ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > ยามาฮ่าผุดดีซี.หรูครบวงจร +ขยายพื้นที่รับรถ
ยามาฮ่าผุดดีซี.หรูครบวงจร +ขยายพื้นที่รับรถ/เสื้อผ้าขายดีจัด-เปิดศูนย์ให้ยืมรถใช้ระหว่างซ่อม
ที่มา – ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 1-3 ก.พ.50

ยามาฮ่ามาฟอร์มหรู ทุ่มกว่า 130 ล้านขยายศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์บริการใหม่ครบวงจรทั้งโชว์รูมจักรยานยนต์ เสื้อผ้า ยันเครื่องยนต์สปีดโบ๊ทหลังยอดขายพุ่งทุกไลน์ เสริมบริการซ่อมสุดไฮเทียบชั้นโชว์รูมรถยนต์ ซ่อมข้ามวันให้ยืมรถใช้ฟรี

นายทากาฮิโกะ โกอัน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย รถจักรยานยนต์ยามาฮ่า เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของลูกค้ายามาฮ่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในช่วงต้นปี 2550 บริษัทจึงได้ทุ่มเงิน 130 ล้านบาท ขยายศูนย์กระจายสินค้าหรือ Distribution Center มาตรฐานแห่งใหม่ขึ้นมา โดยได้เสริมศักยภาพของศูนย์อะไหล่และบริการโดยขยายพื้นที่ในการจัดเก็บอะไหล่เพิ่มขึ้น และพัฒนาระบบการจัดการอย่างครบวงจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริการด้านอะไหล่แก่ลูกค้า

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ขยายศูนย์บริการของรถจักรยานยนต์ รวมถึงเพิ่มศูนย์บริการเครื่องเรือยนต์ติดท้ายเรือและยานน้ำ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของบริษัทฯด้วย ทำให้ศูนย์แห่งนี้สามารถใช้บริการลูกค้าของยามาฮ่าได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ แผนกศูนย์อะไหล่ได้นำเทคโนโลยีล่าสุดที่พัฒนาระบบการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ PROPAC (โปรแพค)ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งระบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าถึงผู้จำหน่ายให้เร็วยิ่งขึ้นโดยสามารถจัดส่งให้ผู้จำหน่ายได้ภายใน 1 วัน

"หลังจากที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของผู้บริโภค ทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ยามาฮ่ารุ่นออโตเมติก ที่ทางบริษัทฯ เป็นผู้นำเทรนด์ในตอนนี้ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน ธุรกิจอะไหล่มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2543 ยอดขายธุรกิจอะไหล่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่อุปกรณ์ตกแต่ง สินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น น้ำมันเครื่องและน้ำมัน ดังนั้น โครงการขยายพื้นที่ศูนย์อะไหล่และบริการ จึงจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ศูนย์อะไหล่ ศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า และศูนย์บริการเครื่องเรือยนต์ติดท้ายเรือและยานน้ำ"

สำหรับพื้นที่ส่วนอาคารคลังสินค้า แบ่งพื้นที่กระบวนการจัดเก็บอะไหล่เป็น 8 ส่วน คือ พื้นที่ตรวจรับสินค้า (Receiving and Inspection Area) พื้นที่บรรจุหีบห่อสินค้า (Packaging Area) พื้นที่วางสินค้าเพื่อรอจัดเก็บ (Sorting Area) พื้นที่จัดเก็บสินค้าวางบนพื้น (Stocking Floor Area) พื้นที่จัดเก็บสินค้าบนชั้นขนาดใหญ่ (Stocking Bulk Area) พื้นที่จัดเก็บสินค้าบนชั้นขนาดเล็ก (Stocking Bin Area) พื้นที่ตรวจตราและบรรจุสินค้าก่อนการจัดส่ง (Checking and Packing Area) พื้นที่จัดวางสินค้าเพื่อจัดส่ง (Shipping)

ประธานกรรมการบริหาร ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการขยายพื้นที่คลังสินค้าแล้ว ยามาฮ่ายังได้ลงทุน สร้างศูนย์บริการเครื่องเรือยนต์ติดท้ายเรือและยานน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกงานด้านบริการ และด้านเทคนิค งานฝึกอบรม ปัญหาทางเทคนิคแก่ช่าง ลูกค้าทั่วไป และหน่วยงานราชการต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างศูนย์บริการ รถจักรยานยนต์ยามาฮ่าขึ้นมาใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลทางด้านเทคนิคต่างๆ ของรถจักรยานยนต์ และเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมให้กับช่างบริการของผู้จำหน่ายจักรยานยนต์ยามาฮ่าทั่วประเทศ

โดยศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าแห่งใหม่นี้ สามารถให้การบริการ 600-700 คัน ต่อเดือน ซึ่งแยกการบริการออกเป็น 3 ประเภทคือ ตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ตามระยะ งานซ่อมหนัก เช่น การผ่าเครื่องยนต์ การเปลี่ยนเฟรม เป็นต้น ซ่อมรถจักรยานยนต์ Big Bike นอกจากนี้ ในกรณีที่รถลูกค้าเกิดปัญหาเทคนิคหรือซ่อมไม่เสร็จภายใน 1 วัน บริษัทยังมีรถทดแทนให้ลูกค้าใช้งานอีกด้วย

"เพื่อรองรับการให้บริการดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้นทางบริษัทฯ จึงมีนโยบายในการขยายศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ ให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าแห่งใหม่นี้ มีเครื่องมือซ่อมและอุปกรณ์ ที่ทันสมัยได้มาตรฐานนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมแท่นซ่อมรถจักรยานยนต์ 8 แท่น มีช่างจำนวน 13 คน ที่ผ่านการอบรม หลักสูตร YTA (Yamaha Training Academy) ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวกันกับหลักสูตรฝึกอบรมช่างของบริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น"