ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > ซีพีเดินเกมเทคโอเวอร์บ.มอเตอร์ไซค์ ดันยอดผลิตติดหนึ่งในห้า
ซีพีเดินเกมเทคโอเวอร์บ.มอเตอร์ไซค์ ดันยอดผลิตติดหนึ่งในห้า
ที่มา - นสพ.กรุงเทพธุรกิจ Biz Week ฉบับวันที่ 15-21 มิ.ย.50

ซีพียึดฐานธุรกิจในจีน ติดปีกต่อหาง เดินเกมเทคโอเวอร์โรงงานผลิตจักรยานยนต์ ต่อยอดกำลังการผลิตเป็น 3 ล้านคัน ในปี 2553 รุกคืบทำธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ สร้างเมืองใหม่ของจีน ชิมลางก่อนเดินสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เต็มขั้น ชี้ตลาดจีนมีศักยภาพ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ เหตุประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้น หลังรัฐบาลจีนเพิ่งประกาศขึ้นเงินเดือน 30%

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ ประธานคณะกรรมการและประธานผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยถึงแผนการทำธุรกิจในจีนว่า ในส่วนของการผลิตรถจักรยานยนต์ มีเป้าหมายที่จะขยับจากธุรกิจกลาง ขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ติด 1 ใน 5 ของผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในจีน ภายในปี 2553 โดยจะต้องมีกำลังการผลิตไม่ควรต่ำกว่าปีละ 3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 2.5 ล้านคัน จาก 2 โรงงานผลิต ภายใต้เครื่องหมายการค้า ต้าหยาง (DAYANG) ในมณฑลลั่วหยาง และแบรนด์ต้ายุ่น (DAYUN) ในมณฑลกวางโจว ซึ่งมองว่าธุรกิจในจีนจะอยู่รอดได้ต้องมีขนาดใหญ่ เพราะการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง

จากการที่ธนากรคร่ำหวอดธุรกิจในจีนมายาวนาน จนนครเซี่ยงไฮ้ยกย่องให้เขาเป็น "ประชาชนกิตติมศักดิ์" ของนครแห่งนี้ ยังเล่าถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ในจีนว่า การที่จะเข้าไปตั้งโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิต จะเป็นวิธีที่ยุ่งยากและใช้เงินลงทุนสูงเกินไป

ดังนั้นวิธีที่ซีพีจะเลือกใช้ คือการเข้าซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ ในโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปขนาดเล็กในจีน ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงินและการทำตลาด เพื่อหวังต่อยอดกำลังการผลิตได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถใช้สาขาและเครือข่ายที่มีอยู่เดิม ในการกระจายสินค้าภายใต้ 2 แบรนด์ของซีพี จะเป็นแนวทางที่เยี่ยมยอดกว่า ในปัจจุบันธุรกิจผลิตจักรยานยนต์ของซีพีในจีน มีสัดส่วนส่งออก 30% ไปยังเวียดนาม อินโดนีเซีย ปากีสถาน และแอฟริกา

"ตอนนี้มีโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์จำนวนมากที่กำลังจะไปไม่รอด มีกำลังการผลิต 5 หมื่นถึง 1 แสนคัน มาหาเราให้ช่วย แต่สิ่งที่ต้องทำก่อนคือ เลือกจุดภูมิศาสตร์ของโรงงานในฝั่งตะวันออกของประเทศ อาทิเช่น เซี่ยงไฮ้ ซานตง หนานเจียง เจอเจียง และเจียงซู และห่างจากโรงงานปัจจุบัน หากเลือกโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงกัน การเทคโอเวอร์ก็ไม่ได้เสริมในแง่การตลาด"

เขาเล่าว่า ซีพียังเป็นพันธมิตรที่ดีกับบริษัทผลิตรถยนต์ในจีน ภายใต้ชื่อ เชอร์รี่ ออโตโมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ติดอันดับ 1 ใน 5 ของจีน และยังมีฐานการผลิตอยู่ที่มาเลเซีย ผลิตรถยนต์ 1100 ซีซีราคาเริ่มต้นที่ 320,000-400,000 บาทต่อคัน ซึ่งซีพีเตรียมแผนนำเข้ารถยนต์ดังกล่าวมาจำหน่ายในไทย โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

หากในปีแรกของการทำตลาดในไทย จะเป็นการทดลองตลาด ถ้าพบว่าตลาดตอบรับดีจะขยับไปสู่การร่วมมือกันตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย โดยนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน คาดว่าในเบื้องต้นน่าจะมีกำลังการผลิตในไทยประมาณ 5,000 คันต่อเดือน ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากตลาดให้การตอบรับ

รองประธานกรรมการซีพี เล่าต่อว่า ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ชื่อ "เจียไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด" ก็ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ไม่เสี่ยงมากนัก โดยการเข้าไปทำธุรกิจที่ปรึกษา รับออกแบบวางผังเมืองใหม่ให้กับเมืองธงโจ บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร จะมีทั้งศูนย์การค้า สำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อพัฒนาเป็นเมืองที่มีความพร้อมกระจายความแออัดของเมือง โครงการนี้ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี โดยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลมณฑลปักกิ่ง เนื่องจากทีมงานอสังหาริมทรัพย์ของซีพี ผ่านงานวางผังเมืองปูตงมาแล้ว

"รัฐบาลจีนต้องการสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ใหม่ เพราะต้องการอนุรักษ์เมืองเดิมที่สร้างมายาวนานไว้ ขณะที่เมืองเดิมก็คับแคบลงเรื่อยๆ แทนที่จะทุบบ้านเรือนเก่าและสร้างตึกใหม่ เขาก็เลือกที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า และยังสามารถออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า"

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซีพีจะค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจากการเป็นที่ปรึกษาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยจะยังไม่เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการเอง เพราะมองว่าต้องลงทุนสูง ไปพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย ธนากรเล่า

ในส่วนของธุรกิจบริษัทผลิตยารักษาโรคในจีน ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีกำไรสูงปีละ15% โดยซีพีเริ่มจากการเห็นศักยภาพของสมุนไพรจีน ก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันในลักษณะอัดเม็ด อาทิเช่น ยาบำรุง ยาหยอดตา ยาชะลอความชรา ยาแก้ต่อมลูกหมากโต และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ซีพียังคงจะให้ความสำคัญในการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งให้มากขึ้น จากความโดดเด่นด้านจำนวนเครือข่ายที่มีอยู่ รวมถึงค้าเมล็ดพันธุ์พืชและอาหารสัตว์ ซึ่งจะสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกลงไปในระดับตำบลของจีน

จากปัจจุบันจีนมี 7 แสนตำบล ซีพีมุ่งหวังจะสร้างเครือข่ายค้าปลีกให้ได้ใน 3 หมื่นตำบล ในลักษณะเอเย่นต์ (ตัวแทนจำหน่าย) เมล็ดพันธุ์และสินค้าในเครือ เป็นศูนย์กลางรับซื้อเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกร เพื่อนำส่งให้กับห้างเทสโก้โลตัสที่มีอยู่ 79 แห่งในจีน

หนึ่งในขุนพลซีพี ยังเล่าถึงโอกาสการทำธุรกิจในจีนว่า "กลุ่มธุรกิจบริการ" ถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส หลังจากที่คนมีรายได้สูงขึ้น ทำให้ต้องการแสวงหาความสะดวกสบายมากขึ้น จะเห็นได้จากสัดส่วนธุรกิจบริการในเซี่ยงไฮ้มีถึง 60% เมื่อเทียบภาคการผลิต และยังเป็นสัดส่วนที่กำลังจะเติบโตได้อีก เพราะตามสถิติของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนธุรกิจบริการ 70-80% ของภาคการผลิต รัฐบาลจีนยังประกาศเพิ่มเงินเดือนขึ้นให้ประชาชนอีก 30% ยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนต่างชาติในจีนมากขึ้นไปอีก

"เมื่อคนมีสตางค์เพิ่มขึ้น ก็คิดถึงความสะดวกสบาย สิ้นปีบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งยังแจกบัตรเดบิต สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจบริการนั้นมีการเติบโต"

สำหรับธุรกิจซีพีในจีน มีรายได้ในปีที่ผ่านมา 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 175,000 ล้านบาท (35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) และตั้งเป้าหมายจะเติบโตขึ้นเป็น 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 192,000 ล้านบาท ในปี 2550 โดยเฉลี่ยเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10%