สสส. เผยผลสำรวจคนไทยไม่ห่วงหัว สวมหมวกกันน็อกแค่ 44% กทม.แชมป์ สวมหมวกกันน็อกมากสุด นราธิวาส รั้งท้าย ชี้ คนไทยตายจากมอเตอร์ไซต์ชั่วโมงละ 1 ราย ผนึกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เร่งรณรงค์สร้างการรับรู้อันตรายทุกพื้นที่ สสส.เริ่มสำรวจอัตราสวมหมวกกันน็อก วัดผล “ปีรณรงค์หมวกนิรภัย 100%”
วันนี้ (13 ก.ค.). โดยดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าว “ปีรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%” ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือสสส.และภาคีเครือข่าย อาทิ คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนใน จังหวัดนำร่อง (สอจร.) มูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดขึ้น ที่ ร.ร.มารวยการ์เด้น กทม. ว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกของทศวรรษความปลอดภัยทางถนน เป็นปีรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% นั้น สสส.ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) ได้จัดให้มีการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ประจำปี 2553 ช่วงเดือน เม.ย. - ธ.ค. 2553 เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของมาตรการดังกล่าว จากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจำนวน 954,956 คน พบว่า ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเฉลี่ย 44% แบ่งเป็น ผู้ขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 53% และคนซ้อนสวมหมวกนิรภัย 19% จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เลย สมุทรปราการ และนนทบุรี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เพชรบุรี อ่างทอง พังงา ปัตตานี และนราธิวาส เหตุผลสำคัญที่ไม่สวมหมวก คือ 1.เดินทางระยะใกล้ 2.ไม่ออกถนนใหญ่ 3.เร่งรีบ 4.ร้อนอึดอัด สกปรก 5.กลัวผมเสียทรง 6.ไม่มีที่เก็บ กลัวหาย 7.ตำรวจไม่จับ 8.ไม่มีหมวกนิรภัย 9.คิดว่าคงไม่เกิดอุบัติเหตุ และ10.คนที่นั่งมาด้วยก็ไม่สวม
ดร.สุ ปรีดา กล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมาในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตทางถนน 10,742 คน ในจำนวนนี้ 70-80 % เกิดจากการขับขี่และซ้อนท้ายจักรยานยนต์ เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 29 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกราวแสนราย โดย 6% ของผู้บาดเจ็บต้องกลายเป็นคนพิการ หมายถึงทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน อย่างไรก็ตาม พบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บรุนแรงได้ 72% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 39% ผู้ขับขี่ที่สวมหมวกนิรภัยมีอัตราตายจากการบาดเจ็บรุนแรงที่ศรีษะน้อยกว่า ผู้ไม่สวมหมวก 43% และผู้ซ้อนท้ายที่สวมหมวกมีอัตราตายน้อยกว่าผู้ไม่สวมหมวก 58% ทั้งนี้ ปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%
"ทั้งนี้ รัฐบาลมีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 เพื่อมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย อย่างเข้มงวด พัฒนามาตรฐานหมวกนิรภัยให้มีทั้งความปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของ ประเทศไทย ได้ผ่านมาครึ่งปีแล้ว โดยจะครบรอบปีในเดือนมกราคมปี 2555 ทางสสส.และมูลนิธิไทยโรดส์จะเริ่มการสำรวจอัตราการสวมหมวกกันน็อกในทุก จังหวัดทั่วประเทศไทยอีกรอบหนึ่งตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกับสถิติปีที่แล้ว ว่าจังหวัดใดมีพัฒนาการเรื่องการสวมหมวกกันน็อกของประชาชนเพิ่มขึ้นหรือถด ถอยลงอย่างไร" ดร.สุปรีดา กล่าว
พล.ต.ต. พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า มาตรการของจ.ภูเก็ต ใช้วิธีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนรับทราบอันตรายจากการไม่สวมหมวกนิรภัย โดย 3 เดือนแรก เน้นการตักเตือน อบรม ก่อนเริ่มใช้กฎหมายเข้มงวด และได้มีการลงนามร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หากผู้ที่ถูกจับมาจากหน่วยงานที่ลงนามร่วมกันไว้ จะมีการส่งชื่อแจ้งการทำผิดให้หน่วยงานต้นสังกัดมีใช้มาตรการลงโทษของตัวเอง ทั้งนี้ จะใช้เวลา 1 ปี ในการสร้างจิตสำนึก ว่าการสวมหมวกนิรภัยไม่ใช่สวมเพื่อไม่ให้ตำรวจจับ แต่สวมใส่เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว
นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จ.อุดรธานี เคยมีสถิติประชาชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละ 800 กว่าคนในช่วง 10 ปีก่อน จึงเริ่มมีการสร้างเครือข่ายลดอุบัติเหตุ รณรงค์ทั้งท้องถิ่น ชุมชน โรงงาน โรงเรียน ปัจจุบันยอดการเสียชีวิตลดลงต่ำกว่าปีละ 300 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครอุดรธานี เคยลดการเสียชีวิตในพื้นที่ จากปีละ ประมาณ 50 ศพ เหลือเพียง 4 ศพ จากที่เคยเป็นจังหวัดรองแชมป์ไม่สวมหมวกนิรภัย ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. กล่าวว่า จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูงเป็นอันดับต้นๆ คือ กทม. และปริมณฑล มีสาเหตุจาก ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก ส่วนจังหวัดรองลงมาเป็นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเอาจริง มีผู้รับผิดชอบที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ การสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัย อีกครั้งในปีนี้และนำผลไปเปรียบเทียบอัตราในปีที่ผ่านมาจะทำให้แต่ละจังหวัด นำไปปรับปรุงแผนการดำเนินงาน และสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อให้เกิดการปรับตัวต่อไป