รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่ได้แก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2547 ให้รถจักรยานยนต์รับจ้างต้องจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ (ป้ายเหลือง) ที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. 2548 ซึ่งตำรวจได้ผ่อนผันการจับกุมเรื่อยมา จนล่าสุดขยายการจับกุม ถึงสิ้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และกฎหมายให้อำนาจ กทม.เป็นผู้จัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพฯ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประจำจังหวัดมาดูแลเรื่องการจดทะเบียน ที่มี กทม. เป็นประธานและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งกรรมการชุดใหญ่ได้มอบอำนาจ ให้คณะอนุกรรมการประจำเขตออกใบรับรองให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ไป ประกอบการจดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง ที่กรมการขนส่งทางบก และควบคุมในด้านต่าง ๆ เช่น สถานที่ตั้งวินใหม่ไม่ให้ตั้งบนผิวจราจรหรือบนทางเท้ากีดขวางการสัญจร การจัดระเบียบที่พักนั่งคอยรถ เช่น ศาลาที่พัก บริเวณวินต้องมีป้ายปิดประกาศราคาค่าโดยสาร และชื่อวิน การกำหนดเส้นทางและจำนวนรถที่เหมาะสม กำหนดเงื่อนไขการออกหนังสือรับรองไปประกอบการจดทะเบียน กำหนดอัตราค่าโดยสาร
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ประเมินผลการจัดระเบียบ พบว่ามีผู้ขับขี่รถมาขอใบรับรองที่เขตแล้วกว่า 50% แต่ในจำนวนนี้ไปจด ทะเบียนเป็นป้ายเหลืองไม่ถึง 50% นอกจากนี้ยังพบว่าอนุกรรมการประจำเขตไม่ได้จัดระเบียบตามที่กฎหมายระบุ โดยวินส่วนใหญ่ยังตั้งวางที่เดิม เช่น บนทางเท้า บนผิวจราจร ซึ่งกีดขวางการสัญจร และผิดกฎหมาย ยังไม่ได้ติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารตามที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม. เคยมีนโยบายไว้ว่าจะสร้างศาลาที่พัก ผู้โดยสารเพื่อนำร่อง
นอกจากนี้ยังมีผู้ขับขี่เพิ่มจำนวนขึ้นจากที่ กทม.เคยรับขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 23 พ.ย. 2547 มีวินทั้งหมด 4,442 วิน ผู้ขับขี่ทั้งหมด 109,527 คน โดยผู้ขับขี่ปัจจุบันราว 30% เป็นรายใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีทั้งจากวินที่เพิ่มขึ้นใหม่ และวินเก่า แต่คนขับหน้าใหม่ ส่วนคนที่ขึ้นทะเบียนบางรายก็หายไปจากสารบบโดยวินไม่ได้แจ้งให้เขตทราบ ได้ผลเฉพาะที่ กทม.แจกเสื้อวินสีส้มซึ่งสวมกันแพร่หลาย
ปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุทั้งจากอนุกรรมการเขตฯ ที่ไม่ใส่ใจดูแลกวดขันแค่ไฟไหม้ฟาง กก. แต่ละคนมีภารกิจงานหลักรัดตัวเรียกประชุมได้ยาก บางส่วนก็อ้างไม่มีอำนาจทั้งที่ตัวแทน กรมการขนส่งทางบกต้องเป็นผู้กวดขันบางส่วนร่วมกับ กทม. และตำรวจ เช่น ห้ามจอดบนทางเท้า ผิวจราจร จึงเป็นอีกโครงการที่จัดระเบียบมาปีกว่าแต่ก็คว้าน้ำเหลว