ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยซบเซาหนักสุดในรอบทศวรรษ 9 เดือนแรกยอดวูบไป 17% ฮอนด้ามั่นใจหลังเลือกตั้งยอดขายดกระเตื้อง ตั้งเป้ารถเกียร์ออโต้เพิ่ม หลังยอดขายโตต่อเนื่อง เปิดตัวรุ่นใหม่ ไอคอน ขณะที่ซูซูกิ ปรับโฉมเพิ่ม ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ตลาดรถจักรยานยนต์ส่งออกไปได้สวย แต่ตลาดในประเทศยังซบ
มร เซนจิโร่ ซากุราอิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า จากสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ที่ชะลอตัวนับตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นสถานการณ์ตลาดในภาวะถดถอย โดยปริมาณจำหน่ายมีอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัว หลังจากการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในช่วงสิ้นปี ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ตลาดรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายน มีปริมาณการจดทะเบียนทั้งสิ้น 1.24 ล้านคัน เทียบเท่าเป็นสัดส่วน 83% ของช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้า โดยสภาพตลาดที่ลดลงนี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศไทยมีการถือครองรถจักรยานยนต์ในอัตราสูง ประกอบกับเป็นช่วงสภาพเศรษฐกิจถดถอย จึงทำให้มีการชะลอการบริโภค
ล่าสุดฮอนด้าได้กระตุ้นตลาดมีความตื่นตัวคึกคักโดยได้พัฒนารถรุ่นใหม่สู่ตลาด เป็นรูปแบบรถ เอ.ที. รุ่นที่ 3 ของฮอนด้า นั่นคือ รุ่น "ไอคอน" ต่อจากรุ่นคลิก และ แอร์เบลด โดยเป็นการสนองตอบต่อกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์แบบ เอ.ที. ที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยรถรุ่นใหม่นี้มีทั้งหมด 3 สไตล์ คือ สปอร์ต , คิวท์ และไซเบอร์เครื่องยนต์เป็นแบบ 4 จังหวะ 110 ซีซี ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ มีระบบการป้องกันการโจรกรรม ด้วย Key Shutter ระบบกุญแจนิรภัย 2 ชั้น พร้อม Key Code Plate เป็นแผ่นรหัสกุญแจที่แสดงหมายเลขรหัสแยกต่างหากจากตัวกุญแจ ทำให้ตัวกุญแจไม่มีหมายเลขรหัส ซึ่งแผ่นเลขรหัสนี้สามารถแยกเก็บเป็นความลับเฉพาะบุคคล ป้องกันมิจฉาชีพทราบรหัสและแอบอ้างซื้อกุญแจเพื่อโจรกรรมรถ
นายเลิศศักดิ์ นววิมาน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ได้กล่าวว่า บริษัทได้มีการปรับโฉมใหม่ล่าสุดของรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติ รุ่น สเต็ป 125 เพื่อกระตุ้นให้ตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมให้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการปรับเพิ่มสีสันใหม่ ผสานกับลายกราฟฟิกใหม่
ด้านศูนย์วิจัย กสิกรไทย วิเคราะห์ ความนิยมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ออโตเมติกหรือเกียร์อัตโนมัติ จากในอดีตที่รถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวแบบปกติเคยครองส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศสูงถึงกว่าร้อยละ 85 ในปี 2547 แต่ในปี 2549 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 56 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติกลับเพิ่มขึ้นจากเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ในปี 2547 เป็นเกือบร้อยละ 40 ในปี 2549 และขยับขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 45 ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2550 ทั้งนี้ยอดขายที่ก้าวกระโดดของรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัตินี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาวะตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศในปี 2549-50 ยังคงมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยมีการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดระหว่างค่ายผู้ผลิตต่างๆ ซึ่งได้หันมาผลิตรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อรถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนตลาดของรถจักรยานยนต์ประเภทนี้อาจจะสูงถึงครึ่งหนึ่งหรือกว่าร้อยละ 50 ของตลาดภายในปี 2550-51 นี้ โดยในอนาคตอาจจะมียอดจำหน่ายขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแทนรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวที่ครองอันดับหนึ่งมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับปรุงเทคโนโลยีสำหรับรถจักรยานยนต์และการผลิตรถรุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาด โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ออโตเมติก อาจจะช่วยยืดเวลาการเข้าสู่จุดอิ่มตัวของตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่แนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ในระยะยาวในไทยจะค่อนข้างทรงตัวและขยายตัวได้ไม่มาก เนื่องจากโครงสร้างตลาดที่ใกล้อิ่มตัว ทั้งนี้ตลาดรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อรถใหม่เพื่อทดแทนรถคันเก่า ในขณะที่การซื้อรถจักรยานยนต์คันแรกของผู้บริโภคจะมีสัดส่วนที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้ผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เชื่อมันว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ จะทำให้หลายธุรกิจกลับมาคึกคักขึ้น มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น และอาจส่งผลให้ตลาดรถจักรยานยนต์กระเตื้องขึ้นได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม กว่าที่ภาพการฟื้นตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศจะชัดเจนขึ้น ก็คงใช้เวลาอย่างน้อยก็ราวกลางปี 2551 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า เนื่องจากแนวโน้มโครงสร้างตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ทำให้การขยายตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยต่อจากนี้ไป จะไม่ร้อนแรงเหมือนในอดีต และอาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี กว่าที่ยอดขายจะกลับมาที่หลัก 2 ล้านกว่าคันต่อปีเท่ากับเมื่อช่วงปี 2547-49 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปริมาณดังกล่าวจะเป็นระดับทรงตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ไทยที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว
ส่วนแนวโน้มการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบจากประเทศไทยอาจจะไม่ร้อนแรงเท่ากับในอดีตช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบางประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนจากไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนามที่นับเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนจากไทย แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปอย่างรวดเร็ว จนสามารถชะลอการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากไทย ทั้งนี้โครงสร้างอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเวียดนามประกอบไปด้วยค่ายผู้ผลิตใหญ่ๆจากญี่ปุ่นคล้ายกับในประเทศไทย นอกจากนั้นปัจจุบันรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศจีนก็ได้รุกเข้าตลาดเวียดนาม และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์จากไทยซึ่งเดิมเคยสูงถึงเกือบร้อยละ 40 แต่ปัจจุบันได้ลดลงเป็นลำดับ ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดรถจักรยานยนต์จากจีนที่ขายอยู่ในตลาดเวียดนามกลับกระโดดขึ้นมาอยู่ที่กว่าร้อยละ 30 ในปี 2549 ที่ผ่านมา ภาวะการแข่งขันของตลาดรถจักรยานยนต์ในต่างประเทศจึงนับวันจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนจากไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ากลยุทธ์การตลาดของบริษัทแม่ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ๆ โดยเฉพาะบรรดาค่ายญี่ปุ่นที่มีโรงงานอยู่ในประเทศไทย จะยังคงมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนวางแผนในการจัดสรรการผลิต การจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยให้สามารถขยายการส่งออกได้ต่อไป นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีความเห็นว่า จากขนาดของตลาดตลอดจนความต้องการรถจักรยานยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายๆ ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี ในขณะที่ปัจจุบัน กำลังการผลิตในประเทศเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับแนวโน้มดังกล่าวได้ ดังนั้นการส่งออกรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบจากประเทศไทยซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้ จึงจะยังคงมีบทบาทอยู่ต่อไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบในประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ตลาดภายในประเทศจะได้เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้วก็ตาม