ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ประจำ 7 เดือนแรกของปี พ.ศ.2550 นับได้ว่าเป็นปีที่ค่ายรถสองล้อแต่ละรายต้องออกแรงลุ้นกันมากเป็นพิเศษ เพราะแม้ทิศทางของตลาดมีแนวโน้มขาลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ด้วยภาพรวมในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ที่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไปเพียง 974,897 คัน คิดเป็นการหดตัวของยอดจำหน่ายสูงถึง 17% นับเป็นการหดตัวอย่างรุนแรงที่สุดนับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย และทำให้การคาดการณ์ของผู้ประกอบการเองยังมองว่าหากโชคดี สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายได้ก็น่าได้เห็นตัวเลขตลาดรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 1.6–1.65 ล้านคันได้ แต่นั่นก็ยังหมายถึงการหดตัวกว่า 15% จากตัวเลขการขาย 1.9 ล้านคันในปีที่ผ่านมาอยู่ดี
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์นั้นมีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดทรุดตัวลงไปก็น่าจะเป็นการที่เงินสะพัด ในระดับรากหญ้าหายไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือเศรษฐกิจก็ตามที ประกอบกับสัดส่วนการยึดรถที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา บีบบังคับให้ผู้ประกอบการไฟแนนซ์ต้องหันมาเอาจริงเอาจังกับการออกกฎด้านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และทำให้บรรดาผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่คิดเป็นกว่า 70% ของตลาดรถจักรยานยนต์เอง ต้องผจญกับภาวะความยุ่งยากในการขอทำเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แต่ละคัน
หันกลับไปดูที่ตัวเลขยอดจำหน่ายกันอีกครั้งหนึ่ง หากแยกลงไปในรายละเอียดของแต่ละค่ายแล้วจะเห็นว่าตัวเลขยอดขายของค่ายที่พอจะรับได้ก็คงจะมีแค่ยักษ์ใหญ่อย่างฮอนด้า ที่ยังพกยอดขายในรอบ 7 เดือนแรกที่ 688,387 คัน หรือมียอดจำหน่ายลดลงแค่ 12% กับยามาฮ่าที่ขายไป 220,594 คัน มียอดจำหน่ายลดลง 18% เท่านั้น
ที่บอกว่าพอรับได้ เพราะเมื่อดูตัวเลขของค่ายที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นซูซูกิที่ขายไป 49,875 คัน หดตัวไป 47% คาวาซากิที่ขายได้ 4,319 คัน หดตัวไป 52% เจอาร์ดีขายได้ 2,889 คัน หดตัวไป 21% แพลตตินัมขายไป 2,050 คัน หดตัวไป 30% ไทเกอร์ขายไป 1,059 คัน หดตัวลงไปมากที่สุด 91% ขณะที่จักรยานยนต์รายยิบรายย่อย แม้จะมียอดการขายเติบโต 116% หรือขายได้ 5,724 คันก็ตาม แต่ก็เป็นการเติบโตจากฐานเดิมที่ค่อนข้างต่ำ
จากตัวเลขทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้ฮอนด้าและยามาฮ่าน่าจะกลายเป็นผู้ประกอบการเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีความพร้อมในการบุกตลาดในปีนี้ เพราะแค่ 2 ค่ายนี้รวมกันก็กินส่วนแบ่งการตลาดไปแล้วกว่า 94% โดยเป็นของฮอนด้า 71% เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 67% และยามาฮ่า ที่รักษาแชร์ไว้ได้เท่าปีที่ผ่านมาที่ 23% ขณะที่ค่ายที่พอจะนับส่วนแบ่งได้ก็เหลือเพียงซูซูกิที่มีอยู่ 5% ลดลงไปจากปีก่อนที่มีอยู่ 8% และไทเกอร์-คาวาซากิ ที่เคยกอดคอกันมีคนละ 1% ต้องยอมแพ้ยกส่วนแบ่งที่มีอยู่ให้กับค่ายฮอนด้าไปกันจนหมดสิ้น
หันมาดูในรายละเอียดของตัวสินค้าที่ทำตลาดกันบ้าง แม้ตลาดหลักจะยังคงเป็นรถครอบครัวที่มียอดขาย 490,938 คัน หรือคิดเป็น 50% ของตลาดในช่วง 7 เดือนแรกก็ตาม แต่การหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 35% ก็เป็นตัวเลขที่ทำให้เห็นว่าตลาดรถครอบครัวก็เริ่มชะลอตัวลงไป พระเอกของงานในปีนี้ก็คือตลาดรถจักรยานยนต์ออโตเมติก หรือเอที ตามแต่ที่ใครจะเรียก ที่มีการเติบโตขึ้นกว่า 33% หรือคิดเป็น ยอดขาย 442,966 คัน มีส่วนแบ่งถึง 45% ในปีนี้
ตลาดรถจักรยานยนต์ออฟโรด เป็นอีกตลาดที่มีการเติบโต 11% จากฐานเดิมที่ค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว ตลาดรถครอบครัวกึ่งสปอร์ตก็ยังมีการหดตัวถึง 52% รวมไปถึงรถจักรยานยนต์สปอร์ตที่หดตัวไปเช่นกันที่ 18%
หากพิจารณาตัวเลขทั้ง 2 กลุ่มนี้เข้ามาด้วยกัน ก็อาจจะสรุปได้ว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนั้น สิ่งที่จะทำให้แต่ละค่ายอยู่รอดฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ คงต้องวัดกันที่เรื่องของความพร้อมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเรื่องของตัวสินค้า ซึ่งแม้ว่าแต่ละค่ายจะทยอยปรับตัวไปหาตลาดรถจักรยานยนต์อัตโนมัติกันบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าความเป็นยามาฮ่าและฮอนด้าก็ทำให้ผู้บริโภคเองให้การยอมรับได้มากกว่าและสนิทใจกว่า รวมถึงช่วงเวลาในการเปิดตัวที่เหมาะสมของแต่ละค่ายก็แตกต่างกัน
อีกอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความพร้อมในเรื่องเครือข่ายการจำหน่ายที่ทั้ง 2 รายใหญ่มีการปูพรมวางแผนไว้ค่อนข้างดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเครือข่ายที่สูงที่สุดของฮอนด้า หรือการพัฒนาเครือข่ายรูปแบบใหม่ที่ยามาฮ่านำหน้าไปได้ดีกว่าเล็กน้อย ก็ทำให้ผู้บริโภคเองค่อนข้างที่จะเทใจให้กับรถจักรยานยนต์จาก 2 ค่ายนี้มากกว่าค่ายอื่น
นั่นก็หมายความว่า หากไม่นับ ซูซูกิที่ประกาศขอเวลา 2 ปีในการเคลียร์ปัญหาเรื่องเครือข่ายการจำหน่ายของตัวเอง ตามแผนที่มีการตั้งตัวแทนจำหน่ายของไทยซูซูกิเอง ประกบกับดีลเลอร์ของกลุ่ม เอส.พี.ซูซูกิ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการสักระยะ แต่ก็น่าจะให้ผลที่คุ้มค่า ประกอบกับแนวทางในการพัฒนาสินค้าที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ค่ายรถอื่นๆ ที่เหลือน่าจะไม่มีความพร้อมในการแข่งขันในตลาดช่วงที่เหลือของปีอย่างจริงจัง ซึ่งอันนี้ก็ต้องไม่นับรวมคาวาซากิ ที่รับสภาพปรับตัวไปเป็นบริษัทที่เน้นการส่งออกจากประเทศไทยเป็นหลักมานานพอสมควรแล้ว
ส่วนค่ายที่ดูแนวโน้มว่าจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปในประเทศไทยได้ คงหนีไม่พ้นไทเกอร์ ที่ดูเหมือนจะมีลูกฮึดในช่วงแรกแล้วก็ซาลงไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เจอาร์ดีที่เอาดีทางสกูตเตอร์แต่ไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเสียที และแน่นอนว่ารวมไปถึงแพลตตินัม ที่มาถึงวันนี้ยังต้องบอกว่าอยู่ในสถานการณ์คาบลูกคาบดอกมาก เพราะผ่านมาแล้วร่วม 2 ปี ก็ยังไม่เห็นแนวทางและทิศทางในการแข่งขันที่ชัดเจนแต่อย่างใด เหลือเพียงแค่ว่าใครจะสามารถยืนระยะได้อย่างยาวนานในประเทศไทยมากกว่ากันแค่นั้นเอง
ย้อนกลับมาดูที่คู่ฟัดประจำปีอย่างฮอนด้าและยามาฮ่ากันอีกสักนิด แม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดจะห่างกันกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมองว่ายังห่างชั้นที่ยามาฮ่าคิดว่าฟาดฟันกับฮอนด้าอย่างจริงจัง แต่ด้วยศักดิ์ศรีของแชมป์เก่าในอดีต เชื่อว่ายามาฮ่าเองก็คงไม่ปล่อยให้ฮอนด้าเก็บมาร์เก็ตแชร์หนีห่างออกไปได้โดยง่าย โดยเฉพาะในส่วนของจักรยายนตร์ออโตเมติก ซึ่งยามาฮ่าถือได้ว่าเป็นผู้มาก่อนในตลาดประเทศไทย
จุดแข็งของยามาฮ่าในเรื่องของจักรยานยนต์ออโตเมติกน่าจะมีอะไรให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงที่เหลือของปี นอกเหนือไปจากการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่แล้ว ซึ่งยามาฮ่าเองประกาศชัดเจนว่าจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มรถบิ๊กไบค์เข้ามาในช่วงปลายปีซึ่งจะทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีสินค้าครบไลน์ที่สุด ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์ไปจนถึงยานน้ำ ซึ่งทีมผู้บริหารของยามาฮ่าประกาศชัดเจนว่าแม้เศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยนักในปีนี้ แต่ก็จะบุกหนักในทุกอย่างที่ทำ เพื่อรักษายอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย 4 แสนคัน รวมไปถึงการรักษาส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มออโตเมติกเอาไว้ให้ได้มากกว่า 40% ตามแผนงานเดิม
กลับไปมองที่ฮอนด้ากันบ้าง ฮอนด้าเองเพิ่งรอดพ้นการถูกส่งฟ้องในเรื่องอำนาจเหนือตลาดมาได้ หลังจากเรื่องคาราคาซังมายาวนาน แม้ทางนายใหญ่จะออกมาประกาศว่าไม่ตื่นเต้นอะไร เพราะรู้มาอยู่แล้วว่าฮอนด้าไม่ได้ทำอะไรผิดมาอย่างยาวนาน แต่การประกาศขยายศูนย์แอดวานซ์ ซีเอสไอช็อปในช่วงที่เหลือของปี หลังจากนิ่งเงียบมากว่า 2 ปี ก็ทำให้ถูกผูกเข้ากับกระแสสยายปีกหลังหลุดข้อกล่าวหาไปไม่ได้ หากมองในมุมของการทำการตลาด เครือข่ายร้านค้าที่จะขยายให้ครบ 200 แห่งภายในปี 2551 น่าจะกลายเป็นการรุกคืบที่สำคัญอีกครั้งของฮอนด้า หลังจากอยู่เงียบๆ มานาน
มองข้ามช็อตหลังจากผ่านการลงประชามติ รวมถึงการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ตามแนวคิดของรัฐบาลแล้ว หลายๆ ค่ายยังเชื่อว่าตลาดรถจักรยานยนต์น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างเร็วในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 เป็นต้นไป คำว่ากลับสู่ภาวะปกติในทีนี้ หมายถึงจำนวนยอดจำหน่ายที่จะกลับมามีอัตราการเติบโตอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่เห็นการเติบโตแบบหวือหวาก็ตาม แต่ก็พอจะทำให้ผู้ประกอบการใจชื้นขึ้นมาได้บ้างอย่างแน่นอนในปีหน้า ถ้าไม่มีสถานการณ์รุนแรงอีกครั้ง
หากตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จริง การเปิดศึกในตลาดสองล้อในประเทศไทย ก็น่าจะกลับมารุนแรงกันอย่างจริงจังอีกครั้งในช่วงปี 2552 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะฮอนด้าและยามาฮ่าเองก็คงมีความพร้อมที่จะทำตลาอย่างมาก หลังจากปรับฐานในช่วง 1-2 ปีนี้ น่าจะทำให้มีความพร้อมในการรบมากขึ้น รวมไปถึงดีลเลอร์ทั้งหลายก็เช่นกันขณะเดียวกัน ปี 2552 จะเป็นการครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี ที่ซูซูกิประกาศขอไว้ในการเคลียร์เรื่องเครือข่ายดีลเลอร์ทั้งหมด ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ซูซูกิก็น่าจะพร้อมกลับมาลุยตลาดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาที่ว่าไว้พอดิบพอดี
ทำให้การคาดการณ์ของหลายๆ คนที่มองว่าตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในอนาคต น่าจะเหลือผู้แข่งขันรายหลักอยู่จริงๆ แค่ 2 รายหรือเต็มที่ไม่เกิน 3 ราย ดูใกล้จะเป็นจริงเข้าไปทุกที