รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ สัญชาติไทยหาทุนนอกเสริมสภาพคล่อง ได้พันธมิตรมาเลเซียเยอรมนีพัฒนารถร่วมกัน เผยตลาดส่งออกปีนี้กระเตื้องได้ตลาดใหม่ ขณะที่ในประเทศอาการทรุด ตั้งเป้า 2 หมื่นคันปีนี้
นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ ประธานบริษัท ไทก้า มอเตอร์เซลล์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ สามล้อ และสี่ล้อยี่ห้อ ไทเกอร์ รถสัญชาตไทยเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้บริษัทได้มีการเจรจากับผู้ประกอบการต่างชาติในการระดมทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่เพื่อเจาะตลาดในอนาคต โดยในเบื้องต้นนี้ได้มีผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จากมาเลเซียและเยอรมนีสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับไทเกอร์ คาดว่าจะสามารถสรุปอย่างเป็นทางการได้ในช่วงปลายปีนี้
สำหรับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์สัญชาติมาเลเซียที่มีการเจรจาไปแล้วนั้นก็คือ ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ "โมมอส" (Momos) ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำตลาดรถจักรยานยนต์มาเลเซียมานาน และล่าสุดได้มีการพัฒนารถและสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาในช่วงระยะเวลาปีเศษที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ประกอบการเยอรมันนั้นคือ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์แซ็คส์ ไบค์ (Sachs Bikes)
"คนไทยยังคงถือหุ้นใหญ่อยู่ราว 60% ซึ่งตอนนี้มีทั้งมาเลเซียและเยอรมนีต่างก็สนใจที่จะร่วมลงทุนกับไทเกอร์ โดยเฉพาะมาเลเซียนั้น อาจจะเข้ามามีบทบาทและถือหุ้นมากกว่าเยอรมนีโดยเขาหวังว่าจะใช้ชิ้นส่วนและประสบการณ์ในการพัฒนารถของเราให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งทางรัฐบาลมาเลเซียก็ให้การสนับสนุนที่จะให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการสร้างแบรนด์เขาขึ้นมาเอง" นายปิติ กล่าวและว่า
ในเบื้องต้นนี้ทั้งมาเลเซียและเยอรมนีได้มีการนำรถจักรยานยนต์ไทเกอร์เข้าไปจำหน่ายในประเทศ โดยมาเลเซียนั้นมียอดขายราว 200 คันต่อเดือน เช่นเดียวกับรถ แซ็คส์ ไบค์ ของเยอรมันที่ก็จะนำรถไปขายและจะมีความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอื่นๆตามมาในอนาคต ขณะที่ในส่วนของไทเกอร์ในประเทศไทยก็ได้มีการนำรถจักรยานยนต์แซ็คส์ ไบค์เข้ามาทำตลาดเช่นกัน
ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจากไทเกอร์ กล่าวว่าการทดลองนำเข้ารถจักรยานยนต์ยี่ห้อใหม่ แซ็คส์ ไบค์ (Sachs Bikes)มาทำตลาดในประเทศไทยได้รับการตอบรับจากลูกค้าในระดับที่น่าพอใจ
ดังนั้นจึงได้เตียมเปิดตัวรถจักรยานยนต์ยี่ห้อนี้อย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสนใจดีไซน์ของรถที่โดดเด่นและนวัตกรรมใหม่ โดยในส่วนของการออกแบบนั้นได้นำโครงสร้างส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ถังน้ำมันได้ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวรถ ไฟหน้าเป็นแบบโปรเจ็กเตอร์ที่แสงไฟเป็นลำพุ่งออกไปได้ในระยะไกล ช่วยให้มองเห็นทัศนียภาพในยามค่ำคืนได้ดีขึ้น โดยรถที่นำเข้ามาจำหน่ายรุ่นแรกและรุ่นเดียวในขณะนี้คือรุ่น MadAss เครื่องยนต์ 125 ซีซี ราคาจำหน่าย 55,000-57,000 บาท มีวางจำหน่ายที่โชว์รูมไทเกอร์ย่านรัชโยธิน ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันกับศูนย์บริการยางรถยนต์ดีเกิ้ล สโตร์ และศูนย์จำหน่ายที่ถนนอาร์ซีเอ ซึ่งเป็นโชว์รูมเดียวกันกับรถจักรยานยนต์ไทรอัมพ์
นายปิติกล่าวว่าสำหรับตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์ไทเกอร์นั้นเริ่มมีการขยายตลาดใหม่ไปยังอเมริกาใต้ อย่างเปรูและบราซิล และยุโรปบางประเทศ ซึ่งตลาดใหม่เหล่านี้จะเริ่มทยอยส่งรถออกไปขายราว 3 เดือนข้างหน้า ส่วนตลาดต่างประเทศอื่นๆนั้นก็ได้มีการเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อมากเช่นกัน โดยคาดว่าตลาดส่งออกของไทเกอร์ ในปีนี้จะสามารถทำยอดขายได้มากถึง 10,000 คัน และในต่างประเทศยอดขายของตลาดในประเทศไทย 10,000 คัน
"การส่งรถจักรยานยนต์ไปขายนั้นจะมีทั้งรูปแบบที่ขายภายใต้ยี่ห้อไทเกอร์และยี่ห้อของพันธมิตร ซึ่งจุดเด่นของไทเกอร์นั้นคือเรื่องคุณภาพที่ทัดเทียมกับเกาหลีและญี่ปุ่น ส่วนรถจากจีนนั้นจาการสอบถามพบว่าผู้นำเข้าส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสนใจเนื่องจากมีปัญหาด้านคุณภาพรถ นอกจากนี้รถไทเกอร์ที่ส่งออกจากไทยนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามที่ลูกค้าต้องการ อาทิ ลูกค้าบางกลุ่มต้องการรถที่ประหยัดน้ำมัน เราก็สามารถปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ประหยัดน้ำมันได้"
อนึ่ง สำหรับยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์โดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 836,965 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 998,617 คันแล้ว มีปริมาณลดลง 161,652 คัน หรือมีอัตราการเติบโตลดลง 16% ซึ่งสำหรับรถจักรยานยนต์ฮอนด้านับเป็นค่ายผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่มีอัตราการเติบโตลดลงต่ำกว่าอัตราการลดลงของตลาดโดยรวม โดยมีปริมาณยอดจดทะเบียน 589,867 คัน เทียบเท่าอัตราส่วนครองตลาด 70% และเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตลดลงเพียง 10% ขณะที่ยามาฮ่ามียอดขายเป้นอันดับสอง 190,582 คัน ลดลง 18% ส่วนแบ่งตลาด 23% ซูซูกิมียอดขาย 43,204 คัน ลดลง 46% ในส่วนแบ่งตลาด 8%