ยักษ์ใหญ่ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไซค์ เมืองผู้ดีสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โฆสิต มอบให้ บีโอไอ เร่งวางแผนส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจน หลัง Triumph Motorcycles เตรียมขยายการลงทุนผลิตเครื่องยนต์ในไทยอีก 3,500 ล้านบาท ขณะที่บริษัทผลิตเครื่องยนต์ดีเซลรายใหญ่ และผลิตถังก๊าซ CNG ของอิตาลี มาตั้งโรงงานในไทย พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ครบวงจร
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ภายหลังเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรและอิตาลี และหารือร่วมกับนักธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ระหว่างวันที่ 25-29 ก.ค.50 ว่า จากการพูดคุยกับ Mr.John Bloor ประธานบริษัท Triumph Motorcycles ที่ประเทศอังกฤษ ได้รับการตอบรับที่ดี โดยทางบริษัท Triumph Motorcycles ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ (ไบค์) อันดับ 7 ของโลก จะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มอีก 3,500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยจะเริ่มในปี 2551 เพื่อทำการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่
โดยปัจจุบันบริษัท Triumph Motorcycles ได้สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ และทำการประกอบชิ้นส่วน ที่จังหวัดระยอง ตั้งเป้าผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ 50,000 คัน ซึ่งจากการตอบรับครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลสนใจที่จะขยายฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ให้กว้างขึ้น เพื่อให้ครบวงจร โดยให้นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดแผนส่งเสริมการลงทุนผลิตมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 500 ซีซี. ขึ้นไป ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการมากกว่า 100,000 คัน/ปี โดยจะกำหนดรายละเอียดการส่งเสริมการลงทุนคล้ายกับการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ซึ่งไทยจะเป็นฐานการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่เพื่อส่งออกทั้งหมด โดยมั่นใจว่านอกเหนือจากบริษัท Triumph Motorcycles แล้ว ยังมีผู้ผลิตอีก 2-3 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ในไทยที่ให้ความสนใจนโยบายดังกล่าว คาดว่าแผนส่งเสริมการลงทุนจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
นายโฆสิต กล่าวถึงการหารือร่วมกับ Mr.Giorgio Garimberti ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท VM Motori ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล มาตรฐานยูโร 5 ของประเทศอิตาลี ว่า บริษัท VM Motori สนใจจะมาตั้งโรงงาน ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในไทย โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งโรงงานในปี 2552 และเริ่มการผลิตในปี 2553 ตามเป้าหมายของไทยที่จะผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในไทยให้ได้ 70,000-80,000 เครื่อง ภายในปี 2553 โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 450-900 ล้านบาท แต่ยังต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้บริหารบริษัท General Motors ผู้ถือหุ้นของ VM Motori อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับ Dr.Eng. G. Luigi Cola กรรมการผู้จัดการ บริษัท Faber ผู้ผลิตถัง CNG ให้มีการตั้งโรงงานผลิตในไทย ซึ่งทางบริษัท Faber แสดงท่าทีสนใจ โดยอาจจะเข้ามาในลักษณะของการร่วมทุน ซึ่งยังต้องศึกษาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้คนไทย เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ CNG ในอนาคต และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้มีความหลากหลาย
ในเดือนสิงหาคมนี้ ตนจะเดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อศึกษาการผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก ของบริษัท ทาทาสตีล จำกัด รวมทั้งศึกษาการจัดระบบสิ่งแวดล้อมของโรงงาน ว่าดำเนินการอย่างไรที่ให้โรงงานอยู่คู่กับชุมชนโดยไม่เกิดปัญหา นายโฆสิต กล่าว
ด้าน Mr.Gloria B. Kinda Targetti หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการตลาด สถาบันพัฒนาการเงินส่งเสริมธุรกิจอิตาเลียนในต่างแดน (SIMEST) สำนักงานมิลาน กล่าวว่า นักลงทุนอิตาลีให้ความสนใจที่จะไปลงทุนในประเทศไทย แต่ก็ยอมรับว่ามีความกังวลเล็กน้อยต่อสถานการณ์การเมืองของไทย จึงอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ทั้งอัตราการขยายตัว การส่งออก และต้นทุนค่าแรงงานก็ยังสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน สภาพสังคมของไทยก็เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ดังนั้น เหลือเพียงการเมือง อยากให้เรียบร้อยโดยเร็ว ทั้งนี้ SIMEST สนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้เอกชนอิตาลีมาลงทุนในไทย จำนวน 20 โครงการ มีทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร พลาสติก ค้าปลีก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.และบริษัทจดทะเบียนชั้นนำ 4 บริษัท ได้เดินทางไปร่วมงาน International Roadshow in Japan ตามคำเชิญของบริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และ Nomura Securities Co., Ltd. เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุน และแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทย รวมทั้งเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ 3 กลุ่ม ได้นำเสนอข้อมูลแก่ผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนสถาบันที่มีศักยภาพในการลงทุนสูง ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 29-31 ก.ค.50 ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ร่วมเดินทางไปครั้งนี้ คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มทรัพยากร โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 4 แห่ง ณ วันที่ 26 ก.ค.50 มีมูลค่า 523,206.92 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเท่ากับ 6.82 ล้านล้านบาท