คุณหมอวิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือความปลอดภัยด้านการป้องกันอุบัติเหตุ องค์การอนามัยโลก ส่งข้อมูล 10 ความเชื่อและความเห็นที่ไม่ถูกต้องในการไม่สวมหมวกกันน็อกขับขี่รถจักรยานยนต์ พิจารณาครับ
มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ได้สัมภาษณ์ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก 77,334 คนจาก 73 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2553 ปรากฏผลสัมภาษณ์ ถึงเหตุผลการไม่สวมหมวกกันน็อก 10 ประการ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องดังนี้
ความเชื่อ (1) ขี่มอเตอร์ไซค์ไปใกล้ ๆ แค่นี้เอง เป็นความเชื่ออันดับแรก คือมากถึงร้อยละ 64 ของผู้ที่ตอบแบบสัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ไม่สวมหมวกกันน็อก
ความจริง จากการสำรวจระยะทางห่างจากบ้านถึงจุดที่เกิดเหตุ ในคนเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ณ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น พบว่า กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือร้อยละ 36.4 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เกิดเหตุในรัศมี 1 กิโลเมตรจากบ้านหรือที่พัก ร้อยละ 22.7 เกิดเหตุห่างจากที่พักระหว่าง 1 ถึง 2 กิโลเมตร ร้อยละ 14.5 เกิดเหตุห่างจากที่พัก 2 ถึง 5 กิโลเมตร และร้อยละ 26.4 เกิดเหตุห่างจากที่พัก มากกว่า 5 กิโลเมตรบ่อยครั้งมากที่คนไข้เสียชีวิต เพราะขี่จักรยานยนต์ ชนสุนัข, หรือทับก้อนหินเสียหลัก หรือขี่รถตกหลุม ขณะออกจากบ้านไปธุระหน้าปากซอย ห่างจากบ้านไม่ถึง 100 เมตร จากข้อมูลชุดนี้ แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว อุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดอยู่ใกล้ๆ บ้านนั่นเอง
ความเชื่อ (2) ไม่ได้ขับขี่รถออกถนนใหญ่ หมวกไม่ต้องใส่ก็ได้ เป็นความเชื่ออันดับที่สอง คิดเป็นร้อยละ 37 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม
ความจริง ข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในปี 2553 วันที่ 12 ถึง 15 เมษายน ชี้ชัดว่าอุบัติเหตุ มากถึง 2 ใน 3 เกิดบนถนนสายรอง เช่น ถนนในเขตหมู่บ้าน ในเมือง ในเขตเทศบาล และทางหลวงชนบท มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เหตุเกิดบนถนนสายหลักหรือถนนใหญ่
ความเชื่อ (3) เร่งรีบ ก็เลยเอาหมวกมาใส่ไม่ทัน เป็นความเห็นร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์
ความจริง เร่งอย่างไร ถ้าจะคว้าหมวกมาใส่ ก็ต้องใส่ทัน มีใครที่รีบมากจนไม่ใส่กางเกงออกจากบ้านบ้าง ทั้งที่ใส่กางเกงต้องใช้เวลานานกว่าใส่หมวกกันน็อกเสียอีก
ความเชื่อ (4) ร้อนอึดอัดสวมแล้วไม่สบาย สกปรก เป็นเหตุผลร้อยละ 21 ของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์
ความจริง จากการสังเกตผู้ที่ขับขี่พบว่า ผู้ขับขี่จำนวนมาก สวมเสื้อแจ๊กเกตคลุมทับอีกชั้น ถ้าจะว่าไปแล้วร้อนอึดอัดมากกว่า
ความเชื่อ (5) ร้อยละ 13 ตอบว่า กลัวผมเสียทรง
ความจริง เมื่อขี่จักรยานยนต์ โดยไม่ได้ใส่หมวกกันน็อกแม้ความเร็วต่ำ ลมปะทะก็ทำให้ผมปลิวกระจายเสียทรงซะยิ่งกว่า ถ้าขับขี่เร็วกว่านั้น ทรงผมก็ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเสียรูปขนาดไหน
ความเชื่อ (6) ร้อยละ 10 ตอบว่า ไม่มีที่เก็บ พกพาลำบาก กลัวหาย
ความจริง คนจำนวนไม่น้อย ยังไม่รู้ว่า รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆ มีเดือยอยู่ใต้เบาะ เมื่อยกเบาะรถขึ้น สามารถเอาสายรัดคางของหมวกคล้องกับเดือยใต้เบาะ เมื่อปิดเบาะรถลง ก็ล็อกให้หมวกเก็บอยู่กับรถได้ ไม่ต้องถือติดตัว หรือไม่ต้องไปหาที่เก็บที่ไหนอีก
ความเชื่อ (7) ร้อยละ 8 ตอบว่า บริเวณที่จะไปไม่มีตำรวจ
ความจริง เจตนาของการใส่หมวกกันน็อกเพื่อที่ว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ศีรษะจะได้รับการป้องกันไม่ให้ถูกกระแทกจนกระทบกระเทือน ไม่ใช่เพื่อป้องกันตำรวจจับการที่ตำรวจต้องออกมาเข้มงวดกวดขันให้ใส่หมวก ก็เพราะความปรารถนาดี ให้เกิดความปลอดภัย
ความเชื่อ (8) ร้อยละ 7 ตอบว่าไม่มีหมวก
ความจริง ปัจจุบันราคาหมวกในโครงการรณรงค์สวมหมวกกันน็อก ซึ่งบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตหมวกสนับสนุนหมวกชนิดครึ่งศีรษะ ที่ได้มาตรฐานราคาถูก เพียง 99 บาท
ความเชื่อ (9) คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย คิดเป็นร้อยละ 6
ความจริง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐ มีมากถึงปีละกว่า 300,000 คน แทบทั้งหมด ไม่นึกว่าอุบัติเหตุจะเกิดกับตัว จึงขับขี่ด้วยความประมาท ไม่ใส่หมวก และเมาแล้วขับ
ความเชื่อ (10) บุคคลที่นั่งมาด้วยก็ไม่ได้สวม คิดเป็นร้อยละ 4 ของผู้ที่ตอบแบบสัมภาษณ์
ความจริง แทนที่จะกระทำความผิด ด้วยการสร้างความไม่ปลอดภัยกับตัวเอง ควรที่จะต้องชักชวนให้คนที่ไม่ได้สวมหมวก ต้องสวมหมวกด้วยกัน