนกิจกรรมทางการกีฬาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ทางด้านกีฬา เพื่อปลูกจิตสำนึกให้วัยรุ่นไทยทั่วประเทศหันมาใส่ใจในการเล่นกีฬาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ประกอบกับในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีกว่า กระแสของเล่นกีฬากำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนต่งเล็งเห็นและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางการกีฬาต่างๆ
"ยามาฮ่าได้ร่วมมือกับแกรมมี่ ผ่านทีมฟุตบอล G MAN เพื่อเป็นการสร้างสีสันให้แกว่งการกีฬาฟุตบอลของประเทศไทย และเป็นการสนับสนุนภาพลักษณ์แห่งความเป็น Sport Brand ของยามาฮ่าผ่านทีมฟุตบอล G MAN เพื่อเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับการทำการตลาดที่ไม่สามารถหาได้ที่ไหน"
นอกจากนี้จะดำเนินนโยบายด้านการค้าที่มุ่งเน้นการยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า ด้วยการพัฒนาธุรกิจ 3S ทั้งด้านยาย บริการ และอะไหล่ ร่วมกับผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ
ทางด้านนายเลิศศักดิ์ นววิมาน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิในไทยให้ความเห็นว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ในไทยปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับตลาดในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านคัน เทียบกับปีที่แล้วได้ประมาณ 1.9 ล้านคัน (ยอดจดทะเบียน) หรือเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยคาดว่าสกู๊ตเตอร์จะมีสัดส่วนของตลาดมากถึง 40% ของตลาดรวมทั้งหมด จากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียงประมาณ 13% ซึ่งเป็นผลมาจากปีนี้ค่ายรถจักรยานยนต์รายใหญ่ต่างๆ โดดลงรุกตลาดนี้กันหมด ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า ยามาฮ่า และซูซูกิ จากเดิมที่มีเพียงยามาฮ่ารายเดียว
"ปีนี้ตลาดรถจักรยานยนต์สกูตเตอร์หรือรถเกียร์อัตโนมัติจึงแข่งขันกันรุนแรง ขณะทีตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้รถสกูตเตอร์ไปแย่งกลุ่มลูกค้า รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และกึ่งสปอร์ตโดยเฉพาะรถแบบครอบครัวที่เป็นตลาดใหญ่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเดิมที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 70-80% น่าจะลดลงเหลือเพียง 40-50% ขณะที่รถแบบกึ่งสปอร์ตมีอัตราลดลงมาระยะหนึ่งแล้ว"
สำหรับสกูตเตอร์ซูซูกิ สเต็ปไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยผลิตได้เพียงเดือนละ 7 พันคัน แต่ขณะนี้กำลังปรับไลน์การผลิตไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นคัน ซึ่งน่าจะทำให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า"
ดร.ประภาศรี อมรสิน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ให้มุมมองถึงการก้าวสู่สเตปที่ 2 ภายใต้กลยุทธ์ Sports Marketing ของยามาฮ่าว่าสเต็ปแรกของการตลาดยามาฮ่าเกิดจาก Music Marketing ประสบความสำเร็จถึงขั้นทำให้แบรนด์ ยามาฮ่ามีความเข้มแข็งพอทีจะก้าวสู่กลยุทธ์การตลาดขั้นที่ 2 แต่จุดอ่อนของ Music Marketing จำกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น
ดังนั้นการก้าวเดินเข้าสู่กลยุทธ์การตลาดขั้นที่ 2 ที่ชูเอาการตลาดแบบ Sport Marketing ก็เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพราะกีฬาได้รับความสนใจจากทุกเพศทุกวัยไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น