ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > "ซูเปอร์ไบค์" ตลาดเกิดใหม่ เติมช่องว่างเมืองหลวงมอเตอร์ไซค์
"ซูเปอร์ไบค์" ตลาดเกิดใหม่ เติมช่องว่างเมืองหลวงมอเตอร์ไซค์
ที่มา - นสพ.กรุงเทพธุรกิจ Biz Week ฉบับวันที่ 22-28 มิ.ย.50

ภาวะเศรษฐกิจที่อึมครึม ส่งผลให้ยอดขายในตลาดของสินค้าคงทน ทรุดลงไปทันตาเห็น สินค้าจักรยานยนต์ในช่วง 5 เดือนแรก ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หนี้ในกลุ่มของลูกค้าเช่าซื้อจักรยานยนต์ก็เริ่มบวมขึ้นมาทีละน้อย ให้เห็นอาการหมกเม็ดเงินของรากหญ้าผู้บริโภครายใหญ่ในตลาดสองล้อ

ประเทศไทยนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของจักรยานยนต์ขนาดเล็ก เพราะว่าไทยเรามีการผลิตรถจักรยานยนต์ชนิดต่างๆ ถึงปีละ 1.7 ล้านคัน แม้จะเป็นอัตราการผลิตที่ลดลงจาก 2 ล้านคัน เมื่อหลายปีก่อนหน้า แต่ถือว่าไทยเรายังเป็นผู้นำในส่วนของการใช้จักรยานยนต์ ขนาดเล็กระหว่าง 100-150 ซีซี

แต่ตลาดภายในประเทศ ทำท่าว่าจะเข้าสู่จุดอิ่มตัว ซึ่งอารักษ์ พรประภา กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจบิซวีค ว่า สัดส่วนการเป็นเจ้าของจักรยานยนต์ของคนไทยล่าสุดอยู่ที่ราว 3.4-2.7 ต่อ 1 หมายความว่า ประชากร 3 คนกว่าๆ เป็นเจ้าของจักรยานยนต์ 1 คัน ในขณะที่ไต้หวัน ประเทศที่เป็นแม่แบบของการบริโภคจักรยานยนต์และเป็นตลาดที่อิ่มตัวนั้น อัตราส่วนการเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 2 ต่อ 1

ดังนั้นสิ่งที่จะเห็นจากนี้ไปคือ การซื้อใหม่ จะน้อยลง เหลือแต่การซื้อทดแทนของเดิมเท่านั้น และหากภาวะตลาดยังคงเช่นนี้อยู่ ก็จะไม่มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้เห็น สิ่งที่ตามมาคือ ผู้ค้าต้องวางแผนพัฒนาตลาดใหม่และการส่งผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากกลุ่มลูกค้าเดิมลงตลาด เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่

สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น เห็นได้จากการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังของผู้ผลิตญี่ปุ่น ผู้ที่ครองตลาดจักรยานยนต์มายาวนานอย่างเอ.พี.ฮอนด้า เริ่มหาตัวช่วยเพื่อผลักดันตลาด หนึ่งในนั้นคือการปรับปรุงรถ ให้สามารถเจาะกลุ่มผู้ใช้อย่างถึงกลุ่มมากขึ้น เช่น สร้างกลุ่มตลาดจักรยานยนต์เอที สำหรับตลาดวัยรุ่น โดยที่ไม่ทิ้งจักรยานยนต์ในทำงาน หรือการสร้างจักรยานยนต์ในรูปแบบย้อนยุคของยามาฮ่า ในรุ่นฟิโน่ นอกจากนี้ ล่าสุด แผนการเปิดตลาดจักรยานยนต์ระดับบนก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดซูเปอร์ไบค์ ที่กำลังมีความต้องการแต่กลับไม่มีสินค้าเข้ามาจำหน่าย

- ฮอนด้าเปิดตัว "ซูเปอร์ไบค์"
ค่ายจักรยานยนต์ที่เตรียมสร้างประวัติศาสตร์เพื่อเชื่อมรอยต่อของตลาด "สองล้อ" คือ เอ.พี. ฮอนด้า ซึ่งเอ.พี.ฮอนด้า เป็นผู้นำในตลาดก็จริง แต่ถือว่าเคาะแผนทำตลาดซูเปอร์ไบค์ตามหลังคู่แข่งอย่างคาวาซากิ ที่ออกเดินหน้าทำตลาดรถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่ไปก่อนหน้า หรือในด้านของข่าว ยามาฮ่าก็ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะทำตลาดบิ๊กไบค์หรือซูเปอร์ไบค์เช่นกัน

"สำหรับ "เอ.พี.ฮอนด้า กำลังอยู่ระหว่างการอบรมเทคนิคต่างๆ ให้แก่ช่างในศูนย์บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมของการขยายเซ็กเมนท์รถจักรยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถแนะนำจักรยานยนต์ 3-4 รุ่น ในปลายปีนี้" อารักษ์กล่าว จักรยานยนต์ของฮอนด้าที่จะแนะนำได้แก่ จักรยานยนต์สปอ์ต รุ่น CBR 600RR /CBR 1000RR ในส่วนของรถทัวริ่ง ได้แก่รุ่น GOLD WING เป็นต้น

สาเหตุที่เอ.พี.ฮอนด้า พิจารณาว่าถึงเวลาที่จะทำตลาดรถซูเปอร์ไบค์ คือ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะถนนและกลุ่มลูกค้าที่นิยมรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการเล่นรถเป็นของสะสม นอกจากนี้ยังมีไลฟ์สไตล์ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนหนึ่งฮอนด้าคาดว่า การจำหน่ายซูเปอร์ไบค์เป็นการสร้างอิมเมจที่ดีให้แก่แบรนด์ฮอนด้า ทั้งนี้ในการทำตลาด จะมีการทำแบบครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งรถของฮอนด้าจะนำเข้ามาอย่างถูกต้อง โดยผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร

ด้านราคาจำหน่าย จักรยานยนต์ฮอนด้า คาดว่าราคาเริ่มต้นราวคันละ 6-7 แสนบาท ไปจนถึง ล้านกว่าบาท ซึ่งปัจจุบัน ภาระภาษีของจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ มีภาระรวมราว 100% ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้จักรยานยนต์ขนาดใหญ่มีราคาสูง

- ใครตัวจริงวันนี้ในตลาดใหม่กำลังซื้อสูง
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของซูเปอร์ไบค์ เริ่มคึกคักมาตลอดทั้ง 5 เดือนของปีนี้ เพราะว่ามีค่ายรถจักรยานยนต์หลายรายที่เริ่มทำการตลาดรถอย่างจริงจัง โดยในฝั่งญี่ปุ่น คือ ค่ายคาวาซากิ ที่ได้เปิดโชว์รูมบิ๊กไบค์แห่งแรก ริมถนนพระราม 9 ในนามของคาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย)

ซึ่งรถบิ๊กไบค์ของคาวาซากิ ที่นำเข้ามาทำตลาดรุ่นแรกคือ วัลแคน 900 คัสตอม (Vulcan 900 Custom) วัลแคน 900 คัสตอม ใช้เครื่องยนต์ V-Twin 903 cc. ระบายความร้อนด้วยน้ำ ระบบหัวฉีดดิจิทัล ระบบกันสะเทือนหลังแบบ Uni-trak สไตล์ Hard-tail look พร้อมระบบขับเคลื่อนด้วยสายพานที่ให้ความเงียบ สะอาด และคงทน ล้อหน้าอัลลอยขนาด 21 นิ้ว และล้อหลังอัลลอยขนาด 15 นิ้ว บังโคลนหลังตัดสั้น โช้คอัพด้านหน้ากว้างและแฮนด์แบบ drag-style ถังน้ำมันรูปทรงหยดน้ำ เพิ่มความหรูด้วยโครเมียมตลอดคัน

สำหรับค่ายยามาฮ่า ที่จดๆ จ้องๆ มาตลอดว่าจะเปิดตลาดรถบิ๊กไบค์ในเมืองไทย และยังบอกด้วยว่า ได้เตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์บริการไว้เรียบร้อยแล้วที่โรงงานยามาฮ่า ย่านถนนบางนา-ตราด กม.21 และเมื่องานมาถึงยามาฮ่าก็เปิดตัวบิ๊กไบค์พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ลองสัมผัสลองนั่งกันในงาน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการเปิดจองหรือขายจริงๆ เสียที

ไม่เพียงแต่ค่ายญี่ปุ่นที่เคลื่อนไหวกับตลาดบิ๊กไบค์ แต่ทางซีกยุโรปก็ขยับตัวเช่นกัน เริ่มจาก บริษัท ดูคาทิสติ จำกัด (Ducatisti Co., Ltd.) ผู้นำเข้ารถจักรยานยนต์ดูคาติ (Ducati) จากอิตาลี อย่างเป็นทางการเพียงผู้เดียวในไทย ที่เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปี 2545 จนถึงวันนี้ มียอดขายรวมกว่า 100 คัน และขณะนี้เตรียมเสริมตลาดด้วยการเปิดตัวรถโมเดลใหม่ ดูคาติ 1098

ดูคาติ ถือเป็นซูเปอร์ไบค์ชั้นนำในเรื่องสมรรถนะจากสนามแข่งโมโต จีพี และ 1098 ก็ได้รับดีเอ็นเอนั้นมาด้วยเช่นกัน 1098 เป็นรถที่ประกอบในโรงงานดูคาติ เมืองโบโลญญา อิตาลี โดยลูกค้าชาวไทยสามารถสั่งจองได้ในเดือนเมษายนนี้ และจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้สั่งจองได้กลางเดือนมิถุนายน

ดูคาทิสติ ตั้งราคา 1098 ไว้ที่ 1.098 ล้านบาท 1098s ราคา 1.398 ล้านบาท และ 1098s Tri color 1.598 ล้านบาท โดย 1098 นี้มาพร้อมกับเครื่องยนต์ Testastretta Evolution ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบ L-Twin ให้กำลัง 160 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์ 6 จังหวะ ผ่านระบบขับเคลื่อนด้วยโซ่ และเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการใช้ระบบเบรกแบบ Radial Mount Monobloc ที่ใช้กันเฉพาะในรถแข่ง

ในส่วนของรถอเมริกา ฮาร์เลย์-เดวิดสัน จักรยานยนต์ที่มีผู้ลอกเลียนสิขสิทธิ์มากสุดนั้น จัดทัพเรื่องของโปรดักท์ไลน์กันเรียบร้อยแล้ว พร้อมด้วยการแนะนำโมเดลปี 2007 ซึ่งบริษัท เพาเวอร์สเตชั่น มอเตอร์สปอร์ต จำกัด ปัจจุบันพร้อมทำตลาดจักรยานยนต์ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน เต็มรูปแบบ

มีสินค้าครบไลน์ ทั้งรถและอุปกรณ์เสริม เสื้อผ้า ซึ่งรถที่ทำตลาดนั้นก็ผ่านการทดสอบตาม มอก.ของไทย ซึ่งยอดขายของฮาร์เลย์-เดวิดสัน ตกประมาณ 100-150 คัน และมีราคาเริ่มต้นประมาณ 8 แสนบาท-1.6 ล้านบาท