เบอร์หนึ่งตลาด 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ "ยามาฮ่า" งัดสูตร "ครีเอตนิว มาร์เก็ต" ย้ายสนามรบ หลังสมรภูมิเดิม "อิ่มตัว" เล็งขยายฐานลูกค้าแบบวิบาก เป็นแต้มต่อ เสริมฐานลูกค้าแบบวงกว้าง เชื่อมั่นจากนี้อีก 3 ปี ครองส่วนแบ่งตลาดรวม 30%
ท่ามกลาง "สมรภูมิ" แข่งเดือดในสังเวียนรบตลาดรถจักรยานยนต์เมืองไทย หลายค่ายคงฟาดฟัน "ยอดจำหน่าย" เพื่อประคองฐานที่มั่นเดิม ไม่ให้หลุดเป้า หลังปัญหาการเมืองไทย และสภาพเศรษฐกิจ ฉุกกำลังซื้อ "ลดลง" นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2549 เรื่อยมา
ยิ่งการพึ่งพาในตลาด "รากหญ้า" ที่วันนี้ ไม่มีเงิน อัดฉีด เข้าสู่ระบบจากรัฐบาลมากนัก ทำให้สถานการณ์ในตลาดรวมรถจักรยานยนต์ เข้าขั้น "วิกฤต" หนักเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หลังจากภาวะ "อิ่มตัว" จากความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ ส่งสัญญาณ "โต" แบบ "บอนไซ" มา 2 ปีแล้ว เฉลี่ยยอดขายรวมระดับ 1.8-1.9 ล้านคัน เท่านั้น จุดนี้ เชื่อว่า สิ้นปี 2550 ยอดขายตลาด จะเหลือเพียง 1.6 ล้านคัน เทียบกับปีที่แล้ว ยอดขายหายไปประมาณ 2 แสนคัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท
ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บอกว่า สถานการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้ตกต่ำมาก เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการจะพยายามกระตุ้นการขายเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จ เหตุนี้ทำให้ภาพรวมยอดขาย 7 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ก.ค.)ตกลงจากปีที่แล้วของช่วงเดียวกันถึง 16.2%
ส่วนสาเหตุมาจากผันผวนทางการเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น จึงได้ชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ลดลงเหลือเพียง 73% นับว่าเป็นสัญญาณที่อันตรายมาก เพราะตัวเลขที่บ่งบอกสภาวะความเชื่อมั่นได้ดี จะต้องมีตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นไม่ต่ำกว่า 100% อย่างเช่นเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเติบโตเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมา ดัชนีความเชื่อมั่นไทยอยู่ระดับที่ 120%
"นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ถือว่า ปีนี้ตลาดรถจักรยายนต์วิกฤติมากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่า ถึงสิ้นปีตลาดรถจักรยานยนต์จะเหลือเพียง 1.6 ล้านคน เทียบกับปีแล้วยอดขายหายไปประมาณ 2 แสนคัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท" ประพันธ์ กล่าวและว่า
หากเทียบกับวิกฤติปี 2540 มีความแตกต่างกัน "วิกฤต" รอบนั้น ทุกอุตสาหกรรมล้มลงหมดยอดขายดิ่งลงจากระดับ 1 ล้านคันกว่าๆเหลือ เพียง 500,000 คัน ภายในปีเดียว ส่วนช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ยอดขายดิ่งแบบตัว V กล่าวง่ายๆคือ โตแบบถดถอย
ขณะนี้ที่คู่แข่ง เพื่อนบ้านไทย อย่าง "เวียดนาม" หรือ "อินโดนีเซีย" ยอดขายกลับเพิ่มโดดเด่น "เวียดนาม" เติบโต 25% มียอดขายรวมประมาณ 2.5 ล้านคัน ส่วน "อินโดนีเซีย" ตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครอบคลุม 5 ล้านคัน เติบโตมากถึง 30%
ความเห็นของประพันธ์ ประเมินว่า แม้ตลาดแห่งนี้(ไทย)จะเติบโตคงที่เหมือน "บอนไซ" ไม่หวือหวาเหมือนเพื่อนบ้าน เนื่องมาจาก "คู่แข่ง" รุกหนักเกือบทุกค่าย ทั้งที่แต่ละแบรนด์ มีพื้นที่กลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุด จะเหลือเพียง "หัวขบวน" ไม่กี่แบรนด์เท่านั้น ที่ยึด "หัวหาด" ได้สำเร็จ
"ฮอนด้า และยามาฮ่า ครองส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 90% ไปแล้ว ถามว่า คู่แข่งที่เหลือต้องทำอย่างไร...? ถึงจะดึงส่วนแบ่งของเรา(ยามาฮ่า)หรือฮอนด้าไป ผมคงตอบแทนไม่ได้ แต่ที่แน่ๆเรามีแผนรองรับไว้แล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้จากนี้อีก 3 ปี ที่ขอครองส่วนแบ่งตลาด 30%" ประพันธ์ ย้ำ
กลยุทธ์ "ครีเอต นิว มาร์เก็ต" หาช่องว่างการตลาด น่านน้ำสีครามคือ โอกาสใหม่ ที่ว่านั้น กับแผนการหา "ช่องว่าง" ตลาดใหม่ "จินตนา อุดมทรัพย์" ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้าและกรรมการบริหารไทยยามาฮ่ามอเตอร์บอกว่า ความท้าทายจากปีนี้ไป และถือเป็น "การบ้านหนักที่สุด" ของยามาฮ่าคือ ทำอย่างไรถึงจะเพิ่ม หรือ ขยายฐานลูกค้าออกไปให้มากที่สุด ตามเป้าที่เราวางไว้คือ ส่วนแบ่งตลาด 30% ภายใน 3 ปีจากนี้ โดยที่ "ข้อจำกัด" ภาวะตลาดอิ่มตัว เป็นกำแพงกั้น
จินตนาบอกว่า ยามาฮ่าจำเป็นต้องครีเอต นิว มาร์เก็ต เซ็กเมนต์ บุกไปสร้างตลาดใหม่ ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อต่อยอดฐานลูกค้ายามาฮ่า ในวงกว้างออกไปเรื่อยๆไม่จำกัด เพียงแต่ตลาดรถยนต์จักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ เท่านั้น
"ตลาดรถจักรยานยนต์วิบาก" คือ คำเฉลยที่จินตนา บอกใบ้เอาไว้.. ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เธอบอกว่า ไม่สามารถคาดเดา อนาคตได้ หากแต่เชื่อว่าความต้องการในตลาดกลุ่มนี้ มีอนาคตแต่ต้องอาศัย ช่วงจังหวะที่ดี และรอดูความพร้อมของดีมานด์ในตลาดก่อน จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอนาคตต่อไป
ปัจจุบัน "คาวาซากิ" และ "ไทเกอร์" เป็นค่ายรถจักรยานยนต์ เน้นขาย "โปรดักต์" ในกลุ่มนี้มากสุด โดยตลาดหลัก คือ "การส่งออก" ต่างจากค่าย 2 ล้อแบรนด์อื่น เน้นขายแบบมวลชน (Mass) จับตลาดเกียร์อัตโนมัติ (Automatic) และเกียร์ธรรมดา (Mannal)
ดังนั้น หาก "ยามาฮ่า" เบนเข็ม ลงสู่สนามรถจักรยานยนต์วิบาก เชื่อว่า การนำ "ดีไซน์" ซึ่งเป็น "จุดแข็ง" ขายคู่ Performance จะจับตลาดกลุ่มผู้ชาย ขณะที่กลุ่มลูกค้า กลุ่มผู้หญิง และเด็ก เน้นเน้นขับขี่แบบสบาย ซึ่งเป็นอีกอารมณ์หนึ่งของการขับขี่รถจักรยานยนต์วิบากแบบใหม่ มาเป็นจุดขาย
"เราทำงานวิจัยมาตลอด ไม่ว่าแผนการเปิดตัวสินค้ากลุ่ม บิ๊กไบค์ เมื่อเร็วๆนี้ หรือกลุ่มสินค้ายานยนต์ทางน้ำ ซึ่งเรามองดูแล้วว่า มีอนาคต และตลาดรถจักรยานยนต์วิบาก คือ โอกาสที่เราเชื่อว่า มีศักยภาพเช่นกัน แต่ทุกอย่างต้องรอดูทิศทางหาข้อสรุป ขั้นสุดท้ายก่อน" จินตนา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ยามาฮ่ามีส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์ 23% และตั้งเป้าเติบโตปี 2551 ส่วนแบ่งตลาดจะเพิ่มไม่มาก อยู่ที่ 23% หรือ 24% เท่านั้น และหากว่า ทุกอย่างดำเนินตามแผนของยามาฮ่าวาง "พิมพ์เขียว" ไว้แล้ว
จินตนา เชื่อว่า เป้าหมายส่วนแบ่ง 30% จะประสบผลสำเร็จเร็วกว่าที่กำหนด ที่สำคัญ จะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้า "ยามาฮ่า" เติบโตแบบวงกว้างต่อไป ในอนาคต