นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนการผลิตและการส่งออกรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของประเทศในเดือน ม.ค.-ก.พ. 50 แบ่งเป็นรถยนต์ มียอดการผลิตรวม 2 เดือน 181,884 คัน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว 3.31 คัน แบ่งเป็นการส่งออก 90,626 คัน เพิ่มขึ้น 1.48% และขายในประเทศ 91,258 คัน ลดลง 7.65% ส่วนยอดการผลิตเดือน ก.พ. อยู่ที่ 95,426 คัน ลดลง 6.37% โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง เดือน ก.พ. ผลิตได้ 21,349 คัน ลดลง 14.09% ส่วนรถยนต์นั่งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือน ก.พ. มีจำนวน 11,302 คัน ลดลง 23.94%
ทางด้านรถจักรยานยนต์เดือน ก.พ. ผลิต ได้ทั้งสิ้น 265,553 คัน ลดลง 10.75% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป 137,553 คัน ลดลง 22.53% และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ 128,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.69% ส่วนยอดการผลิตรวม 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) อยู่ที่ 549,300 คัน ลดลง 10.84%
สำหรับยอดการส่งออกแบ่งเป็นรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ก.พ. 53,595 คัน เพิ่มขึ้น 2.51% มีมูลค่าการส่งออก 23,749.58 คัน เครื่องยนต์ส่งออก 696 ล้านบาท ชิ้นส่วนรถยนต์ 7,477 ล้านบาท อะไหล่รถยนต์ 538 ล้านบาท รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือน ก.พ. 32,462 ล้านบาท และรวมยอด 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 59,277 ล้านบาท และเมื่อรวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 35,484.79 ล้านบาท และยอดรวม 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 65,091.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.68%
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดขายมอเตอร์ไซค์และ รถกระบะที่ลดลงไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่า สถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เพราะปกติยอดขาย มอเตอร์ไซค์จะขยายตัว ทุกปี แต่สาเหตุที่ปีนี้ เริ่มชะลอตัวลง เป็น เพราะประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้ลดลง เนื่องจาก ต้องนำเงินไปชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ ในขณะที่ยังไม่มี เงิน ใหม่เข้ามาสู่ระบบ แต่เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะเริ่มดีขึ้นหลังรัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 50
นายอดิศักดิ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน ก.พ. ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากเดือน ม.ค. 83.6 เหลือ 82.7 ดัชนีเดือน ก.พ.ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 49 และเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค. อยู่ที่ 85.6 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ดีนัก เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองความไม่สงบภายในประเทศ แรงซื้อในประเทศชะลอตัวลงส่งผลให้ยอดขายโดยรวมลดลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน 3-4 เดือนที่ผ่านมา ระดับปริมาณสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น เพราะยอดค่ำสั่ง ซื้อและยอดขายไม่มีการขยายตัว จากสถานการณ์ ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดปริมาณการผลิตตามไป ด้วยเหตุผลข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ก.พ. ให้ลดลง.