ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศยังคงแสดงทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 พบว่ามีการขยายตัวประมาณร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 520,991 คัน โดยคาดว่าสาเหตุสำคัญอาจจะมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะจากการส่งออกที่เติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็อยู่ในระดับสูงจากปัญหาภัยธรรมชาติ รวมถึงการแข่งขันสูงของบริษัทผู้ให้สินเชื่อ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับขึ้น ทำให้ทั้งความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภครถจักรยานยนต์ในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันของค่ายรถจักรยานยนต์ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงต่อตลาด อย่างไรก็ตามจากปัจจัยลบทั้งเก่าและใหม่ที่อาจกระทบตลาดในช่วงตั้งแต่นี้ไป รวมถึงฐานยอดขายที่สูงในปีที่แล้วอาจทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2554 แม้จะยังมีทิศทางขยายตัว แต่ก็จะขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2554 โดยมีประเด็นสำคัญต่อไปนี้
+ ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไตรมาสแรกทำสถิติยอดขายสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี
ยอดขายรถจักรยานยนต์ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับประมาณร้อยละ 11.7 (YoY) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11 (YoY) โดยคิดเป็นจำนวนยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งสิ้นประมาณ 520,991 คัน ซึ่งจำนวนยอดขายดังกล่าวนี้ เป็นตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศรายไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี โดยคาดว่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น ทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะจากผลของภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี นอกจากนี้ผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงเผชิญกับภาวะตึงตัว จากสภาพอากาศที่แปรปรวนในประเทศผู้ผลิต ทำให้ราคาสินค้าเกษตรยังคงรักษาระดับสูงตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งเหล่านี้เป็นผลดีต่อรายได้ของผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร ที่เป็นผู้บริโภคหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ การที่บริษัทผู้ให้สินเชื่อมีการแข่งขันสูงขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แม้อัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันกันทำตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆ ประกอบกับภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553 ทำให้มีการซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่เพื่อทดแทนเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 นี้ สามารถทำสถิติยอดขายที่สูงได้ดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้ หากดูจากยอดจดทะเบียนแบ่งตามประเภทของผู้ผลิตในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 จะพบว่ารถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบ 101 ถึง 125 ซีซี ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดถึงร้อยละ 97.6 รองลงมาคือรถจักรยานยนต์ที่มีลักษณะเป็นรถแฟชั่นมากขึ้นซึ่งมีขนาดความจุกระบอกสูบ 126 ถึง 150 ซีซี ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.6 ขณะที่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบ 151 ซีซีขึ้นไป ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ ส่วนรถจักรยานยนต์ประเภทอื่น ได้แก่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 100 ซีซี มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 0.2
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 151 ซีซีขึ้นไป ซึ่งมีระดับราคาสูงขึ้นถึงกว่า 100,000 บาทต่อคัน หรือมากกว่านั้น เริ่มมาได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยยอดจดทะเบียนช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2553 แล้วพบว่า มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 85.8 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีฐานรายได้ปานกลางถึงสูง และเป็นกลุ่มที่ใช้อาจจะไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เพื่อการดำเนินชีวิตทั่วไป แต่เป็นกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์เพื่องานอดิเรก และเป็นแฟชั่นมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ในอนาคตน่าจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง เพื่อให้ค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆได้ทำการตลาดกัน จากเดิมที่ตลาดรถจักรยานยนต์เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวด้วยอัตราการถือครองประมาณ 3 คนต่อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ขณะที่ยังมีผู้ผลิตที่เข้ามาเล่นในตลาดนี้น้อยรายอยู่ นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อตั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่นี้ก็เป็นรถจักรยานยนต์ประเภทที่ตลาดต่างประเทศซึ่งมีฐานรายได้สูง เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น นิยมนำเข้าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในจำนวนยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งหมด จะเห็นว่ารถจักรยานยนต์เกียร์อัตโนมัติ (เอ.ที.) ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญในตลาดตามความนิยมของผู้ขับขี่ ส่งผลให้ปัจจุบันรถจักรยานยนต์แบบ เอ.ที.มีสัดส่วนในตลาดถึงประมาณร้อยละ 50 แซงหน้ารถจักรยานยนต์แบบครอบครัวที่ลดลงมาเหลือสัดส่วนประมาณร้อยละ 48 จากที่เคยเป็นเจ้าตลาดอยู่ก่อนหน้านี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ค่ายรถจักรยานยนต์แต่ละค่ายต่างแข่งขันกันนำเสนอรถจักรยานยนต์เอ.ที.ของตนออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยของผลิตภัณฑ์และความสะดวกสบายในการใช้ทำให้ความนิยมของรถจักรยานยนต์เอ.ที.เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ
+ ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์มากเท่าตลาดรถยนต์
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยนั้น ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับประกอบรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันปัญหายังไม่รุนแรงเท่ากับที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์อาจจะน้อยกว่ารถยนต์ ขณะเดียวกันไทยมีการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะบางค่าย ในปริมาณที่สูงพอจะทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาด จึงมีการลงทุนในเรื่องของชิ้นส่วนประกอบต่างๆในประเทศเอง ทำให้การพึ่งพิงชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นต่ำกว่ารถยนต์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งมอบชิ้นส่วนมาได้จึงต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางค่ายซึ่งมีจำนวนการผลิตที่น้อยกว่า และอาจจะยังไม่สามารถทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาดได้พอที่จะมีการลงทุนผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยเฉพาะในรุ่นที่เพิ่งจะทำตลาดออกมาใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ผลกระทบอาจมีมากกว่า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าปริมาณการพึ่งพิงชิ้นส่วนนำเข้านั้นสูงเพียงใด และสามารถหาชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ ดังนั้นผู้ผลิตรายที่ไม่ได้รับผลกระทบอาจได้รับประโยชน์จากจุดนี้ เนื่องจากในช่วงที่การผลิตรถจักรยานยนต์ในบางรุ่นของบางค่ายอาจต้องชะลอลง รถจักรยานยนต์ของค่ายที่ไม่ได้รับผลกระทบอาจสามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในช่วงที่กำลังเกิดสูญญากาศนั้นได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศน่าจะไม่ประสบกับปัญหาอุปทานตึงตัว (ไม่มีรถจักรยานยนต์จะส่งมอบให้ลูกค้า) ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์ในปัจจุบัน
+ ตลาดรถจักรยานยนต์ช่วงที่เหลือของปี 2554...ขยายตัวลดลงจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าในช่วงต่อจากนี้ไป ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศจะยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนต่างๆต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มีเข้ามามากขึ้น อาจจะทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ขยายตัวลดลง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าตลาดจะต้องเผชิญ เช่น ราคาน้ำมันที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่ารถจักรยานยนต์จะมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันที่น้อยกว่ารถยนต์ แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีระดับรายได้ไม่สูงนัก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันกลายมาเป็นภาระที่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับ รายได้ของผู้ซื้อบางกลุ่มอาจลดลง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานบางส่วนในอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวลดลง จากผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงในประเทศ เช่น ปัญหาอุทกภัย และปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศ เช่น ปัญหาแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเงินเฟ้อ คาดว่าจะกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ของผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้วิธีการซื้อแบบเงินผ่อน นอกจากนี้ ฐานยอดขายรถจักรยานยนต์ที่สูงขึ้นในปี 2553 ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลให้ยอดขายในปี 2554 แม้จะขยายตัวแต่จะขยายตัวในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงต่อจากนี้ไป จะมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยบวกที่ยังคงมีอยู่โดยนอกเหนือจากที่กล่าวไปเบื้องต้น ทั้งการส่งออกที่ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการแข่งขันของค่ายรถจักรยานยนต์ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมา ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงต่อตลาด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ด้วยปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆข้างต้น จะทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศทั้งปี 2554 อาจขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 3 ถึง 8 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ลดลงมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 ในปี 2553 หรือคิดเป็นจำนวนรถจักรยานยนต์ประมาณ 1,900,000 ถึง 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1,845,997 คันในปี 2553
สำหรับยอดขายรถจักรยานยนต์ในช่วงต่อจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมการกระตุ้นยอดขายของภาคเอกชนเป็นสำคัญ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดกำลังเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวดังเช่นปัจจุบัน ค่ายรถต่างๆจึงต้องหันมาสร้างความแตกต่าง รวมถึง พัฒนารถจักรยานยนต์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดตลาดในเซกเมนต์ที่แตกต่างไปจากเดิมมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การออกรถจักรยานยนต์แฟชั่นเพื่อจับลูกค้าวัยรุ่น หรือการหันมาดูกลุ่มผู้บริโภครายได้สูงที่นิยมรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เพื่องานอดิเรก ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้ในอนาคต
นอกจากนี้ในสภาวะราคาน้ำมันแพงในปัจจุบัน การนำเสนอความสามารถในการประหยัดน้ำมันของรถจักรยานยนต์ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงการใช้กิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยการจัดงานมหกรรม หรือ การสร้างสังคมผู้ใช้รถจักรยานยนต์รุ่นและยี่ห้อเดียวกัน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับลูกค้าของค่ายรถ ประกอบกับควรจะมีการกระตุ้นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่มากขึ้นตามดีลเลอร์ต่างๆ และการให้บริการหลังการขายที่มากขึ้น น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นตลาดในยุคสังคมปัจจุบัน
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น