ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > ยามาฮ่ากลืนเงียบตลาดเอที ประเคนทุกอาวุธเลื่อยขาฮอนด้า
ยามาฮ่ากลืนเงียบตลาดเอที ประเคนทุกอาวุธเลื่อยขาฮอนด้า
ที่มา – ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 29 ม.ค.-4 ก.พ.50

แม้จะมีคู่แข่งเกิดขึ้นในตลาดรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่าจักรยานยนต์เอที แต่ยามาฮ่ากลับสามารถถีบตัวเองหนี้คู่แข่งได้ไกลยิ่งขึ้น อาจเพราะการเดินเข้าสู่ตลาดดังกล่าวมาก่อนคู่แข่งทั้งฮอนด้า และซูซูกิ ทำให้สร้างการยอมรับจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นได้กว้างขวางกว่า ซึ่งเชื่อว่าหากยามาฮ่าสามารถรักษาฐานที่มั่นแห่งนี้ได้ โอกาสที่จะดันยอดขายขึ้นไปไล่ฮอนด้า เจ้าตลาดรถจักรยานยนต์ก็คงไม่ไกลเกินไป

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ฮอนด้ายังคงครองความเป็นผู้นำตลาดรวมรถจักรยานยนต์ของไทย ด้วยปริมาณ 1.35 ล้านคัน หรือติดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 71% ของตลาดรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 1.9 ล้านคัน ส่วนยามาฮ่านั้นทำยอดขายอยู่ที่ 465,000 คัน หรือราว 24% ซึ่งเป็นปริมาณการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะตั้งแต่ยามาฮ่า เริ่มรุกเขาสู่ตลาดรถจักรยานยนต์เอที เมื่อราว 3-4 ปีที่ผ่านมา

เมื่อปีที่ผ่านมาตลาดรถจักรยานยนต์เอที มีการเติบโตอย่างมาก โดยตลาดรวมรถจักรยานยนต์ประเภทดังกล่าวมีปริมาณถึง 46% ของตลาดรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 1.9 ล้านคัน หรือคิดเป็น 874,000 คัน ซึ่งในนี้ยามาฮ่าสามารถครองส่วนแบ่งตลาดถึง 51% เหนือกว่าผู้นำตลาดรวมอย่างฮอนด้า และเป็นยอดขายที่มาจากรถจักรยานยนต์เอที 3 รุ่นประกอบด้วย มีโอ, นีโอ และฟีโน่ รุ่นล่าสุด

ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงของการเปิดตัวรถจักรยานยนต์เอที รุ่นมีโอ ใหม่ ว่า ตั้งแต่เปิดตัว ยามาฮ่า ฟีโน่ มอเตอร์ไซค์สไตล์แฟชั่นในเดือนกันยายน ปี 2549 ที่ผ่านมาสามารถสร้างกระแสใหม่จนเป็นที่ยอมรับของกลุ่มวัยรุ่นชาย หญิง สร้างทางเลือกใหม่ให้กับคนรักดีไซน์ ซึ่งเป็นการขยายตลาดออโตเมติก และยังตอกย้ำภาพลักษณ์ความสำเร็จของผู้นำรถจักรยานยนต์ออโตเมติกตัวจริง ทำให้ความนิยมของผู้บริโภคในรถจักรยานยนต์ประเภทออโตเมติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยทิศทางต่อจากนี้ของยามาฮ่า น่าจะยังคงเน้นการขยายตลาดรถจักรยานยนต์เอที อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และถือเป็นการเลือกทางเดินที่เหมาะสมกับแบรนด์ หลังจากที่ยามาฮ่านำแนวคิดการตลาดที่เรียกว่า Value Added Marketing มาใช้ ซึ่งไม่เน้นการต่อสู้กับคู่แข่งในเรื่องราคา แต่หันมาเน้นการสร้างตลาดด้วย ผลิตภัณฑ์ ใช้คุณภาพของสินค้าและดีไซน์ที่สามารถสร้างความรับรู้ได้ง่ายกว่าเป็นตัวที่สร้างความแตกต่างในมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เช่น มีความโค้งมนของตัวถังมากกว่า และการเน้นดีไซน์ที่แตกต่าง

การขยายตลาดอุปกรณ์ตกแต่ง เนื่องจากพฤติกรรมของวัยรุ่นไทยบางกลุ่มชอบตกแต่งรถของตน ให้มีความแปลกและแตกต่างจากของเดิม แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการ แต่ยามาฮ่ามีการขยายไลน์ออกสู่การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของรุ่นมอเตอร์ไซค์ เช่นการร่วมกับ U-FO ทำเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ฟีโน่ โดย จินตนา อุดมทรัพย์ ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บอกว่า นอกจากต้องการสร้างความแตกต่างของตัวผลิตภัณฑ์ ยามาฮ่ายังต้องการขยายฐานการตลาด และขยายกลุ่มผู้ใช้ไปสู่กลุ่มใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คลาสสิกด้วยรถจักรยานยนต์ ซึ่งอาจจะเป็นรถคันที่ 2 ของคนที่มีรถกระบะก็ได้

ขณะที่การพัฒนาตัวแทนจำหน่ายในส่วนของยามาฮ่าสแควร์ ที่มีมากถึงเกือบ 200 สาขา เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายหลักก็ดูจะมีอนาคตที่สดใส เนื่องจากตัวผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจและทำยอดขายได้ต่อเนื่อง รวมถึงการจัดกิจกรรมโรดโชว์ของยามาฮ่าเอง ก็ถือเป็นการกระตุ้นตลาด และช่วยตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ขายได้งายขึ้น ซึ่งล่าสุด ควงพรีเซ็นเตอร์ วงแคลช สานต่อความแรงเกินใคร ออกทัวร์ Local Launch 21 จังหวัด เปิดตัวยามาฮ่า มีโอ ใหม่ พร้อมกับการจัดประกวดแต่งรถยามาฮ่า มีโอ ในคอนเซ็ปต์ รถยามาฮ่า มีโอ สุดขีด เทรน์ซ่าส์

ถึงแม้ว่าช่องวางของยอดขายระหว่างผู้นำตลาดกับยามาฮ่า ในฐานะผู้ทีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 จะมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ในปี 2550 จะเป็นการวัดฝีมือของยามาฮ่าว่าจะสามารถบูมตลาดรถจักรยานยนต์เอทีได้มากแค่ไหน อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่ายามาฮ่า กำลังกลายเป็นผู้นำของ Trend Setter ของตลาดรถจักรยานยนต์เอทีไปเสียแล้ว