ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > ปลุกกระแสลดอุบัติเหตุท้องถนน จัดโครงการสวมหมวกกันน็อก 100%
ปลุกกระแสลดอุบัติเหตุท้องถนน จัดโครงการสวมหมวกกันน็อก 100%
ที่มา - นสพ.บ้านเมือง วันที่ 13 ก.พ.54

ปัจจุบันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น ช่วงนี้กระแสในการให้ความสำคัญกับการรณรงค์ป้องกันการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ทำให้วันนี้เกิดการรณรงค์อย่างจริงจัง จึงได้เกิดโครงการต่างๆ ขึ้นมามากมาย

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัย บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เปิดตัวโครงการปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้น ณ สโมสรทหารบก เพื่อประกาศเจตนารมณ์และผลักดันนโยบายการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งสร้างกระแสให้สังคมเกิดการรับรู้เกี่ยวกับการรณรงค์ตามมาตรการดังกล่าวและเรียนรู้ถึงประโยชน์และการสวมหมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี พร้อมนำร่องให้หน่วยงานภาครัฐ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน

อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 11,000 คน และกว่าร้อยละ 75 ของผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเสียชิวิต คือ การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี ค.ศ.2011-2020 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ดังนั้นทางรัฐบาลจึงได้ประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้ปี พ.ศ.2554-2563 เป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนน โดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ไม่เกิน 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 2563 ซึ่งการจะให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องแก้ไขปัจจัยสำคัญต่างๆ โดยมาตรการแรกที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในปี 2554 คือการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมหรือค่านิยมของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งในขณะขับขี่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ ค.ศ.2011-2020 เป็นวาระทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน โดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ไม่เกิน 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 2563 ซึ่งการที่จะทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องแก้ไขปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพัฒนาความรู้และสมรรถนะในการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนน การปรับปรุงโครงสร้างถนนให้มีความปลอดภัย การยกระดับมาตรฐานยานพาหนะ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการแรกที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในปี 2554 คือ การส่งเสริมให้ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมหรือค่านิยมของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งในขณะขับขี่ รวมถึงใช้หน่วยงานในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการรณรงค์ฯ ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นตัวอย่างที่ดี ในการสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานปีรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยบรรลุตามเป้าหมาย รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้ การบังคับใช้กฎหมายการสวมหมวกนิรภัยอย่างจริงจัง การส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และสถานศึกษารณรงค์การสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานหมวกนิรภัยให้มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การยกย่ององค์กรตัวอย่างในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย ในโอกาสนี้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน จะร่วมกันผลักดันมาตรการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย โดยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์"

สำหรับแนวทางการดำเนินงานภายใต้โครงการปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการดำเนินโครงการฯ จะกำหนดให้หน่วยงานราชการ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎจราจร โดยสวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ จากนั้นจะขยายผลโครงการไปสู่สถานประกอบการและสถานศึกษาของภาครัฐและภาคเอกชนในระยะต่อไป

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในฐานะคณะทำงานโครงการปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ได้สนับสนุนหมวกนิรภัยโดยมีเป้าหมายให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง อีกทั้งยังได้จัดทำหมวกรองใน "กันน็อก กันนะ" ซึ่งเป็นหมวกรองในก่อนสวมหมวกนิรภัย สำหรับใช้ในการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างให้ผู้โดยสารสวมใส่ก่อนใส่หมวกนิรภัย

นอกจากนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนจัดกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินโครงการปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และจะนำแนวทางตามแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทั้งเรื่องการลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มแล้วขับ การแก้ไขจุดเสี่ยงจุดอันตรายบนถนน การปรับพฤติกรรมการขับรถเร็ว การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ การพัฒนาสมรรถนะผู้ใช้รถใช้ถนน ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการบริหารจัดการ มาเป็นมาตรการสำคัญในการมุ่งสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ผลการวิจัยจากมูลนิธิไทยโรดส์ เกี่ยวกับการสวมหมวกนิรภัยของคนไทย ปี 2553 มีดังนี้

การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 43% สำหรับผู้ขับขี่ และ 58% สำหรับผู้นั่งซ้อนท้าย อัตราการสวมหมวกนิรภัยของประเทศไทย ปี พ.ศ.2553 พบว่า คนไทยเฉลี่ยทั่วประเทศทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารนั้น มีการสวมหมวกนิรภัย 44% หากพิจารณาเฉพาะผู้ขับขี่เฉลี่ยทั่วประเทศ มีการสวมหมวกนิรภัย 53% และในผู้โดยสารเฉลี่ยทั่วประเทศ มีการสวมหมวกนิรภัย 19%

(สำรวจจากผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ 954,956 คน ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ) โดย 10 เหตุผลสำคัญของการไม่สวมหมวกนิรภัยของคนไทย สำรวจจากผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์จำนวน 77,334 คน ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ

ลำดับที่ 1 เดินทางระยะใกล้คิดเป็น 64%
ลำดับที่ 2 ไม่ได้ขับขี่รถออกถนนใหญ่ 37%
ลำดับที่ 3 เร่งรีบ 29%
ลำดับที่ 4 ร้อนอึดอัด สวมใส่แล้วไม่สบาย สกปรก 21%
ลำดับที่ 5 กลัวผมเสียทรง 13%
ลำดับที่ 6 ไม่มีที่เก็บ พกพาลำบาก กลัวหาย 10%
ลำดับที่ 7 ตำรวจไม่จับ 8%
ลำดับที่ 8 ไม่มีหมวกนิรภัย 7%
ลำดับที่ 9 คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย 6%
ลำดับที่ 10 บุคคลที่นั่งมาด้วยก็ไม่ได้สวม 4 %

การรับรู้ต่อกฎหมายเรื่องการสวมหมวกนิรภัย พบว่า คนไทย 55% ไม่ทราบว่าการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกนิรภัย มีโทษปรับทั้งคนขี่และคนซ้อน และ 13% เข้าใจว่าการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ และไม่สวมหมวกนิรภัย "ไม่ผิดกฎหมาย"