รายงานข่าวจาก บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยผลวิจัยทิศทางการเติบโตอุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ในประเทศว่า แนวโน้มยอดขายรถจักรยานยนต์ครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวสูง เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพแพง และเศรษฐกิจไม่ดี ได้ทำให้ปริมาณการขาดผ่อนค่างวดเช่าซื้อเพิ่มขึ้น และในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มียอดขาดผ่อนเพิ่มกว่า 20% แล้ว จนทำให้หนี้เสียจากสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับเพิ่มตาม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่า ทำให้สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินประเภทนอนแบงก์ เข้ามาเข้มงวดเรื่องการให้สินเชื่อยิ่งขึ้น และส่งผลต่อกำลังซื้อรถจักรยานยนต์ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถจักรยานยนต์รอบ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 49) กลับยังเติบโตได้ดีถึง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 48 โดยขายไปแล้ว 1.26 ล้านคัน โดยแบบที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เกียร์อัตโนมัติ 427,768 คัน เติบโต 246%
ขณะที่รุ่นอื่นๆ ส่วนใหญ่มียอดตกลง โดยเฉพาะรุ่นครอบครัว 750,077 คัน ลดลง 24% แฟมิลี่สปอร์ต 74,242 คัน ลดลง 9.8% ออฟโรด 1,835 คัน ลดลง 41.8% แต่สปอร์ต เพิ่มขึ้น 22.5% หรือ 10,108 คัน ซึ่งถือว่าสวนกระแส เพราะก่อนหน้านี้คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์จะถึงจุดอิ่มตัวและโตไม่เกิน 1-2% เพราะในหลายปีหลังยอดขายรถจักรยานยนต์ได้เติบโตสูงมาตลอด
สำหรับสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้ส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจเลือกใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งประหยัดค่า เชื้อเพลิงกว่ารถยนต์แทน โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้ใช้ในเขตต่างจังหวัด และผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ จากวิกฤติการณ์น้ำมันที่เกิดขึ้น ช่วยให้ยอดขายจักรยานยนต์ปีนี้ไม่ชะลอตัวอย่างที่คาดไว้ อีกทั้งยังยืดเวลาภาวะตลาดอิ่มตัวในประเทศ ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งศูนย์วิจัยประมาณการว่า ปีนี้จะมียอดขายทั้งสิ้น 2.17 ล้านคัน เติบโตขึ้นจากปี 48 ที่ขายได้ 2.11 ล้านคัน ประมาณ 2.5-3.0%
ขณะที่ปริมาณส่งออกรถจักรยานยนต์ในรอบ 7 เดือน มียอดขายไปแล้วกว่า 893,793 คัน เพิ่มขึ้น 15.7% และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 49 ยอดส่งออกจะเติบโตถึง 20% หรือมียอดส่งออกถึง 1.6 ล้านคัน โดยตลาดหลักจะอยู่ในภูมิภาคอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า ลาว และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งรวมกันแล้วมากถึง 70% ของยอดส่งออกทั้งหมด
รายงานข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัญหาราคาน้ำมันแพงและพิษเศรษฐกิจซบเซาได้ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีทิศทางชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยติดลบที่ 2.9% ซึ่งถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากใน 3 ปีก่อนหน้านี้ (46-48) มีการเติบโตที่ 29%, 17% และ 12.4% ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง อีกทั้งไม่มั่นใจโดยเฉพาะการผ่อนชำระที่อาจมีปัญหาได้