ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > 2 ล้อ เปิดศึก Tie-in เกมภาพลักษณ์-กระตุ้นยอดขาย
2 ล้อ เปิดศึก Tie-in เกมภาพลักษณ์-กระตุ้นยอดขาย
ที่มา - นสพ.บิสิเนสไทย ฉบับวันที่ 7-13 พ.ค.50

ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยปรับแนวรบหลังตลาดรวมไตรมาสตกวูบ 15% ตามภาวะเศรษฐกิจ เอ.พี.ฮอนด้า, ยามาฮ่า และซูซูกิ 3 ผู้นำตลาดปรับกลยุทธ์ยกใหญ่มุ่งใช้กลยุทธ์ "Tie-in" ผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ กับหนังแนววัยรุ่น ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของจักรยานยนต์ นักวิชาการเชื่อการเดินสู่กลยุทธ์ Tie-in ของค่ายรถจักรยานยนต์ได้ทั้งภาพลักษณ์ กระจายการรับรู้ได้ดีกว่า แถมประหยัดงบประมาณกว่าพรินต์แอดหลายเท่า

จากแนวโน้มของตลาดรถจักรยานยนต์รวมที่ตกลงมา 15% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซันที่ผู้ประกอบการเร่งทำตลาดเก็บยอดขายก่อนที่จะเข้าฤดูฝนเป็นช่วงโลว์ซีซัน ห้วงเวลาแห่งการปราบเซียนยากที่สุดกับสินค้าเกือบทุกชนิด ไม่เว้นแต่จักรยานยนต์พาหนะจำเป็นของคนเมืองและคนชนบทในสภาพที่ระบบขนส่งมวลชนของรัฐไม่เพียงพอและเข้าไม่ถึง

รายงานข่าวจากเอ.พี.ฮอนด้า ระบุว่า ตลาดรถจักรยานยนต์เมืองไทยในไตรมาสแรกปี 2550 หดตัว 15% ผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาทำให้ยอดขายรวม 3 เดือนแรกปิดที่ 415,154 คัน ลดลง 73,720 คันจากปีก่อนหน้า

โดยรถจักรยานยนต์ฮอนด้ายังคงรักษาความเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคไว้วางใจสูงสุดแม้ยอดมียอดจดทะเบียนลดลงเพียง 8% ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด โดยมียอดจดทะเบียนรวมในไตรมาสแรกที่ 288,697 คัน ครองส่วนแบ่งตลาด 70% ส่วนรถยอดนิยมอันดับหนึ่งยังคงเป็นรถครอบครัวฮอนด้ารุ่นเวฟ 100 ที่ครองใจผู้ใช้ทั่วประเทศอย่างเหนียวแน่นมาตลอด ส่วนรถเอทีอันดับหนึ่งยังคงเป็นฮอนด้า คลิก รถเอทียอดนิยมของวัยรุ่นยุคใหม่แซงหน้ายามาฮ่าไปกว่า 5,000 คัน

ขณะที่เบอร์รองอย่างยามาฮ่าผู้สร้างความร้อนแรงกับเกียร์อัตโนมัติไตรมาสแรกทำยอดขายไป 97,133 คัน ครองส่วนแบ่งตลาด 23% ขณะที่ปี 2549 ทำยอดขายได้ 120,607 คัน ยอดขายหายไป 2.3 หมื่นคัน อัตราการเติบโตลดลง

ส่วนเบอร์สามซูซูกิไตรมาสแรกทำยอดขายได้ 23,149 คัน ขณะที่ปี 2549 ทำได้ 37,725 คัน ลดลงไป 14,576 คัน ส่วนแบ่งตลาดเหลือ 6% การเติบโตลดไป ขณะที่แบรนด์รองบ่อนไม่ต้องพูดถึงยอดขายตกไปกว่า 50%

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้แบรนด์ผู้นำอย่างฮอนด้า ยามาฮ่า และซูซูกิ ต้องมองการทำตลาดในช่วงนี้ใหม่ว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดใดจึงจะได้ทั้งยอดขาย และภาพลักษณ์ในระยะยาวไปพร้อมกัน ที่สำคัญที่สุดใช้เม็ดเงินไปกับการตลาดน้อยกว่าการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ และทีวี แถมยังได้ความคุ้มค่ามีประสิทธิภาพในการสื่อสารการตลาดมากกว่า สอดคล้องกบภาวะการตลาดอีกด้วย ทำให้ค่ายรถจักรยานยนต์ผู้นำเหล่านี้มุ่งไปใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ "Tie-in" ที่หวังผลทางการตลาดได้มากกว่า

ผศ.ชื่นจิตต์ แจ้งเจนจิต อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การที่ค่ายรถจักรยานยนต์ในบ้านเราหันมาทำตลาด้วยกลยุทธ์ "Tie-in" ผ่านภาพยนตร์ในช่วงนี้ มาจากภาพยนตร์ที่นำผลิตภัณฑ์ และแบรนด์เข้าไปร่วมในฉากการถ่ายทำต้องเป็นภาพยนตร์แนววัยรุ่นตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินนค้า

สำหรับข้อดีของ "Tie-in" จะดีกว่าการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ที่ประหยัดงบประมาณกว่า สร้างภาพลักษณ์ของตราสินค้าได้ด้วย อีกทั้งกระจายการรับรู้ไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีกว่า เพราะบางครั้งลูกค้าไม่สนใจตัวโปรดักต์ และข่าวสารที่ทะลักมาทางสื่อสิ่งจำนวนมากๆดึงความสนใจกลุ่มเป้าหมายได้ยาก

- ฮอนด้า "Tie-in" หนังฟอร์มยักษ์ 2 เรื่องรวด
ด้านนายโทชิยูกิ อินูมา กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด บอดว่า จากแนวโน้มตลาดที่ลดลงตั้งแต่ต้นปีนั้น บรรดาค่ายผู้ผลิตต่างไม่นิ่งนอนใจ และได้เร่งแผนกระตุ้นตลาดกันอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของฮอนด้าเอง หลังจากประกาศแนวคิดพลัสฟรีด้อม..อิสระไปกับฮอนด้า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบหนึ่งคือการร่วมสนับสนุนภาพยนต์ฟอร์มยักษ์แห่งปี อาทิ ภาพยนต์เรื่อง Ghost Riders กับรถจักรยานยนต์ฮอนด้า รุ่น Phantom Fire Edition ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับในไตรมาส 2 นี้ได้จับมือกับโซนี่พิคเจอร์สสนับสนุนภาพยนต์ที่ทุกคนรอคอยมากที่สุด นั่นคือ “สไปเดอร์แมน 3” กับ ฮอนด้า คลิก สไปเดอร์แมนเอดิชั่น พร้อมอัดแคมเปญยักษ์ "ฮอนด้าชักใยให้โชค" โดยร่วมกับเอไอเอส และ โรงภาพยนต์เอสเอฟสร้างกระแสผ่านทาร้านผู้จำหน่ายฮอนด้าทั่วประเทศ กับของรางวัลฮอนด้าคลิกสไปเดอร์แมนคอลเลคชั่น ลิขสิทธิ์แท้ จำนวนมากกว่า 300,000 ชิ้น โดยมีรางวัลใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ฮอนด้า คลิก สไปเดอร์แมนเอดิชั่น จำนวน 15 คัน

"เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเกิดความคึกคักขึ้น และผลักดันให้เกิดการจำหน่ายได้" นายอินูมา ย้ำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการตลาของฮอนด้าที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สอง

- ยามาฮ่า-ซูซูกิ เกาะกระแส "Tie-in"
ทางด้านค่ายยามาฮ่าที่เคยสร้างฮือฮากับจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติจนขึ้นเป็นผู้นำตลาดอยู่ระยะหนึ่ง ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างทันท่วงทีเพื่อไม่ให้ตกเป็นรองฮอนด้าไปมากกว่านี้กระโดดเข้าไปสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์วัยรุ่นแนวโรแมนติก "รักนะ 24 ชั่วโมง" ของค่ายอาร์เอส นำแสดงโดย “ฟิล์ม-รัฐภูมิ” และ “เจี๊ยบ-ลลนา” นักร้องและนักแสดงค่ายอาร์เอส ที่จะเข้าฉายในวันที่ 20 มิถุนายน 2550 ศกนี้

นายพิทักษ์ ทับทิม ผู้จัดการส่วนประชาสัมพันธ์และกิจกรรมพิเศษ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด การเข้าไปสนับสนุนการทำภาพยนตร์เป็นการทำตลาดในกลยุทธ์แบบ WIN WIN ที่ผ่านการ "Tie-in" แต่พันธมิตรมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัยทีมผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นมากว่า "Tie-in" ที่ทำกันอยู่ทั่วไปที่นำสินค้า และแบรนด์เข้าไปประดับฉาก

ทางด้านค่ายซูซูกิได้ "Tie-in" ทั้งผลิตภัณฑ์ และแบรนด์กับรายการเกมโชว์ของค่ายเวิร์คพอยต์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระเบิดเถิงเทิง ที่มี "โหน่ง เชิญยิ้ม" และ "เท่ง เถิดเทิง" ดาราตลกชื่อดังเป็นตัวชูโรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบิ๊กแคมเปญ Suzuki Life is Action ที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน ถือเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างแบรนด์ของซูซูกิยุคตลาดขาลง

- "Tie-in" กลยุทธ์ WIN WIN
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จับมือกับบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ CP7-11 เป็นพันธมิตรหลักทางธุรกิจ fh;pการเปิดโอกาสให้พันธมิตรหลักทางธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับทีมผู้สร้างตั้งแต่วันแรกที่เริ่มวางพ็อตเรื่อง เพื่อให้สอดรับกับแคมเปญทางการตลาดของสินค้านั้นๆ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เข้าฉายในโรง นับเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมให้ผู้ชม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับผู้บริโภคสินค้านั้นๆ เกิดความคิดคล้อยตามว่า ตัวเองก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เหมือนตัวละครในภาพยนตร์เรื่องที่กำลังชมได้

"รูปแบบการทำตลาดแบบนี้เป็นกลยุทธ์ที่วิน-วินกันทุกฝ่าย เพราะมีการร่วมทำงานกันระหว่างโปรดิวเซอร์ ทีมการตลาด และสปอนเซอร์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นวางพ็อตเรื่อง โดยอาร์เอสเป็นผู้นำพ็อตเรื่องไปเสนอให้กับสปอนเซอร์ว่า จะมีการวางสินค้าเข้าไปในหนังในลักษณะไม่ยัดเยียดสินค้าให้กับผู้ชม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ จนเกินไป เพราะมีการสร้างสถานการณ์ให้เนื้อเรื่องดำเนินแบบเกี่ยวเนื่องระหว่าง สินค้ากับตัวละครได้อย่างลงตัว เช่น เรามีเซเว่นฯ เป็น 1 ในสปอนเซอร์ ก็มีการผูกเรื่องให้พระเอกและนางเอกเป็นพนักงานของเซเว่นฯ พบรักกันในที่ทำงาน” นายสุรชัย กล่าวย้ำ