นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุจากเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ที่ผ่านมา ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ การออกมาตรการที่ให้มีการดำเนินงานเน้นการบังคับใช้กฎหมายใน 3 พฤติกรรมเสี่ยงหลักได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว และการสวมหมวกนิรภัย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การดำเนินการกวดขันการขายสุราที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหน่วยงานระดับจังหวัดและ อปท. จำนวน 60 พื้นที่ ใน 44 จังหวัด และถนนข้าวต่างๆ อาทิ ถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว จำนวน 16 แห่ง ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ลดลงเป็น 271 รายจากปีที่แล้ว 361 ราย (หรือคิดเป็นร้อยละ 25) ในขณะที่ จำนวนการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ลดลงเช่นกัน โดยจำนวนอุบัติเหตุรวม 3,215 ครั้ง จากปีที่แล้ว 3,516 ครั้งและผู้บาดเจ็บรุนแรง ลดลงเป็น 3,476 รายจากปีที่แล้ว 3,802 ราย
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน ร้อยละ 54 อายุระหว่าง 20-49 ปี ขณะที่ กลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี พบสูงถึงร้อยละ 28 ทั้งนี้สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ยังคงเป็น เมาสุรา ร้อยละ 38.7 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.5 ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 15.6 โดยผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เป็นกลุ่มหลักที่เสียชีวิต อยู่ที่ร้อยละ 62.3 รองลงมาคือ รถปิกอัพ ร้อยละ 13.6 ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ยังคงไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 92.2 เช่นเดียวกับสงกรานต์ที่ผ่านมาที่พบผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 91
“ในกลุ่มผู้เสียชีวิตทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เกือบทั้งหมด ร้อยละ 92 ไม่สวมหมวกกันน็อก แสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งปกติ จะไม่สวมหมวกกันน็อกอยู่แล้ว จะยิ่งใช้โอกาสของเทศกาลสงกรานต์ไม่สวมหมวกกันน็อกมากขึ้น ทำให้โอกาสการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น”นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวต่อว่า ด้านการบังคับใช้กฎหมาย สามารถเรียกตรวจยานพาหนะได้ถึง 4,910,038 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 497,159 คัน และมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยงรวม 646,837 ราย เทียบกับสงกรานต์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 145,244 ราย (เพิ่มขึ้น 28.9%) โดยพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ถูกเรียกตรวจ ได้แก่ เรื่องของการไม่สวมหมวกนิรภัย 202,956 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 23,166 ราย และ เมาแล้วขับ จำนวน 12,855 ราย
“แม้ในภาพรวมเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะลดลง แต่หากดูเป็นรายพื้นที่จังหวัดแล้วจะพบว่าบางจังหวัดกลับมีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป และเห็นว่ามาตรการดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และ ครอบคลุม โดยเฉพาะการตรวจเมาแล้วขับในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงหลัก ที่แม้จะตรวจได้ถึง 12,855 ราย แต่เมื่อคิดเฉลี่ยการดำเนินคดี ยังคงจับกุมได้เพียง จังหวัดละ 24.5 คนต่อวัน เท่านั้น ในขณะที่มีคนดื่มและเมาแล้วขับอยู่เต็มถนน”นพ.ธนะพงศ์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ ต้องเน้นการสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เฉพาะแค่ในช่วงวันสงกรานต์ รวมทั้งหาแนวทางการเพิ่มความครอบคลุมในการสวมหมวกกันน็อกให้ได้ 100%
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ควรมีการศึกษาและกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและเล่นน้ำสงกรานต์ โดยใช้รถปิกอัพ เป็นยานพาหนะ เช่น มาตรการห้ามดื่มบนท้ายรถ การบรรทุกผู้โดยสารและสิ่งของเกินกำหนด รวมทั้งการควบคุมความเร็ว และเพิ่มการรณรงค์เรื่องความอ่อนล้าในการเดินทาง และ เรื่องง่วงแล้วขับ ในช่วงเทศกาลให้มากขึ้นโดยเฉพาะเดินทางไปและกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาล