ปลายสัปดาห์ก่อน ไปร่วมฟังการประชุมเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่ายรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุจราจร สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ข้อมูลกลับมาเพียบ
ชื่อการประชุมก็บอกอยู่แล้วว่าเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ เนื่องจากทราบกันดีว่าอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ยังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ แม้ที่ผ่านมารัฐได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เช่น รณรงค์เปิดไฟใส่หมวก เมาไม่ขับ การตั้งด่านตรวจจับ แต่ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น
แนวโน้มอุบัติเหตุไม่ลดลงเท่าที่ควร เพราะปริมาณคนที่หันไปใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจราจรติดขัดและขาดระบบขนส่ง สาธารณะที่เอื้อต่อคนส่วนใหญ่ ยอดขายรถจักรยานยนต์อยู่ที่ปีละ 2 ล้านคัน จำนวนรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศมากถึง 20 ล้านคัน เฉลี่ยต่อประชากร 3 คนต่อหนึ่งคัน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล หัวหน้าสำนักงานศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี เสนอทางเลือกในอนาคต ต้องผลักดันอย่าง น้อย 2 ระดับควบคู่กัน คือ การวางระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับเขตเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทุกภาค รองรับการขยายตัวของเมือง ทางเลือกควรมีทั้งระบบรางและระบบถนน โดยยึดหลักการลงทุนที่เหมาะสม และสร้างความปลอดภัยในการขี่รถจักรยานยนต์ โดยผลักดันผู้ผลิตเชิงสร้างสรรค์ ให้หันมารับผิดชอบด้านความปลอดภัยมากขึ้น ประกอบกับการรณรงค์ผู้ขี่ และออกแบบถนนที่ปลอดภัย
คุณหมอไพบูลย์ ระบุว่า ภาครัฐต้องเปลี่ยนความคิด หันมาให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะ เพราะการเดินทางส่วนบุคคลด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไม่เพียงเสี่ยงอุบัติเหตุ เปลืองพลังงาน ยังก่อมลพิษคุกคามสุขภาพคนไทยอย่างเงียบ ๆ แต่รุนแรง เพราะ 4 ใน 5 ของมลพิษที่สำคัญมาจากการขนส่งในระบบถนน เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ อนุภาคเล็ก ๆ จากท่อไอเสียที่ลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนหอบหืด
ปัญหาสุขภาพเหล่านี้เป็นที่มาของกระแสที่เกิดขึ้นในโลก คือแนวคิด Future sustainable urban transport กระตุ้นให้เกิดระบบขนส่งมวลชน เช่น รถสาธารณะด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที (Bus Rapid Transit) ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หรือที่หังโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล หัวหน้าสำนักงานศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าตลาดจักรยานยนต์โลก แต่คนญี่ปุ่นกลับใช้น้อยมาก เพราะมีทางเลือกในการเดินทาง ตลอด 30 ปีของการขนส่งระบบราง ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
คุณหมอไพบูลย์ บอกอีกว่า เวลาพูดถึงระบบขนส่งมวลชน ไม่จำเป็นต้องหมายถึงโครงการขนาดใหญ่ แต่ควรให้ความสำคัญกับการขนส่งที่ต้นทุนต่ำ แต่กระจายได้ทั่วถึง เช่น บีอาร์ที ซึ่งทำได้ง่ายกว่าและถูกกว่ารถไฟใต้ดินถึง 20 เท่า หัวใจสำคัญคือ สิทธิในการเดินทางของคนส่วนใหญ่ โดยจัดให้มีเลนเฉพาะสำหรับรถสาธารณะ เพื่อกันรถส่วนบุคคลไม่ให้เข้ามาแย่งพื้นที่ ซึ่งใช้เงินน้อยมากและทำได้ทันทีทุกเมือง นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ที่กรุงปารีส ก็ใช้วิธีนำหมอนคอนกรีตวางกันพื้นที่ถนนให้รถบัสกับรถแท็กซี่วิ่งได้สะดวกกว่ารถส่วนตัว ดังนั้นทรัพยากรที่ลงทุนในระบบขนส่งต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด วิธีคิดคือ ต้องเอาความคุ้มค่าเป็นตัวตั้ง และทุกเรื่องต้องมีทางเลือกให้ประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม นอกเหนือจากระบบขนส่งสาธารณะ สิ่งที่จำเป็นต้องทำคู่ขนานไป คือ การส่งเสริมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งในส่วนของคน รถและถนน
ในส่วนของตัวรถ ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า แทนการมุ่งผลักดันเฉพาะผู้ใช้เป็นหลัก โดยเฉพาะการตลาดที่ใช้การโฆษณา เน้นความเร็ว ความแรง ความมันสะใจ วัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ผู้ประกอบการควรส่งเสริมการทำตลาดที่คำนึงถึงความปลอดภัย
ภาครัฐอาจผลักดันได้อีกมาก เช่น การควบคุมกำลังเครื่องยนต์ให้ได้สัดส่วนกับน้ำหนัก กับรถกำหนดขนาดซีซีและความแรงที่เหมาะสมจะส่งผลทั้งความปลอดภัย ประหยัด ลดมลพิษด้วย นอกจากนี้ยังอาจกำหนดให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยเพิ่ม นอกจากหมวกกันน็อก เช่น อุปกรณ์ป้องกันแข้งขาหัก
คุณหมอไพบูลย์ กล่าวว่า ควรกำหนดเป็นแนวนโยบายการออกแบบถนนให้คิดถึงปัจจัยที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่คำนึงถึงรถ เช่น คำนึงถึงผู้คนสองข้างทาง ทั้งคนเดินทางไกลและใกล้ หรือคำนึงถึงรถเล็กที่ใช้ถนนร่วมกับรถใหญ่ คิดถึงคนเดินถนน ในยุโรปและญี่ปุ่นพยายามออกแบบผังเมืองและถนนให้เอื้อต่อการเดินเท้าและจักรยาน ซึ่งระบบเมืองและการขนส่งเช่นนี้มีผลอย่างมากต่อการป้องกันโรคอ้วน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด