ร่วมงานกับเรา
ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ > ตลาดรถจักรยานยนต์ภูมิภาคอาเซียนระหว่างเดือนม.ค-มิ.ย.48
ตลาดรถจักรยานยนต์ภูมิภาคอาเซียนระหว่างเดือนม.ค-มิ.ย.48
ที่มา – นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 7-10 ส.ค.48

ตลาดรถมอเตอร์ไซค์อาเซียนโต ฮอนด้าแรงกวาดยอดขายกว่าครึ่ง > ตลาดรถจักรยานยนต์อาเซียนโต 22% กวาดยอดขายรวมกว่า 4 ล้านคัน ประเทศไทยขยายตัวน้อยที่สุดแค่ 0.6% ขณะที่อินโดนีเซียโตสุด 35.2% กวาดยอดขายเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดรวมอาเซียน ด้านรถผลิตจากจีนยังได้รับความนิยมในเวียดนาม

รายงานตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ในตลาดอาเซียนโดย บริษัท เอเชียน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานฮอนด้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย พบว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2548) นั้นมีการขยายตัวมากถึง 22.2% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยอดขายใน 5 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม และฟิลิปปินส์ มีจำนวนรวมกันถึง 4,707,642 คัน

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนครองตำแหน่งผู้นำยอดขายรถจักรยานยนต์ในอาเซียน โดยมียอดขายมากถึง 2,455,515 คัน ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดรวมของอาเซียน ขณะเดียวกันยังเป็นตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราการเติบโตของตลาดสูงถึง 35.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ฟิลิปินส์ มีอัตราการเติบโตของตลาดสูงเป็นอันดับสอง เติบโตเพิ่มขึ้น 31.3% ขณะที่ตัวเลขยอดขายนั้นมีจำนวน 228,942 คัน ขณะที่ เวียตนาม มีอัตราการเติบโตของตลาด 19.8% อยู่ในลำดับที่สามของตลาด มียอดขาย 779,250 คัน ส่วน มาเลเซีย นั้นมียอดขายน้อยที่สุดด้วยจำนวนเพียง 206,300 คัน มีอัตราการเติบโต 15.1% ส่วน ประเทศไทย นั้นมียอดขายเป็นอันดับสองของตลาดอาเซียน ทว่ามีอัตราการเติบโตของตลาดน้อยที่สุด และเป็นตลาดที่มีการเติบโตเพียงตัวเลขหลักเดียว นั่นคือ 0.6% โดยมียอดขายรวมทุกยี่ห้อ 1,037,635 คัน

ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ภูมิภาคอาเซียน
ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2548


ที่มา : เอเชียน ฮอนด้า มอเตอร์

สำหรับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อที่มีส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดในอาเซียนได้แก่ ฮอนด้า มีส่วนแบ่งตลาดถึง 53.53% ด้วยยอดขาย 2,520,253 คัน ซึ่ง ฮอนด้า เป็นรถจักรยานยนต์เพียงยี่ห้อเดียวที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในทุกประเทศดังกล่างข้างต้น สำหรับ ยามาฮ่า นั้นก็มีส่วนแบ่งเป็นลำดับที่สองด้วยยยอดขายรวมในอาเซียน 882,183 คัน ส่วนแบ่งตลาด 18.73% และมียอดขายเป็นลำดับสองของทุกประเทศ ส่วน ซูซูกิ นั้นมียอดขาย 729,701 คัน 15.5%

สัดส่วนการตลาดรถจักรยานยนต์ยี่ห้อต่างๆ ในอาเซียน
ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2548

อันดับ
มาเลเซีย
เวียดนาม
ฟิลิปปินส์
อินโดนีเซีย
ไทย
ฮอนด้า
101,249
273,088
141,685
1,284,211
720,020
ยามาฮ่า
46,099
96,654
31,021
560,530
147,879
ซูซูกิ
4,147
35,577
23,456
555,119
111,402
คาวาซากิ
533
0
21,960
35,511
12,816
โมเดนาส
54,272
0
0
0
0
VMEP
0
61,948
0
0
0
CITI,DAEHAN
0
53,882
0
0
0
รถจากจีน
0
231,716
0
0
0
KYMCO
0
0
10,820
10,042
0
ไทเกอร์
0
0
0
0
36,248
อื่นๆ
0
26,385
0
10,102
9,270
รวม
206,300
779,250
228,942
2,455,515
1,037,635
ที่มา : เอเชียน ฮอนด้า มอเตอร์

ด้านรถจักรยานยนต์จากประเทศจีนนั้น นับเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่ท้าทายรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งการเข้ามาในตลาดในข่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยกลยุทธ์ราคาต่ำนั้น สามารถสร้างส่วนแบ่งตลาดได้ถึงเกือบ 5% ของตลาดรถจักรยานยนต์อาเซียน ซึ่งตลาดหลักที่รถจีนสามารถสร้างยอดขายได้มากนั้น คือ ตลาดในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดดังกล่าวเกือบ 29.7% โดยมียอดขายใกล้เคียงกับ ฮอนด้า ในเวียตนาม ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 35% ขณะเดียวกันรถจักรยานยนต์ของจีนนั้นก็มีอัตราการเติบโตมากถึง 65.2% ของตลาดเวียดนาม ซึ่งในภาพรวมนั้นมีอัตราการเติบโตเพียง 19.8% รถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ สัญชาติไทยนั้น มีส่วนแบ่งในตลาดอาเซียน 0.76% โดยจำหน่ายในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว

นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด รายงานสภาพการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในข่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามียอดจำหน่ายรวมทุกยี่ห้อในช่วง 6 เดือนแรกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน จำนวน 1,037,635 คัน โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมียอดขาย 1,031,577 คัน เพิ่มขึ้น 6,058 คัน ในอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ยอดขายรวมในเดือนมิถุนายนนั้นมีจำนวน 178,801 คัน เพิ่มขึ้น 3,560 คันหรือเติบโตเพิ่มขึ้น 2%

จากการวิเคราะห์สภาพตลาดรถจักรยานยนต์ของบริษัท เอ.พี.ฮอนด้าพบว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ตลาดรถจักรยานยนต์มีจำนวนลดลงจากเดือนพฤษภาคมจากจำนวน 196,599 คัน ลดลงเหลือ 182,440 คัน ในเดือนมิถุนายน ซึ่งหากว่ามองสภาพการขายโดยรวมตั้งแต่ต้นปีนั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมายอดขายรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายนนั้นมียอดขายลดลงเกือบทั้งหมด สาเหตุเนื่องจากเมษายนนั้นมีจำนวนวันของการขายรถน้อยลงเนื่องจากมีการหยุดติดต่อกันหลายวัน เดือนพฤษภาคม มียอดขายจำหน่ายเพิ่มขึ้น 65,422 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน และล่าสุดเดือนมิถุนายนตลาดรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 14,119 คัน อาจจะเป็นผลเนื่องจากสภาพการซื้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมค่อนข้างมาก จึงน่าจะเป็นการผันผวนการซื้อขายแต่ละเดือนซึ่งถ้ามองตัวเลขภาพรวม 6 เดือนแรกถือว่าเป็นปกติใกล้เคียงกับครึ่งปีก่อนหน้านี้

นอกจากนี้แล้วในสภาวะที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จากกลางปีที่แล้วจาก 20 บาทต่อลิตรเป็น 25 บาทต่อลิตร คาดว่าอาจจะทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังมีความคึกคักมากขึ้น จนทำให้ยอดขายรวมเข้าสู่ระดับ 2.1 ล้านคันโดยรถจักรยานยนต์จะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคจะหันมาใช้มากขึ้นในสภาะที่น้ำมันราคาแพง และที่ผ่านมาผู้ผลิตได้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ช่วยให้มีการสิ้นเปลืองน้ำมันลดลงอีกด้วย

สำหรับยอดขายรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายนนั้นพบว่า มียอดขายรถประเภทครอบครัวจำนวน 149,565 คัน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1% รถครอบครัวกึ่งสปอร์ตจำนวน 12,785 คัน มีอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 17% รถสปอร์ตมียอดขาย 1,094 คัน มีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 26% รถสกู๊ตเตอร์ 18,176 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 37% ส่วนรถออฟโรดซึ่งเป็นรถประเภทใหม่ที่เข้ามาในตลาดมีจำนวน 820 คัน

อย่างไรก็ตาม รถจักรยานยนต์ที่มียอดขายมากเป็น 5 อันดับแรกในตลาดในช่วงเดือนมิถุนายนนั้น มีดังนี้คือ รถจักรยานยนต์ฮอนด้า เวฟ 100 จำนวน 72,055 คัน ฮอนด้า เวฟ 125อาร์ จำนวน 21,904 คัน ซูซูกิ สแมซ จูเนียร์ 23,532 คัน ยามาฮ่า มีโอ 12,923 คัน และฮอนด้า เวฟ แซด จำนวน 7,498 คัน

ด้านยอดขายรวมในช่วง 6 เดือนแรกนั้น ฮอนด้า มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวน 720,020 คัน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ยามาฮ่า มียอดขาย 147,879 คันเเติบโคตเพิ่มขึ้น 11% ซูซูกิ อันดับสามยอดขายจำนวน 111,402 คัน เติบโตลดลง 12% ไทเกอร์ จำนวน 36,955 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 111% คาวาซากิ 12,816 คัน เติบโตลดลง 1% เจอาร์ดี จำนวน 4,628 คัน เติบโตลดลง 39% และรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออื่นๆ 3,935 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 465%

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ไทเกอร์ ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์สัญชาติไทยมีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย ยามาฮ่า ขณะที่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อใหม่ๆ นั้นก็ได้เข้ามามีบทบาท และจำนวนยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อที่มียอดขายลดลงมากที่สุดคือ เจอาร์ดี รถจักรยานยนต์จากมาเลเซีย ตามด้วย ซูซูกิ คาวาซากิ และ ฮอนด้า