สธ.เสนอ ศธ.จัดทำหลักสูตรขี่รถจักรยานยนต์ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล หลังพบตัวเลข 25% ของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นนักเรียน นักศึกษา และ 70% ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ตายด้วยอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์นเรนทร พบว่า 1 ใน 4 หรือ 25% ของผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรเป็นนักเรียนนักศึกษา และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีประมาณ 2,000 คนต่อปี ซึ่ง 70% ของเด็กกลุ่มนี้เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรจะมีหลักสูตรสอนขับขี่รถจักรยานยนต์ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมที่สอนภาคทฤษฎี หรืออาจจะจัดไว้ในหลักสูตรลูกเสือยุวกาชาด
ขณะเดียวกันรถรับส่งนักเรียนของเอกชนที่ใช้รถตู้มาดัดแปลง มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 รองจากรถจักรยานยนต์ เพราะรถตู้เหล่านี้ดัดแปลงให้มีที่นั่งประมาณ 30 คนเพื่อให้คุ้มทุน โดยเฉพาะรถที่รับเด็กเล็ก เมื่อมีอุบัติเหตุมีอัตราการตายและบาดเจ็บสาหัสสูงมาก อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ในรถก็ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรสนับสนุนการลงทุน อาจลดหย่อนภาษี หรือช่วยผู้ปกครองสมทบจ่ายค่าโดยสารให้รถตู้ที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย
นายบุญรัตน์ วงษ์ใหญ่ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการวิจัยของ ศธ. พบว่า พาหนะที่ปลอดภัยน้อยที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ รถโดยสารประจำทาง จักรยานยนต์รับจ้าง จักรยาน สองแถวรับจ้าง และรถยนต์ส่วนบุคคล ขณะที่นักเรียนตามโรงเรียนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลและจักรยานยนต์รับจ้าง ขณะที่พฤติกรรมการขับขี่ไม่ค่อยเคารพกฎจราจร โรงเรียนกับผู้ปกครองต้องมาช่วยดูแลควบคุมในเรื่องนี้