เผยในรอบ 10 ปี คนไทยสังเวยชีวิตบนถนนเฉลี่ยวันละ 30 คน ภาคอีสานเสี่ยงตายมากที่สุด สาเหตุนอกจากผู้ขับขี่เองแล้ว ยังพบถนนไม่ได้มาตรฐานแถมมีวัตถุเสี่ยงอันตรายสองข้างทางเต็มไปหมด
ศวปถ.เผยในรอบ 10 ปี คนไทยสังเวยชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยวันละ 30 คน บ่งชี้ความปลอดภัยทางถนนย่ำแย่ ภาคอีสานเสี่ยงตายมากสุด "ขับเร็ว" เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนสภาพถนนไม่ได้มาตรฐาน มีวัตถุอันตรายข้างทางเป็นปัจจัยเสริมให้มีคนเสียชีวิต พร้อมตั้งเป้าตายบนถนนน้อยลงเหลือ 10 คนต่อแสนประชากร
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แถลงเรื่อง "11 ดัชนีชี้วัด ความปลอดภัยทางถนน สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ" โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย 983,076 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 124,855 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 151,286 ราย กลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุด คือ เด็กและวัยรุ่น อายุระหว่าง 15-24 ปี ที่สำคัญที่สุดจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของความรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติในด้านการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของประเทศสมาชิกทั้งหมด 178 ประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 106 มีผู้เสียชีวิต 16.87 คนต่อแสนประชากร นับว่าบ้านเรามีความปลอดภัยทางถนนต่ำ โดยในปี 2553 มีคนเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 30 คน สูงกว่าอาชญากรรม 4 เท่า สร้างความสูญเสีย 2.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 2.8% ของจีดีพี
นพ.ธนะพงศ์เผยว่า แม้สถิติที่ผ่านมาระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2546 แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้ง เพื่อหาค่าดัชนีความรุนแรง กลับพบว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้งมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสานมีค่าดัชนีเสียชีวิตสูงสุด ส่วน กทม.เป็นพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำสุด บ่งชี้ถึงการกระจุกตัวของการจัดสรรทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ให้คนกรุงเทพฯ มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในรูปของระบบโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่
"กลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุและบาดเจ็บมากที่สุด คือ เพศชายเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เสี่ยงมากที่สุด เมื่อปี 2552 วัยรุ่นเสียชีวิต 23.5 คนต่อแสนประชากร และบาดเจ็บ 342.8 คนต่อแสนประชากร ยานพาหนะที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ 60% รองลงมารถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุกและรถเก๋ง ทั้งนี้ มาตรฐานตัวรถโดยสาร บ.ข.ส.ดีกว่ารถเอกชนร่วมบริการ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ คนโดยสารรถ บ.ข.ส.มีโอกาสตายน้อยกว่ารถร่วมบริการ 10 เท่า ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้บาดเจ็บรุนแรง"
ผู้จัดการ ศวปถ.กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตัวการของอุบัติเหตุอันดับ 1 ที่ตำรวจบันทึกไว้ คือ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ระหว่างปี 2542-2552 เกิดอุบัติเหตุจากความเร็ว 17,000 ครั้งต่อปี เมื่อพิจารณาเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนโครงข่ายทางหลวงก็ยิ่งน่าวิตก เมื่อพบว่าในปี 2544-2551 ตำรวจชี้ว่าความเร็วเป็นเหตุคิดเป็นสัดส่วน 76% เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากใช้ความเร็วบนทางหลวง พบว่า อุบัติเหตุทุกๆ 10 ครั้งจะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 8 ราย ส่วนใหญ่รถเสียหลักหลุดออกจากถนนชนวัตถุข้างทางมากที่สุด
"การใช้ความเร็วเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วเกินกฎ หมายกำหนด ส่วนสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมที่อันตรายเป็นปัจจัยเสริมความรุนแรงของอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส โดยทั่วไปแล้วการขับรถย่อมมีโอกาสผิดพลาด ดังนั้นการพัฒนากายภาพทางถนนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและรองรับอุบัติเหตุ ก็จะช่วยบรรเทาความเสียหายและลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้" นพ.ธนะพงศ์เผย
นอกจากนี้ คดีอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติ กรรมดื่มแล้วขับยังไม่มีทีท่าจะลดลง ในขณะที่คนขับรถเก๋ง รถกระบะ ใส่ใจคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้น แต่ความนิยมสวมหมวกกันน็อกของคนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุข้างทางสูงถึง 40-45% ของประเภทอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงแผ่นดินหรือถนนเชื่อมระหว่างจังหวัด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุบนถนนทางหลวง และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น สิ่งของอันตรายข้างทาง เช่น คันทาง เสาไฟฟ้า ป้ายจราจร ต้นไม้ การ์ดเรลและกำแพงคอนกรีต หลักกิโลเมตรและแหล่งน้ำต่างๆ ข้างทาง สิ่งเหล่านี้ผู้ใช้รถใช้ถนนคุ้นตาเป็นอย่างดี แต่ไม่ทราบว่าถ้าสิ่งของอันตรายอยู่ใกล้ขอบถนนมากเกินไปก็สามารถคร่าชีวิตผู้ใช้รถได้ทุกเมื่อ
"วัตถุอันตรายข้างถนนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแนวคิดเรื่องการออกแบบสภาพข้างทางที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ ในต่างประเทศมีมาตรฐานออกแบบข้างทางเพื่อให้โอกาสผู้ขับขี่ที่เสียหลักหลุดออกนอกผิวจราจรไปแล้วให้สามารถกลับมาสู่ผิวจราจรได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นขอบเขตพื้นที่ข้างทางจึงไม่ควรมีวัตถุอันตรายตั้งอยู่ในระยะปลอดภัย นอกจากนี้ อุบัติเหตุข้างทางยังเกิดจากความชันคันทางที่ไม่ปลอดภัย ไม่มีติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันรถพลิกคว่ำตกข้างทาง นอกจากนี้ การปลูกต้นไม้ใหญ่ที่มีขนาดลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไปภายในระยะปลอดภัย เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่" ผศ.ดร.กัณวีร์เผย
นายศรีสมบัติ พรประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า รัฐบาลประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พร้อมตั้งเป้าหมายคือ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยให้ต่ำกว่า 10 คนต่อแสนประชากร โดยเริ่มดำเนินงานสวมหมวกนิรภัย 100% เป็นมาตรการแรก ถ้าทุกคนสวมใส่หมวกนิรภัยจะช่วยลดผู้เสียชีวิตได้ถึง 3,000 คนต่อปี ทั้งนี้ จะมีการจัดสัมมนาระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน วันที่ 25-26 สิงหาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา