ในช่วงครึ่งปีแรกอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งความไม่มั่นคงจากสถานการณ์ทางการเมือง และพิษเศรษฐกิจที่มีแต่ปัจจัยลบรุมเร้า ส่งผลกระทบถึงตลาดรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดถึงสภาพของเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้เป็นอย่างดี
"ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์" รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงสาเหตุและทิศทางของตลาดรถจักรยานยนต์ รวมทั้งแนวทางการดำเนินธุรกิจของยามาฮ่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
- ประเมินสถานการณ์ในครึ่งปีแรก
ตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดหดตัวไปแล้วกว่า 17% มีปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าตลาดตกลงไปค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่ยอดขายตกลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ถือว่าตลาดยังดีอยู่เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2543 ซึ่งถือเป็นปีที่ตลาดตกลงไปมากที่สุด ในช่วงวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" จากเดิมที่มียอดขายอยู่ 1.5 ล้านคัน ลดลงเหลือเพียง 2 แสนคันเทนั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในวันนี้ ผมมองว่ายังไม่ถึงกับโคม่า แต่น่าจะเป็นช่วงการปรับตัวของตลาดมากกว่า
สถานการณ์วันนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งตลาดรถจักรยานยนต์ถือเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้อีกอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเศรษฐกิจดีก็จะมีการซื้อล่วงหน้า ยอดขายก็จะโตขึ้น แต่ขณะนี้ถ้าไม่จำเป็น ผู้บริโภคก็จะไม่ซื้อ
- มองภาพรวมของตลาดรถจักรยานยนต์ทั้งปี
สำหรับตลาดในปีนี้ ผมมองว่าน่าจะมีแต่ "ทรง-ซึม" ส่วนในครึ่งปีหลังเชื่อว่าตลาดคงจะไม่ดีมาก แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ตลาดอาจจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งมีการเลือกตั้ง ก็น่าจะทำให้ตลาดกลับมาบนพื้นฐานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอีกครั้ง
แม้ว่าตลาดโดยรวมจะมีอัตราเติบโตลดลงจริง แต่ผมยังเชื่อมั่นถึงศักยภาพของประเทศไทยโดยรวม เห็นได้ว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถจักรยานยนต์โตขึ้นค่อนข้างมากและมียอดจำหน่ายไปถึง 2 ล้านคัน แต่วันนี้เชื่อว่าคงจะไม่ลดลงไปเหลือ 5-6 แสนคัน เพียงแค่อยู่ในช่วงของการชะลอตัวเท่านั้น และคิดว่าในปีหน้าสถานการณ์ทุกอย่างน่าจะกลับมาดีขึ้น
ในปีนี้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์จะทำได 1.65 ล้านคัน ลดลงประมาณ 15% จากปีที่แล้ว ที่มียอดขาย 1.5 ล้านคัน ถ้าทุกอย่างลงตัวแล้วคาดว่าตลาดจะกลับมาอยู่ที่ 1.7-1.8 ล้านคันได้
- ในส่วนของยามาฮ่าเป็นอย่างไร
สำหรับยามาฮ่า เราได้รับผลกระทบเช่นกัน เห็นได้ในช่วงครึ่งปีแรก เราก็มีการประคองตัวจากสภาพตลาดที่ตกลงไปถึง 17% ซึ่งเท่ากับว่าการแข่งขันก็จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะก้อนเค้กมีขนาดเล็กลง เมื่อตอนต้นปีทุกค่ายต่างมีการตั้งเป้าและคาดการณ์ไว้ว่า อย่างน้อยจะต้องมีการเติบโตเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ตัวเลขตกลงไป 17% ถือวค่อนข้างเยอะ
ในด้านศักยภาพการแข่งขันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับในปี 2549 ยามาฮ่ายังมีส่วนแบ่งการตลาดเท่าเดิมที่ 23% แม้ว่ายอดจำหน่ายจะลดลงไปตามตลาดรวม แต่เรายังคงยืนยันว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น
ส่วนปีนี้คาดว่ายอดจำหน่ายทั้งปีจะลดลงมาเหลือ 4 แสนคัน คาดว่ายอดรายได้ในปีนี้จะหดตัวลงไปราว 10% เหลือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท จากที่ทำได้ 2.5 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา
- ตอนนี้ตลาดรถออโตเมติกแข่งกันแรง
แน่นอนมีการแข่งที่รุนแรงด้วยการอัดกิจกรรมและแคมเปญส่งเสริมการขาย โดยผู้ผลิตรายใหญ่นำมาเล่น ซึ่งยามาฮ่าก็ได้กระโดดลงไปเล่นด้วยเหมือนกันเพื่อรักษาตลาด ในส่วนของยามาฮ่านั้นในปีก่อนเราทำตลาดได้ดีมาตลอด แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว หลังจากมีค่ายใหญ่มาขอแบ่งแชร์ ทำให้เริ่มมีการแข่งขันในตลาดรถออโตเมติกรุนแรงขึ้น ซึ่งยามาฮ่าก็พยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของเราไว้อย่างเต็มที่
สำหรับตลาดรถออโตเมติกนั้นปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 40% ของตลาดรวม แม้ว่าปีนี้ยามาฮ่าอาจจะไม่ได้ครองอันดับหนึ่งแล้ว แต่เราก็มีส่วนแบ่งไม่น้อยกว่า 40% ของตลาดออโตเมติกโดยรวม และเชื่อว่าปีนี้จะมีส่วนแบ่งในเซ็กเมนต์นี้ 43% ในปีหน้าก็จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 45% ด้วย
- ครึ่งปีหลังต้องปรับตัวอย่างไร
จากสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ บริษัทจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการทำตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อปีที่แล้วเราใช้ไปประมาณ 7-8% ของยอดจำหน่าย ปีนี้เราอาจจะต้องเพิ่มเป็น 10% แม้ว่ายอดขายของเราจะน้อยลง ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีกำไรลดลง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะเราถือว่าเป็นระยะปรับตัวและเชื่อว่าตลาดในปีหน้าจะกลับคืนมา ส่งผลให้ตลาดรวมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
เรามองว่าปีนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตัดงบฯการตลาด ซึ่งเราวางแผนที่จะใช้งบฯถึง 1,973 ล้านบาท ในการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้นจากงบประมาณในปีที่ผ่านมาที่ใช้ไป 1,850 ล้านบาท ซึ่งคนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากสถานการณ์ในช่วงนี้ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
- ประเมินทิศทางของผู้บริโภค
ผู้บริโภคในบ้านเราค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับตัวรถ ที่ต้องใช้งานได้จริงและมีคุณภาพดี บวกกับการที่ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีอุตสาหกรรมเสริมพวกชิ้นส่วนค่อนข้างมาก จึงมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีถือเป็นตัวสำคัญ ปัจจุบันเมืองไทยกำหนดมาตรฐาน ยูโร 3 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่สูงกว่าในญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป ส่งผลให้รถที่ผลิตในประเทศถือเป็นรถสะอาดและมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีค่อนข้างมาก