ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > 2550 > แพทย์เตือนสาวซ้อนมอไซด์อุบัติเหตุปีละ 3 หมื่น
แพทย์เตือนสาวซ้อนมอไซด์อุบัติเหตุปีละ 3 หมื่น
ที่มา - นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 ก.ย.50

หมอเตือนแม่ลูกอ่อนอุ้มเด็กซ้อนท้าย สาวไม่รวบชายกระโปรง พระสงฆ์ ระวังชายผ้าหลุดเข้าล้อ อุบัติเหตุถึงตาย เผยมีผู้บาดเจ็บส้นเท้า นิ้วขาดนับหมื่นรายต่อปี ส่วนจักรยานเกิดปีละ 3 หมื่นรายต่อปี แนะ 6 วิธี ให้เด็กอยู่บนเนื้อหุ้มเหล็ก แล้วเสี่ยงน้อยที่สุด เผยรถมอเตอร์ไซต์รุ่นเก่าปลอดภัยน้อยกว่ารถอัติโนมัติในปัจจุบัน

นพ.บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรีแถลงผล “ภัยมอเตอร์ไซค์ อันตรายใกล้ตัว” กล่าวว่า อุบัติเหตุจากการขับขี่และนั่งมอเตอร์ไซค์ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนไทย ปี 2548 บาดเจ็บรุนแรง 159,867 คน ตาย 9,877 คน ปี 2549 บาดเจ็บรุนแรง 164,836 คน ตาย 8,908 คน เฉลี่ย 1 ปี มีคนไทยบาดเจ็บรุนแรง 438 คน เสียชีวิต 27 คน ขณะที่ข้อมูลปี 2550 ซึ่งเริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2549 - 30 มี.ค. 2550 เพียง 7 จังหวัดคือ ประจวบ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี มีผู้ตาย 367 คนเป็นผู้ขับขี่ 324 คน ผู้นั่งซ้อน 43 คน เกิน 50% ตายทันทีในที่เกิดเหตุ โดยเป็นกลุ่มอายุ 25-45 ปี

นพ.บุญเรียง กล่าวอีกว่า ขณะที่มีผู้บาดเจ็บ 23,539 คน เป็นผู้ขับขี่ 17,537 คน ผู้นั่งซ้อน 6,002 คน กลุ่มอายุ 15-29 ปี มากที่สุด อวัยวะที่บาดเจ็บมากที่สุด คือ ศีรษะ มักมีอาการเลือดออกในสมอง หากไม่เสียชีวิตมาถึง ร.พ. ผ่าตัดได้ทัน ก็อาจพิการ รองลงมาคือ เท้า ที่อาจขาหัก ขาขาด ทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 80% ไม่สวมหมวกกันน็อค บุคคลเหล่านี้คือกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อุบัติเหตุมักเกิดในถนนสายรอง และอีกความเสี่ยงที่พบคือ ขาเข้าไปในซี่ล้อรถจักรยานยนต์ การเก็บข้อมูลเฉพาะของ ร.พ.นครปฐม พบถึง 113 ราย ที่ผ้าจากชายกระโปรงหรือกางเกงที่ยาวมากๆ เข้าไปในล้อรถจนเกิดอุบัติเหตุ เหมือนกรณีแม่อุ้มลูกวัย 1 เดือน แล้วผ้าอ้อมเข้าไปติดในซี่ล้อ จนขาขวาของเด็กขาด

“จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้รับอุบัติเหตุจากการที่มีเศษผ้าหลุดเข้าไปติดที่ดุมล้อประมาณ 2% นิ้ว หรือประมาณ 1 หมื่นคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ใส่กระโปรงยาว และพระสงฆ์ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีทั้งได้รับบาดเจ็บที่ส้นเท้า นิ้วขาด จนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นจึงอยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนให้ตระหนักในเรื่องนี้ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจในการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน”นพ.บุญเรียง กล่าวและว่า นอกจากนี้การดัดแปลงรถจักรยานยนต์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะการนำฝาครอบล้อออก และการดัดแปลงมอเตอร์ไซต์เป็นรถ 3 ล้อ โดยนำล้อมาพ่วงด้านข้างแต่ไม่มีการปิดกั้นระหว่างตัวพ่วงและล้อรถซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

รศ นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ.รามาธิบดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การทดสอบพบ รถจักรยานยนต์ที่มีฝาครอบโซ่หรือไม่มี ผ้าสามารถเข้าไปติดตรงดุมสเตอร์ ซึ่งเป็นแกนที่เชื่อมต่อระหว่างโซ่ และล้อหลังของรถได้เช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิครถจักรยานยนต์ แนะนำว่าต้องระมัดระวังเก็บชายผ้า ผู้หญิงที่นุ่งกระโปรงยาวควรเก็บให้เรียบร้อย เพราะขณะที่รถวิ่งปะทะแรงลม ชายผ้าสามารถเข้าไปติดพัน จนอาจเป็นเหตุร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่ผ่านมาพบว่าอุบัติในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในรถจักรยานยนต์รุ่นเก่าเท่านั้น ส่วนรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่เป็นระบบอัตโนมัติยังไม่มีรายงานแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นได้มีการประสานงานไปยังผู้ประกอบการและผู้ผลิตจักรยานยนต์ยี่ห้อต่างๆ ให้พิมพ์คำเตือนเรื่องนี้เพิ่มเติมไว้ในคู่มือแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายยินดีให้ความร่วมมือ

“ร.พ.ทุกแห่งควรเผยแพร่ข้อมูลเรื่องเด็กทารกโดยสารรถจักรยานยนต์ พร้อมอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่การเดินทางครั้งแรกของชีวิต คือหลังคลอด เพราะมีแม่จำนวนมากที่ต้องอุ้มเด็กแรกคลอด ออกจากร.พ.กลับบ้านด้วยรถจักรยานยนต์ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยง ใช้วิธีเดินทางทางอื่นที่ปลอดภัยกว่า แต่หากจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก เก็บผ้าห่อตัวเด็กให้เรียบร้อย ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง สำหรับเด็กทารกอายุ 3 เดือนขึ้นไป ที่กล้ามเนื้อคอแข็งแรงขึ้น สามารถชันคอได้ มารดาควรใช้เป้หรือถุงจิงโจ้แทนการอุ้มนั่งซ้อนท้าย เพื่อที่จะได้ใช้มือในการโอบกอดผู้ขับเพื่อกันตกจากรถ” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

รศ นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อุบัติเหตุจราจรและขนส่ง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของเด็ก รองจากการจมน้ำ โดยมีอัตราการตายเพราะอุบัติเหตุดังนี้ 1.เด็กทารก 15 รายต่อปี 2.เด็กอายุ 1-2 ปี 75 รายต่อปี 3.เด็กอายุ 3-5 ปี 131 รายต่อปี 4.อายุ 6-8 ปี 119 รายต่อปี 5.ช่วงอายุ 9-14 ปี 108 รายต่อปี เมื่อเด็กอายุมากขึ้นเด็กผู้ชายจะตายมากกว่าเด็กผู้หญิง และชี้ชัดว่าเด็กอายุ 12 ปี จะตายปีละประมาณ 50 ราย อายุ 14 ปี ประมาณ 148 รายต่อปี สาเหตุสำคัญของการตายสูงสุดถึง 65% คือการโดยสารและการขับขี่รถจักรยานยนต์ อีก 30% การถูกรถชน

รศ นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กกับรถจักรยานยนต์ 6 ข้อ คือ 1. ดีที่สุด คือใช้วิธีการเดินทางทางอื่นที่ปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่มีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยใดจะช่วยลดการบาดเจ็บลงได้ 2.เด็กอายุมากกว่า 2 ปี หากจะนั่งต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 3. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่ควรนั่งซ้อนท้ายตามลำพังกับผู้ขับขี่ เพราะเด็กอาจหลับและตกลงมาได้ หากไม่มีผู้ใหญ่นั่งซ้อนร่วมกับเด็กเล็ก ควรให้เด็กนั่งซ้อนด้านหน้าคนขับ เพราะจะเห็นตลอดเวลา แต่อาจทำให้การขับขี่ไม่สะดวก เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเช่นกัน 4.การใช้ผ้าหรือเข็มขัดและอุปกรณ์อื่นๆ รัดตัวเด็กเล็กไว้กับผู้ขับ ไม่มีข้อมูลพิสูจน์ความปลอดภัยแน่ชัด 5.การติดตั้งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเล็กบนรถจักรยานยนต์ อาจป้องกันการตกและขาเข้าซี่ล้อได้ แต่ไม่อาจป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถล้มหรือเฉี่ยวชน ทั้งในปัจจุบันยังไม่มีการออกแบบที่ดี มีการทดสอบความปลอดภัยอย่างแท้จริง 6.ทางที่ดีหากมีเด็กเล็กนั่งโดยสารอยู่ด้วย ผู้ขับขี่ไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวถามถึงว่า กรณีจักรยานทำให้เกิดอุบัติเหตุเศษผ้าหรือชายกระโปรงหลุดเช้าไปในล้อบ้างหรือไม่ นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า จักรยานก็มีเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ถึงขึ้นเสียชวิต แค่บาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น โดยอุบัติการณ์ประมาณ 1 ใน 15 ราย หรือประมาณ 3 หมื่นคนต่อปี