แม้จะเข้ารับตำแหน่งในประเทศไทยมานานร่วม 1 ปีแล้วก็ตาม แต่ชื่อของ ทากาฮิโกะ โกอัน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยามาฮ่า ในประเทศไทยกลับไม่ค่อยออกมาเป็นข่าวมากนัก เนื่องจาก เจ้าตัวเองเป็นคนที่ค่อนข้างโลว์ โปรไฟล์ มาตลอด และปล่อยให้ทีมงานชาวไทยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนมาโดยตลอด
แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามารับตำแหน่งของเขาคนนี้ก็สร้างคำถามให้กับคนที่ติดตาม ยามาฮ่า มาโดยตลอด เพราะการรับหน้าที่ซีอีโอในครั้งนั้น เป็นการรับตำแหน่งต่อจากประธานคนเก่า ที่ได้ชื่อว่าทำให้ ยามาฮ่า กลับสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยอย่างแท้จริง แถมช่วงเวลาแห่งการรับตำแหน่งก็คือ ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของ ยามาฮ่า ทำให้เชื่อว่าผู้ที่มาใหม่จะต้องพบกับงานหนักและภารกิจที่รออยู่มหาศาลอย่างแน่นอน
และแล้วเวลา 9 เดือนก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยก็เริ่มส่อแววว่าจะเริ่มหดตัวลงเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่ยอดจำหน่ายของ ยามาฮ่า เองกลับโตสวนกระแส โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ มีอัตราการเติบโตถึง 42% และเป็นบริษัทเดียวที่มีการเติบโตในช่วงเวลาดังกล่าว
แถมรถจักรยานยนต์ออโตเมติกรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง ฟีโน่ ก็สร้างกระแสฟีเวอร์ไปทั่วเมือง ด้วยยอดจำหน่าย 1.6 หมื่นคัน หลังการเปิดตัวแค่ 2 อาทิตย์ เล่นเอาแผนงานเดิมที่วางไว้ว่าจะขายเดือนละ 1 หมื่นคัน ต้องมานั่งปรับใหม่ แถมยังอาจจะส่งผลถึงการปรับไลน์การผลิตตามมาได้ในอนาคต
คำถามแรกในวันที่เจอกับโกอัน จึงเป็นคำถามที่ว่า ทำไมเขาคนนี้ถึงได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่ต่อในประเทศไทย ทั้งที่ประเทศไทยเองได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก
โกอัน ตอบว่า สาเหตุที่เขาได้รับเลือกน่าจะมาจากการที่เขามีประสบการณ์กับ ยามาฮ่า มาอย่างยาวนานถึง 29 ปี มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วกับ 70 กว่าประเทศทั่วโลก และตำแหน่งสุดท้ายก่อนมาประเทศไทยก็คือ การดูเรื่องการขายในตลาดเอเชีย ซึ่งรวมถึงตลาดประเทศไทยก็เช่นกัน และก่อนรับตำแหน่งก็ได้เดินทางมาในประเทศไทยมากถึง 26 ครั้ง เขาบอกว่าการเข้ามาดูแลตลาดในประเทศไทยครั้งนี้ ยังมองว่าตลาดในประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และการเติบโตที่โดดเด่น แถมยังเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ ยามาฮ่า ในโลกนี้อีกด้วย
“ช่วงแรกๆ ที่ผมมาประเทศไทย ผมพบว่าตลาดนี้แตกต่างจากตลาดอเมริกาหรือยุโรปที่เคยดูแลมา ในตลาดเหล่านั้นคนใช้รถจักรยานยนต์จะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่และคนรวย หรือแม้แต่ในญี่ปุ่นเอง ด้วยสภาพอากาศก็ทำให้ ไม่เหมาะกับการขี่จักรยานยนต์ แต่ในประเทศไทย ผู้ใช้รถหลักๆ เป็นกลุ่มวัยรุ่น แถมอากาศก็ไม่หนาว เหมาะกับการใช้รถจักรยานยนต์มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ยามาฮ่า ปรับแผนใหม่ทั้งหมดนับแต่นั้นมา”
โกอัน เล่าให้ฟังว่า หากย้อนไปในอดีตจะพบว่าสิ่งที่ ยามาฮ่า พยายามทำหลังจากประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อการทำตลาดของบริษัทในช่วงนั้น ก็คือการพยายามสร้างวัฒนธรรมการขี่รถจักรยานยนต์ที่แตกต่างออกไปจากในอดีต
และสิ่งที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ เรื่องของสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่ ยามาฮ่า ส่งออกมา โดยเฉพาะรถออโตเมติกที่ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเป็นรายแรก โดยการเปิดตัว นูโว ตามมาด้วย มีโอ และล่าสุดกับรถในเซ็กเมนต์ใหม่อย่าง ฟีโน่ ซึ่งโกอันบอกว่าถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ ที่ออกแบบรถมาแล้วทำให้ผู้บริโภคไม่ถามเรื่องความเร็วสูงสุดหรือสมรรถนะได้ แต่ขายด้วยดีไซน์เป็นหลัก
ส่วนการที่คู่แข่งทุกค่ายหันมาเปิดตัวรถจักรยานยนต์ออโตเมติกกันหมดนั้น โกอันบอกว่าเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการแสดงว่าตลาดให้การยอมรับ และ ยามาฮ่า ในฐานะผู้นำก็พร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในอนาคตก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
“เราตั้งเป้าที่จะเป็น Trend Setter สำหรับสินค้ารถจักรยานยนต์ในประเทศไทย อย่างรถออโตเมติกหากดูในปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างมาก และน่าจะขึ้นเป็นตลาดหลักได้ในอนาคต ซึ่งถ้าถาม ยามาฮ่า เราเอง ก็มีแผนงานที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ตอนนี้ที่กำลังศึกษาอยู่ก็คือเรื่องของรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะเข้ามาทำตลาดในอนาคตอันใกล้นี้”
สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่นั้น โกอัน บอกว่าที่ผ่านมามีการศึกษาตลาดไปแล้ว ร่วมกับการทำกิจกรรมทางการตลาดของฟีโน่และโรดโชว์ต่างๆ และพบว่ามีศักยภาพที่น่าสนใจ ซึ่งคงจะมีการทำตลาดอย่างแน่นอน โดยในรุ่นตั้งแต่ 600 ซีซี ขึ้นไป จะมีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยแผนงานได้ในช่วงนี้
นอกจากเรื่องของรถจักรยานยนต์แล้ว โกอัน บอกว่าสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในตราสินค้า ยามาฮ่า ก็จะนำเข้ามาศึกษาตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มมารีน ที่มีเวฟรันเนอร์เป็นตัวนำ ถึงแม้จะมียอดจำหน่ายไม่มาก แต่ก็จะนำเข้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเมืองไทยอย่างแน่นอน
เมื่อถามถึงความพร้อมของ ยามาฮ่า ในเรื่องของการลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม โกอันบอกว่าการลงทุนเพิ่มถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างความพร้อมทางด้านการแข่งขันให้กับ ยามาฮ่า โดยหลังจากที่มีการลงทุนกว่า 700 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา บริษัทก็ยังลงทุนในส่วนต่าง ๆ ต่อไป โดยประมาณว่าแต่ละปีจะมีเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยมากถึง 1 พันล้านบาททุกปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ ไทยยามาฮ่า
และแม้ว่าจะไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการลงทุนได้ทั้งหมด แต่เขาบอกว่า ยามาฮ่า มองประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความสำคัญในฐานะฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในระดับภูมิภาค โดยมีการส่งออกไปถึงตลาดยุดรปและตลาดอาเซียน ซึ่งรายได้กว่า 30% ของบริษัทนั้นมาจากการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน
การลงทุนหลัก ๆ จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการทำวิจัยและพัฒนา ซึ่งในอนาคตมีการตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนารถจักรยานยนต์ที่ความเหมาะสมทั้งกับประเทศไทย และประเทศที่ต้องส่งออกได้ทั้งหมด ซึ่งโดยศักยภาพของประเทศไทยในปัจจุบันสามารถทำได้อย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้
"ความเข้มแข็งที่สุดของประเทศไทยก็คือความแข็งแกร่งของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผ่านมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพ ราคา และการขนส่ง อันนี้เป็นฐานที่มีความสำคัญมาก"
โกอัน บอกว่านอกจากเรื่องของการทำการตลาดแล้ว ยามาฮ่าเองก็ยังเน้นไปที่เรื่องของการตอบแทนกลับให้สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่บริษัทให้ความสำคัญมาโดยตลอด ก็จะเน้นกันอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของ ยามาฮ่า นับจากนี้ไป
ก่อนจากกัน โกอัน สารภาพความลับให้ฟังว่าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เขาเองก็มีความวิตกกังวลมากกว่าตลาดจะซบเซาลงไปหรือไม่ แต่หากดูถึงปัจจุบัน ความกังวลดังกล่าวดูเหมือนจะหายไปแล้ว พร้อมกับความมั่นใจในตลาดประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น
"แม้ปีนี้ตลาดจะหดตัว แต่เชื่อว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยก็จะน่าสนใจต่อไปและแนวโน้มตลาดเองก็คงเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่พอสมควร ซึ่งยามาฮ่าหวังว่าจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงต่อไป เหมือนที่ทำมาแล้วในตลาดออโตเมติก"
ตอบคำถามตรงประเด็นและชัดเจนแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าคู่แข่งจะยอมหรือไม่ ... ปล่อยให้เวลาเป็นผู้ตัดสิน!!!!