ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้ กลุ่มคนที่นิยมรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่มีมากขึ้น สาเหตุเพราะผู้นิยมรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กเริ่มที่จะออกนอกกรอบจากจำนวนรถที่วิ่งเกลื่อนถนนนั่นเอง และเมื่อจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือที่เรียกกันว่า “ซูเปอร์ไบค์” นั้น มีโมเดลหลากหลาย พร้อมกับมีผู้แทนจำหน่ายมากขึ้น กลุ่มผู้มีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนใครนี้ ก็พร้อมที่จะขับขี่ “ซูเปอร์ไบค์” วิ่งบนถนนมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อ “ซูเปอร์ไบค์” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่เพื่อหลีกหนีความจำเจ และถือเป็นความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร เข้ากับภาวะยุคน้ำมันแพงและการจราจรที่ยังติดขัดนี้ การใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะแทนรถเก๋ง ซีดานนั้นถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว เพราะทั้งประหยัด และดูแลรักษาง่าย
สิ่งที่ปรากฏโฉมอยู่นี้เป็นยอด “ซูเปอร์ไบค์” จากแดนอังกฤษในนาม “ไทรอัมพ์” (Triumph) ที่เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นชื่อ-คุ้นหน้า-คุ้นตากันอยู่บ้างจากชื่อเสียงที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อกล่าวถึงไทรอัมพ์ก็คงต้องนึกถึง ดอม เหตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริทไบค์ จำกัด ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ Triumph ในประเทศไทยเช่นกันดอม เหตระกูล บอกถึง “ไทรอัมพ์” ว่า เหมือนกับยานยนต์ทั่วไป มีหลากหลาย กลุ่ม-รุ่น โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่เริ่มจาก สปอร์ต เรซซิ่ง ที่เน้นเร็วแรง โดยส่วนใหญ่จะ ติดตั้งเครื่องยนต์ 3 สูบ พละกำลังกว่า 100 แรงม้าขึ้นไป ระบายความร้อนด้วยอากาศน้ำ จึงสามารถขับขี่ได้อย่างคล่องตัวทั้งในเมือง และนอกเมืองอย่างเช่นรุ่น Daytona 675 ซึ่งได้รับรางวัลรถจักรยานยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2549, รุ่น Speed Triple, รุ่น Sprint ST และรุ่น Tiger 1050
กลุ่มที่สองคือ ครุยเซอร์ เป็นซูเปอร์ไบค์ ที่ ออกไปในแนวคล้าย ๆ ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน จากแฮนด์จับสูง ๆ ติดตั้งเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการเดินทางไกล ให้มีความปลอดภัยในการขับขี่สูง และเน้นความสบายของผู้ขับขี่เป็นหลัก โดยครุยเซอร์ที่มีจำหน่ายได้แก่ รุ่น America, Speed Master, Racket 3 และ Rocket 3 Classic ที่ได้รับรางวัลรถยอดเยี่ยมมาตลอด โดยมีราคาตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,200,000 ล้านบาทส่วนกลุ่มที่สามคือ โมเดิร์น คลาสสิก ที่รูปลักษณ์จะออกเป็นแนวย้อนยุคไปในปี 1960-1970 โดยกรรมการผู้จัดการ “บริทไบค์” ถือเป็นรุ่นที่น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องเพราะราคาที่ไม่สูงมากเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 แสนบาท ขับขี่ง่าย โดยเฉพาะรุ่น “Bonneville” ที่มองดูแล้วไม่เบื่อ ตกแต่งเพิ่มเติมได้หลากหลาย ที่สำคัญติดตั้งเครื่องยนต์ที่ไม่ใหญ่ ผลที่ได้คือประหยัดเชื้อเพลิงด้วยเครื่องยนต์แบบ 2 สูบคู่ 865 ซีซี 68 แรงม้า ระบายความร้อนด้วยอากาศ และนอกจากในรุ่น Bonneville แล้วยังมี Scramble และ Thruxton
ผู้บริหาร “บริทไบค์” บอกอีกว่า ปัจจุบันนี้มี ซูเปอร์ไบค์แบรนด์หลัก ๆ อยู่ไม่มาก เช่น ดูคาติ จากอิตาลี, BMW จากเยอรมนี, ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน จากอเมริกา และ ไทรอัมพ์ ของเราจากอังกฤษ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีซูเปอร์ไบค์จากประเทศญี่ปุ่นที่ยังได้รับความนิยมอยู่มาก จากราคาที่ต่ำกว่าประมาณ 40% รูปลักษณ์ ดีไซน์ โฉบเฉี่ยว ดุดัน สวยงามพอควร
สำหรับยอดจำหน่ายในปี 2550 ณ ขณะนี้ มียอดจดทะเบียนไปได้แล้ว 32 ยูนิต และคาดว่าปีหน้า 2551 จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 50 ยูนิต และคงจะเติบโตต่อเนื่องอีก 5% ในปีถัด ๆ ไป เนื่องเพราะช่วงเดือน ตุลาคมที่ผ่านมาได้จับมือกับ บริษัท นิยมพานิช จำกัด โดย นารีรัตน์ จันทรมังกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ทำการเปิดตัวโชว์รูมแห่งใหม่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณโชว์รูมนิยมพานิช สาขาถนนนิมมานเหมินท์ อีกทั้งยังมีแผนแต่งตั้งตัวแทน ตามจังหวัดหลักของเมืองไทยอีก ซึ่งได้มอง ๆ ไปแล้วบ้างที่ ภูเก็ต และเมืองพัทยาจากนี้ไป เมื่อประชาชนเริ่มเห็น รู้จักในประสิทธิภาพและความสวยงามยั่งยืนของรถจักรยานยนต์ “ไทรอัมพ์” มากขึ้น ตลอดจนการเน้นงานบริการหลังการขาย ด้วยการส่งช่างผู้ชำนาญไปฝึกถึงประเทศอังกฤษ บวกรวมถึงเรื่องอะไหล่และอุปกรณ์เสริมพิเศษต่าง ๆ ที่รวดเร็วทันใจผู้ใช้ไทรอัมพ์แล้ว เชื่อว่าประชากรซูเปอร์ไบค์ในนาม “ไทรอัมพ์” จะมีให้เห็นเกลื่อนตามากขึ้น