ร่วมงานกับเรา
ข่าวสารรถจักรยานยนต์ทั่วไป > อะไหล่มอเตอร์ไซค์ซุ่มเงียบปรับราคาอ้างอั้นมาหลายปี
อะไหล่มอเตอร์ไซค์ซุ่มเงียบปรับราคาอ้างอั้นมาหลายปี
ที่มา - นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11-13 ส.ค.54

รากหญ้าซีดอะไหล่จักรยานยนต์จ่อขึ้นราคาเพียบ น้ำมันหล่อลื่นขยับจาก 80 บาทเป็น 100 บาท/กระป๋อง ผู้ประกอบการชี้ต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่ได้ปรับขึ้น 2-3 ปีแล้วค่าแรง 300 บาทกระทบแน่นอนร้านอะไหล่ย่านบางกะปิคาดอนาคตต้องปรับเพิ่มตามต้นทุน

แหล่งข่าวจากวงการรถจักรยานยนต์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นโยบายค่าแรง 300 บาท เริ่มส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำ ทั้งนี้ สินค้าและอะไหล่สิ้นเปลืองเริ่มปรับราคาอย่างเงียบๆ โดยผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเช่นน้ำมันหล่อลื่น มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากกระป๋องละ 80 บาท (ปตท.) เพิ่มเป็น 90-100 บาท นอกจากนี้ ยังจะมีอะไหล่อื่นๆ เตรียมปรับราคาขึ้นอีก เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้ปรับราคามาหลายปีแล้ว

นายวินัย กิจโชค ผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทยหรือ TMEA กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์รวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องนั้นไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากการขอปรับราคาแต่ละครั้งจะต้องแจ้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ก่อน อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับปรุงโมเดลโฉมใหม่ หรือรถรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดก็ย่อมจะมีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะค่าต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้วประเด็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลอาจจะส่งผลให้ภาพรวมของราคาสินค้าต้องขึ้นราคา เนื่องจากต้นทุนสินค้าจะต้องปรับขึ้น

ด้านนายเลิศศักดิ์ นววิมานผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาดบริษัท ไทยซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ค่ายผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ยังไม่ได้มีการปรับราคาจำหน่ายอะไหล่หรือชิ้นส่วนต่างๆ แต่อย่างไร เนื่องจากทางกระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้ตรึงราคาไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของซูซูกิจะพยายามดึงราคาเดิมที่ได้จัดจำหน่ายเอาไว้ เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบกับผู้บริโภค

ขณะที่ปัจจัยทางด้านนโยบายไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรง 300 บาท รวมไปถึงปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาทนั้น ก็คงต้องศึกษากันต่อไปว่าจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจัยด้านค่าแรงถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกับการปรับขึ้นราคาเพราะถ้าค่าแรงขึ้น ดัชนีผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ต้องปรับตัวขึ้นตาม และส่งผลให้ต้นทุนทั้งหมดสูงขึ้น และทำให้ต้องปรับราคาขึ้น

นายเลิศศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จักรยานยนต์ในประเทศไทยมีสัดส่วน 3 ต่อ 1 กล่าวคือในประชากร 3 คนจะต้องมีรถจักรยานยนต์ 1 คัน ซึ่งเมื่อมองภาพรวมแล้วก็ยังมีโอกาสที่เติบโต นอกจากนั้นแล้ว พฤติกรรมการใช้รถก็มีอายุสั้นขึ้นเฉลี่ยเหลือ 5-7 ปีแล้วค่อยเปลี่ยนคันใหม่ ดังนั้น เชื่อมั่นว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว โดยคาดว่าในปี 2554 จะมียอดขายมากกว่า 2 ล้านคัน ในส่วนของซูซูกิก็มีการปรับเป้าหมายยอดขายเพิ่มสูงขึ้นตามตลาดรวม อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบตลาดรถจักรยานยนต์ นั่นก็คือ ปัญหาทางด้านน้ำท่วมซึ่งคาดว่าจะกระทบบ้างเล็กน้อย

ผู้จำหน่ายอะไหล่รถจักรยานยนต์รายใหญ่ในย่านบางกะปิรายหนึ่งเปิดเผยว่า ทางร้านยังไม่มีการปรับราคาอะไหล่รถจักรยานยนต์ แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยอาศัยจำหน่ายสินค้าราคาเดิมที่มีอยู่ในสต๊อก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า อย่างเช่น น้ำมันหล่อลื่นรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ ของปตท. ราคากระป๋องละ 80 บาทเช่นเดิม เชลล์ 2 จังหวะ ราคากระป๋องละ 130 บาท ยังขายในราคาเดิม แต่ในอนาคตอาจค่อยๆ ปรับราคาขึ้นทีละนิดๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อลูกค้ามากนัก ส่วนราคายางในรถจักรยานยนต์ยังขายในราคาเดิม เส้นละ 120 บาท ส่วนค่าปะยางอาจปรับราคาขึ้นเล็กน้อยจากแผลละ 35 บาท เป็น 40 บาท เป็นต้น