ส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ซูซูกิต้องกลับมาทบทวนถึงกลยุทธ์ และจัดแนวรบการตลาด การขายใหม่ ล่าสุดกับการประกาศลงทุนเพิ่ม ขยายดีลเลอร์ใหม่ พัฒนารถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด "มร. มาซาโนบุ ไซโต้" กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด หัวเรือใหญ่ประกาศถึงทิศทางในอนาคตของซูซูกิ พร้อมแจงประเด็นร้อนๆการตั้งดีลเลอร์ใหม่ทับพื้นที่การขายของเอสพีซูซูกิ ผู้จัดจำหน่ายใน 62 จังหวัด
-รถจักรยานยนต์ไทยไตรมาสแรก
ไตรมาสแรกของปี 2007 นี้ตลาดจักรยานยนต์หดตัวไปมาก และซูซูกิเองก็มียอดขายลดลงกว่าตลาดรวม ดังนั้นคาดว่าในปีนี้ยอดขายทุกยี่ห้อรวมกันน่าจะอยู่ที่ 1.6 ล้านคันเท่านั้น ลดลงจากปีก่อนซึ่งมียอดขายราว 2 ล้านคัน ซึ่งในส่วนของซูซูกิก็พยายามที่จะกระตุ้นการขายให้มียอดเป็นไปตามเป้าหมาย 2 แสนคันในปีนี้
-แผนการในระยะยาว
ตอนนี้เรามองว่ามีความจำเป็นจะต้องเปิดดีลเลอร์ใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ซูซูกิดีขึ้น โดยเราจะมีการแต่งตั้งดีลเลอร์ใหม่ราว 40 แห่งในปี 2007 โดยพร้อมที่จะทยอยเปิดตัวได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป และในระยะยาวนั้นจำนวนดีลเลอร์ใหม่ๆก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 130-140 แห่งภายในปี 2009 หรือภายใน 3 ปี ซึ่งแผนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความเข้มแข็งให้เครือข่าย เพื่อนำไปสู่การเพิ่มยอดขาย ที่เราตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2009 ซูซูกิจะมีส่วนแบ่งตลาด 20% จากปัจุบันที่มีส่วนแบ่งไม่ถึง 10%
-ดีลเลอร์ใหม่และเก่า
ดีลเลอร์ใน 14 จังหวัดภาคใต้นั้นมี "บ้านซูซูกิ" ดูแลด้านการจัดจำหน่ายอยู่ ตรงนั้นถือว่าเครือข่ายมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ในพื้นที่ที่เหลือที่ดูแลการจัดจำหน่ายโดย "เอสพี ซูซูกิ" นั้นอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าน โดยไทยซูซูกิ จะเข้าไปดำเนินการจัดตั้ง แต่งตั้งดีลเลอร์ใหม่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนแอ ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งขันได้ โดยการแต้งตั้งดีลเลอร์ใหม่นี้จะดำเนินการในนามของไทยซูซูกิ ไม่เกี่ยวกับ เอสพีฯแต่อย่างใด
-ดีลเลอร์ใหม่จะแตกต่างอย่างไร
ดีลเลอร์ใหม่นั้นถือว่าจะเป็น "ต้นแบบ" ให้กับดีลเลอร์เก่าๆ ดังนั้นรูปแบบการดำเนินการจะเข้มข้นกว่า โดยล่าสุดก็ได้มีการจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อจัดทำโซลูชั่นใหม่ในการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นครั้งแรกในวงการมอเตอร์ไซด์ไทย เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและความเข้มแข็ง โดยระบบดังกล่าวนี้เรียกว่า SCB ePP หรือ SCB Electronic Presentment and Patment ที่ช่วยเพิ่มช่องทางในการชำระค่ารถจักรยานยนต์และอุปกรณ์ต่างๆผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆระหว่างไทยซูซูกิมอเตอร์และดีลเลอร์ซูซูกิ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับดีลเลอร์ก็คือ สามารถตรวจสอบใบแจ้งหนี้ค่าสินค้า และการชำระผ่านอินเตอร์เน็ตพร้อมรับใบรับยืนยันการชำระเงินได้ทันที และไทยซูซูกิเองก็สามารถตรวจสอบข้อมูลการชำระเงินได้ทันทีแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ดีลเลอร์ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมมาก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตและบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์
นอกจากนี้ในเรื่องของการบริการหลังการขายและการจัดโปรโมชั่นต่างๆ อาจจะมีความแตกต่างกันจากผู้แทนจำหน่ายของเอสพีซูซูกิ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์การขายราคาเดียว ไม่มีการตัดราคาแต่อย่างไร
-การสมัครเป็นดีลเลอร์ใหม่
ตอนนี้มีผู้สนใจค่อนข้างมาก ส่วนคำถามที่ว่าทำไมมีคนสนใจทำธุรกิจของเราทั้งที่ช่วงนี้ยอดขายลดลงและไม่มีสินค้าใหม่มากนั้น ผมก็คงตอบได้ว่าคนที่สมัครมองว่าซูซูกิเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมั่นใจในการทำตลาดของเรา รวมถึงเราเองก็มีแผนการลงทุนเพิ่มเติม การเปิดตัวสินค้าใหม่อีกด้วย
-แบ่งเขตการขายระหว่างดีลเลอร์ของเอสพีฯและไทยซูซูกิอย่างไร
ดีลเลอร์ใหม่ที่แต่งตั้งโดยไทยซูซูกิฯสามารถเข้าไปตั้งโชว์รูมและศูนย์บริการได้ในพื้นที่ใกล้เคียงกับดีลเลอร์ของซูซูกิ ซึ่งตรงนี้ไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขเรื่องเขตการขายกัน โดยปัจจุบันเอสพีมีการแต่งตั้งดีลเลอร์ใน 62 จังหวัด มีโชว์รูมกว่า 200 แห่ง
-ดีลเลอร์ใหม่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่
จุดประสงค์ของการตั้งดีลเลอร์ใหม่ก็คือ ต้องการให้ยอดขายของซูซูกิดีขึ้น ซึ่งเอสพี เองก็เป็นพันธมิตรกับเรา ถือหุ้นส่วนในไทยซูซูกิ และที่ผ่านมาเราก็ได้มีการคุยกันเบื้องต้นกับเอสพีซูซูกิไปแล้วว่าจะมีการแต่งตั้งดีลเลอร์ใหม่ที่ดำเนินการโดยไทยซูซูกิ และดีลเลอร์ใหม่นี้ก็พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับดีลเลอร์ของเอสพี โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาหรือว่าอ่อนแอไม่สามารถแข่งขันได้
-แผนการลงทุน
ปีนี้แม้ตลาดจะซบ แต่เราก็ยังเดินหน้าแผนการลงทุน ทั้งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาที่จากนี้ไปจะมีการลงทุนราว 500 ล้านบาทภายในระยะเวลา 2 ปี และมีการลงทุนเพื่อผลิตรถรุ่นใหม่ การเพิ่มกำลังการผลิตและการขายเพิ่มเติมอีก 1,400 ล้านบาท ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าเป้าหมายในอนาคตที่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นก็คงเป็นไปได้ไม่ยาก