เอกสารประกอบการประชุมเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่องการส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ เป็นการสรุปประสบการณ์ต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ รองวิริยะพานิช ขออนุญาตตัดตอนบางส่วนเพื่อนำเสนอ พิจารณาครับ
คณะกรรมการความปลอดภัยจราจรทางถนน กระทรวงคมนาคม ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินโครงการ Motorcycle Safety Program มุ่งเน้นการแก้ปัญหาจาก 3 ปัจจัย คือ ผู้ขับขี่ ยานพาหนะ และสภาพแวดล้อม โดยแยกมาตรการเป็น 3 กลุ่ม คือ การป้องกันอุบัติเหตุ การบรรเทาอาการบาดเจ็บ และการช่วยเหลือ ฉุกเฉิน
ทั้งนี้มาตรการในส่วนของการบรรเทาอาการบาดเจ็บ และการช่วยเหลือฉุกเฉิน ได้มีการประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิผลพอสมควรแล้วในประเทศไทย แต่ด้านการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายแต่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควร
รถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศ สวนทางกับการเกิดอุบัติเหตุของรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้สาเหตุหลักของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ก็มีลักษณะเดียวกับรถประเภทอื่น คือ ความผิดพลาดของผู้ขี่ ดังนั้นการรณรงค์สร้างวินัยและการฝึกอบรมการขี่ปลอดภัยจึงเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหลักที่เกือบทุกประเทศใช้
นอกจากนี้พบว่าปัญหาที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศในเอเชีย คือ มีการใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก ทำให้เกิดสภาพมีรถจักรยานยนต์ปะปนกับยานพาหนะอื่น ๆ สูง ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพการขี่จักรยานยนต์ที่เสี่ยงอันตรายมาก ดังนั้นจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการแยกกระแสจราจรของจักรยานยนต์ออกจากพาหนะอื่น
ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์จำเป็นต้องมีการใช้มาตรการที่ครอบคลุมทั้งด้านยานพาหนะ ผู้ขี่และถนน ดังสรุปดังนี้ ด้านยานพาหนะ การเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถจักรยาน ยนต์ทุกรุ่น เช่น การแถมหมวกนิรภัยและเสื้อหนังที่ได้มาตรฐาน หรือการติดตั้งระบบเบรกเอบีเอส ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ, การเผยแพร่ความรู้เบื้องต้นในการตรวจเช็กสภาพรถแก่ผู้ขี่
การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจักรยานยนต์ มาตรการด้านผู้ขับขี่ การพัฒนาระบบการสอบใบขับขี่ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเพิ่มการทดสอบเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ทดสอบการรับมือกับสถาน การณ์ที่เสี่ยง, การให้แรงจูงใจในการเข้ารับการอบรมการขับขี่ปลอดภัย เช่น การลดเบี้ย พ.ร.บ.การลดค่าต่อทะเบียนรถหรือการให้ศูนย์ฝึกอบรมที่ได้รับรองมาตรฐานสามารถจัดสอบใบขับขี่ได้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกน่าจะเป็นเจ้าภาพในการผลักดันนโยบายนี้
การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์หรือชิ้นส่วนในการพัฒนาความสามารถในการขับขี่ เช่น ศูนย์ฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า, การให้ใบขับขี่แบบ Graduated Licensing เช่น อาจให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขับขี่เฉพาะตอนกลางวัน หรือขับขี่รถที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 100 ซีซี การรณรงค์ความปลอดภัยในการขับขี่ของนักเรียน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะฝ่าฝืนกฎจราจรสูง โดยเน้นตั้งแต่ระดับมัธยมต้นต่อเนื่องถึงมัธยมปลาย แนวทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อาจใช้หน่วยเคลื่อนที่ประสานกับโรงเรียนในจังหวัดนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป
การจัดตั้งองค์กร หรือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยของการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ เช่น สหรัฐมี MSF หรืออังกฤษมี RoSPA ญี่ปุ่นมี JAMA ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยอาจขอการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์
การรณรงค์โครงการเมาไม่ขับ โดยอาจเพิ่มการตรวจสถานจำหน่ายสุรา ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายแก่ลูกค้า รวมทั้งมีบริการขับรถส่งถึงบ้านให้แก่ลูกค้าที่ดื่มสุราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะตามสถานจำหน่ายสุรา
มาตรการด้านถนน การสร้างช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ เช่น ในไต้หวันทำในเขตใจกลางเมือง และมาเลเซียสร้างในทางด่วน
มาตรการในระยะเร่งด่วน กำหนดช่องทางเดินรถ ขั้นแรกควรสำรวจและคัดเลือกพื้นที่ศึกษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ ลักษณะทางกายภาพ ปริมาณจราจรและสถิติอุบัติเหตุของพื้นที่ เมื่อได้พื้นที่เหมาะสมแล้ว จึงทำการประชาคมโครงการเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะสนองตอบความต้องการใช้งานของประชาชนอย่างแท้จริง
กรณีของไทยนั้น จากการทบทวนเบื้องต้นพบว่า จังหวัดที่น่าจะเป็นพื้นที่นำร่องได้ คือ สมุทรปราการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณจราจรของรถจักรยาน ยนต์มาก และยังมีการปะปนของรถบรรทุกสูงด้วย ทั้งสองปัจจัยเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ขับขี่ เจ้าของพื้นที่ เช่น กรมทางหลวง อบต. และผู้บังคับใช้กฎหมาย คือ ตำรวจ
การออกใบขับขี่รถจักรยานยนต์แบบแบ่งขั้น ตามกฎหมายของไทย ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ สามารถขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ โดยรถจักรยานยนต์ต้องมีขนาดกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซีซี อย่างไรก็ตามการวิจัยในสหรัฐและยุโรป พบว่า ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงมากกว่าผู้ขับขี่ที่มีอายุระหว่าง 25-64 ปี ถึง 4 เท่า ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่เหล่านี้ โดยในต่างประเทศมีการกำหนดมาตรการจำกัดการขับขี่ของผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อย 2 ลักษณะ คือ
การควบคุมเชิงเวลา จำกัดช่วงเวลาที่อนุญาตให้ผู้ขับขี่ที่ได้ใบอนุญาตช่วง 1 ปีแรกได้เฉพาะช่วง 06.00-21.00 น. หากจำเป็นต้องขับขี่นอกเวลาดังกล่าว ต้องมีผู้ปกครองควบคุมมาด้วย, การควบคุมความเร็ว จำกัดความเร็วในการขับขี่ของผู้ที่มีอายุน้อย โดยความเร็วต้องต่ำกว่าความเร็วที่อนุญาตผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตแบบเต็มขั้น
มาตรการดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงของผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อย ซึ่งยังมีประสบการณ์การขับขี่น้อย และมักมีพฤติกรรมเสี่ยง ผลการศึกษาในสหรัฐพบว่า ลดจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ขับขี่วัยรุ่นได้ถึงร้อยละ 25
ในการออกใบขับขี่แบบแบ่งขั้นนั้น จะแบ่งใบอนุญาตขับขี่เป็น 2 แบบ คือ แบบช่วงฝึกหัด และแบบเต็มขั้น โดยในการขอเลื่อนขั้นจากช่วงฝึกหัดไปสู่แบบเต็มขั้น ในกรณีของสหรัฐหรือแคนาดา กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องผ่านช่วงฝึกหัด 12 เดือน ระหว่างนั้นจะขับขี่เวลากลางคืนไม่ได้
ขณะที่ประเทศในยุโรปกำหนดให้มีการอบรมและทดสอบผู้ขับขี่ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติอีกครั้ง