ชมรมคนห่วงหัววอนห่วงหัวเด็กไทยแจกหมวกกันน็อกก่อนแท็บเล็ต เผยหัวเด็กไทยถูกน็อกกว่า 5,000 รายต่อปี
คุณหมอแท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการชมรมคนห่วงหัว ในมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่าการสำรวจข้อมูลการสวมหมวกกันน็อกของเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ โดยชมรมคนห่วงหัวเมื่อต้นปี 2554 พบว่าต่ำมากเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี บาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์โดยที่ไม่สวมหมวกสูงกว่าปีละ 5,000 คน ประมาณการว่าแต่ละวันเด็กไทยหัวถูกน็อกจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ถึง 14 คน
นโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนของไทยที่ผ่านมา แม้จะเคยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่การดำเนินงานยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เนื่องจากขาดความจริงจังและต่อเนื่อง ในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้ ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน โดยเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในอีก 10 ปีข้างหน้าให้เหลือร้อยละ 50 ประกอบกับไทยได้ประกาศให้ปี 2554 เป็นปีรณรงค์สวมหมวกกันน็อก 100% จึงเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลชุดนี้จะร่วมขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่คนไทย โดยเริ่มจากความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังของชาติในอนาคตเป็นลำดับแรก
การที่รัฐบาลประกาศนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ถือเป็นนโยบายในการส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่เด็ก แต่นโยบายดังกล่าวจะไม่เกิดประโยชน์หากเด็กได้รับแท็บเล็ตโดยที่สมองพิการหรือไม่มีหัวที่จะให้เรียนรู้ต่อไปได้
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุไว้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์กำลังเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของเด็กซึ่งผู้ใหญ่ต้องมีหน้าที่ในการดูแลให้เกิดความปลอดภัย หมวกกันน็อกถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะที่ลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง ช่วยชีวิตเด็กได้ ขณะที่หมวกกันน็อกเด็ก 1 ใบราคาประมาณ 200 บาท แท็บเล็ต 1 เครื่องราคาประมาณ 3,000 บาท ดังนั้น ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะแจกหมวกกันน็อกให้เด็กไม่ได้ จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลสนับสนุนการแจกหมวกกันน็อกให้แก่เด็กเป็นลำดับแรกก่อนที่จะแจกแท็บเล็ต เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของเด็กไทย
แท็บเล็ตไม่มีความหมาย ถ้าเด็กไทยไม่มีหัวที่จะใช้เรียนรู้